ปรองดองจากอีกแง่มุมหนึ่ง : นิธิ เอียวศรีวงศ์

ฝรั่งคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ทีวีบนถนนข้าวสารระหว่างเล่นน้ำสงกรานต์ “โอ๊ย มันสนุกจริงๆ ผมไม่เคยเห็นอะไรสนุกอย่างนี้ ผมก็สนุก คนทั้งหมดก็สนุก” เขาพูดพลางเอามือปาดน้ำบนใบหน้าที่เพิ่งถูกฉีดน้ำใส่

คำพูดของเขาคงมีส่วนถูกอยู่มากทีเดียว บนถนนที่คลาคล่ำด้วยผู้คน ภาพที่จอทีวีสะท้อนออกมา ดูจะมีความสนุกกันทุกคนอย่างที่เขาพูดจริง ต่างเดินกันเป็นกลุ่ม เล็กบ้างใหญ่บ้าง ฉีดน้ำหรือสาดน้ำเข้าใส่คนกลุ่มอื่น หัวเราะกันสนุกสนานเฮฮาทั้งผู้สาดและผู้ถูกสาด ทั้งๆ ที่สองกลุ่มอาจไม่เคยพบหน้ากันมาก่อนเลยในชีวิต

น้ำจะชุ่มโชกบนพื้นถนนเช่นนั้นได้ ก็เพราะมีสิ่งอื่นที่ชุ่มโชกอยู่ในถนนนั้นพร้อมกันด้วย นั่นคือความเป็นมิตร หากจะมีชาวโรฮีนจาหรืออุยกูร์ผ่านด่านตรวจของทหาร-ตำรวจเข้ามาสู่ถนนสายนี้ได้ในวันสงกรานต์ เขาก็คงถูกสาดน้ำจนชุ่มโชกพร้อมเสียงหัวเราะและความเป็นมิตร โดยไม่มีใครใส่ใจว่าเขาสังกัดอยู่ในชาติพันธุ์อะไร

นักวิชาการบางคนเรียกทัศนคติอันเป็นมิตรต่อกันเช่นนี้ว่า cohabitation หรือการอยู่ร่วมกัน
ซึ่งไม่ได้หมายความเพียงการอยู่ในสถานที่เดียวกันทางกายภาพเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่าคือสำนึกว่า
มีคนอื่นอยู่ร่วมกับเรา และชีวิตของเรา (สนุก) อยู่ได้ก็เพราะมีคนอื่นซึ่งอยู่ร่วมด้วยช่วยสนับสนุน เราและเขาต่างใช้ทรัพยากรร่วมกัน ต้องเผชิญภยันตรายจากภายนอกภายในเหมือนกัน และรับผลแห่งการกระทำของทุกคนไม่ต่างกัน

Advertisement

เล่นสงกรานต์ที่ถนนข้าวสารไม่อ้างรากเหง้าของชุมชนใดๆ เลย ไม่มีฟ้อนนำขบวนอย่างเชียงใหม่ ไม่มีการแต่งชุดพื้นเมืองอย่างถนนข้าวเหนียว ขอนแก่น ฯลฯ (และเป็นแม่แบบให้ถนนสีลม, พัทยา, หาดใหญ่ และที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง) เป็นการเล่นสงกรานต์แบบใหม่โดยแท้ เพราะแต่เดิมการเล่นสาดน้ำหรือพิธีกรรมในสงกรานต์ทั้งหมด เป็นเรื่องภายในชุมชน จะเล็กขนาดบ้านหรือใหญ่ขนาดเมือง ก็ยังเป็นเรื่องของชุมชน แต่เล่นสาดน้ำแบบถนนข้าวสารจัดขึ้นสำหรับคนที่มาก, หลากหลาย และแตกต่างมากกว่าชุมชน

จะว่าไปคนบนถนนข้าวสารคือคนในสังคมสมัยใหม่ นับถือศาสนาต่างกัน, พูดภาษาต่างกัน, และยึดถือมารยาทที่เกี่ยวกับร่างกายคนละอย่าง แต่เมื่อเข้ามาเล่นน้ำ ก็ยอมรับหรือรับรู้ว่าบนถนนข้าวสาร มีมารยาทเกี่ยวกับร่างกายอีกอย่างหนึ่ง ภาษาที่ใช้ของทุกคนถูกย่นย่อมาให้พอจะสื่อความรู้สึกดีๆ ต่อกันได้ พร้อมทั้งมีสำนึกเต็มเปี่ยมว่า มีคนอื่นๆ ที่ร่วมอยู่ในการเล่นบนถนนสายนั้นร่วมกับตน อย่างที่ฝรั่งซึ่งให้สัมภาษณ์ทีวีพูดว่า นอกจากตนเองสนุกแล้ว คนอื่นก็สนุกเหมือนกัน

มีอะไรที่สำคัญในประเพณีสงกรานต์ซึ่งถูกปรับเปลี่ยนมาจากอดีตไปไกลแล้วเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจนัก เพราะถูกตีความให้กลายเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว อย่างที่ทีวีทุกช่องต้องรายงานว่ามีเม็ดเงินสะพัดในที่นั่นที่นี่เพราะประเพณีสงกรานต์เป็นกี่สิบกี่ร้อยล้าน

Advertisement

จะทำเงินได้สักเท่าไรกลายเป็นสาระสำคัญของสงกรานต์เสียยิ่งกว่าสำนึกการอยู่ร่วมกัน

สังคมสมัยใหม่คือหน่วยความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของผู้คนอย่างเดียวกับบนถนนข้าวสาร มีความต้องการที่ขัดแย้งกันในทางเศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรมอยู่มาก และตลอดเวลา ทรัพยากรทุกอย่างมีอย่างจำกัด จึงต้องแบ่งกันใช้อย่างที่เปิดให้ทุกฝ่ายพออยู่ได้ แต่ความตึงเครียดในความสัมพันธ์ซึ่งต้องมีอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ถูกทำให้ลดลงเพราะสำนึกการอยู่ร่วมกัน

นี่คือศีลธรรมทางสังคมขั้นพื้นฐาน ซึ่งหากขาดหายไปในสังคมใด ก็ทำให้สังคมนั้นพังสลายลงในบัดดล หรือในอนาคตอันไม่ไกล

และสังคมไทยนี่แหละ คือสังคมที่สำนึกการอยู่ร่วมกันมีน้อย หรือไม่ค่อยมั่นคงแข็งแรงเท่าไรนัก คนบนท้องถนนไม่มีสำนึก “อยู่ร่วมกัน” กับคนอื่นซึ่งอยู่บนถนนร่วมกัน ไม่ว่าบนรถยนต์, รถเมล์, หรือเดินบนทางเท้า เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมไม่รู้สึกว่าการปล่อยน้ำเสียลงทางน้ำสาธารณะ คือการริบเอาน้ำอุปโภคบริโภคของคนจำนวนมากที่อยู่ร่วมกันในสังคม ฯลฯ

ทั้งนี้ เพราะ “สังคมไทย” เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ ทั้งความหมายและสำนึก คนไทยจึงไม่รู้สึกว่าตัวมีชีวิตอยู่ร่วมกันกับคนอื่นในหน่วยแบบนี้

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่าคนไทยไม่เคยสำนึกถึงคนอื่นที่อยู่ร่วมกัน ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ทั้งวัฒนธรรมและการปฏิบัติ เราคำนึงถึงคนอื่นอยู่มากทีเดียว เรามีเรื่องที่ต้อง “เกรงใจ” คนอื่นอยู่หลายเรื่องมาก แต่สำนึกถึงการอยู่ร่วมกันของคนไทยเป็นสำนึกในหน่วยที่ค่อนข้างแคบ คือ “ชุมชน” ระดับตำบล หรือเครือญาติในท้องถิ่นไม่สู้จะใหญ่นัก ทุกคนรู้จักกัน พอนับญาติกันได้ทั้งญาติจริงและญาติเสมือน แต่สำนึกอยู่ร่วมกันของเราไม่เคยขยายเข้าสู่สังคมเมือง หรือสังคมที่รวมทุกคนในชาติเข้าไว้ด้วยกัน

ในสภาพเช่นนั้น คนอื่นกลายเป็นคนแปลกหน้า ที่ไม่มีวัฒนธรรมประเพณีจะสัมพันธ์ด้วยในฐานะของคนอยู่ร่วมกัน และทำให้เราจัดการกับความขัดแย้งนานาชนิดได้ยาก มีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงในการจัดการ หรือพอใจที่จะให้ใช้ความรุนแรงระงับความขัดแย้งมากกว่าวิธีอื่น

เหตุใดคนไทยจึงไม่สามารถขยายสำนึกอยู่ร่วมกันซึ่งมีอย่างเข้มแข็งใน “ชุมชน” ประเภทต่างๆ เข้ามาใช้กับการมีชีวิตในสังคมสมัยใหม่ได้?

ในสมัยปัจจุบัน สังคมส่วนใหญ่มักมีขอบเขตซ้อนทับอยู่กับชาติ สังคมไทยก็เช่นกัน แต่สังคมไทยไม่ได้เกิดในชาติ แต่เกิดขึ้นภายใต้ชาติ ซึ่งมักเรียกกันว่าความสามัคคี แต่ความสามัคคี ที่แท้จริงคือสำนึกอยู่ร่วมกันกับคนอื่นในสังคมเดียวกันต่างหาก ความผูกพันกันของสังคมหนึ่งๆ กระจายไปในแนวราบ ไม่ใช่แนวดิ่ง

ความผูกพันในแนวราบทำให้เกิดความยืดหยุ่นต่อความขัดแย้งได้สูง เพราะถึงที่สุดแล้ว เราก็ยังต้องอยู่ร่วมกันต่อไป ไม่มีใครจะถูกไล่ออกไปจากบ้านได้ง่ายๆ

ความไร้สำนึกการอยู่ร่วมกันนี้มีมาในสังคมไทยก่อนสงครามเสื้อสี หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นฐานทางความคิดและวัฒนธรรมที่ทำให้เกิดสงครามเสื้อสีก็ว่าได้ ความคิดเรื่อง “ปรองดอง” ที่จำกัดอยู่แต่เสื้อสี จึงดูจะเป็นความคิดที่ผิวเผินเกินไป เพราะหมดเสื้อสีในช่วงนี้ ก็อาจเกิดเสื้อสีอื่น หรือเสื้อสีในลักษณะอื่นขึ้นได้เสมอ ตราบเท่าที่สังคมยังไม่มีสำนึกการอยู่ร่วมกัน

ใครจะสามารถทำให้เกิดความ “ปรองดอง” ในช่วงนี้ได้ก็ทำเถิด แต่ความปรองดองที่แท้จริงหมายถึงการทำงานในระดับรากเหง้าของปัญหา ทำอย่างไรจึงจะทำให้การศึกษาไทยนับตั้งแต่ระดับอนุบาลขึ้นมาคือการปลูกฝังสำนึกของการอยู่ร่วมกัน เช่นโรงเรียนดังอย่างโรงเรียนสาธิตต่างๆ เปิดที่เรียนให้เด็กด้วยการจับสลาก เพื่อให้แต่ละชั้นเรียนมีความหลากหลาย ทั้งปูมหลังของนักเรียน, สมรรถนะทางวิชาการที่ต่างกัน, วิสัยทัศน์ในการมองปัญหาและแก้ปัญหาที่มีความหลากหลาย ฯลฯ ให้ความสำคัญแก่สำนึกการอยู่ร่วมกันให้มากขึ้น (ทั้งเนื้อหาคำสอนและการปฏิบัติ) แต่ละสถาบันตั้งอยู่บนฐานของหลักการอยู่ร่วมกันของสังคม เพราะอาจมีส่วนช่วยให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปโดยราบรื่นและงอกงามแก่ทุกคนในสังคม

ปรากฏการณ์สงครามเสื้อสีไม่ได้เกิดขึ้นในสังคมที่เคยอยู่ร่วมกันมาอย่างสมานฉันท์ (ซึ่งต้องแปลว่าไม่มีใครถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ) แต่เกิดขึ้นในสังคมที่เปราะบางอยู่แล้วต่างหาก

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image