ภาพเก่า..เล่าตำนาน : พระวิสัยทัศน์ฯ… จัดเด็กสยามไปเรียนฝรั่งเศส : โดย พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก

ก้าวแรกของการศึกษาในแผ่นดินสยามแบบตะวันตก เด็กสยามได้เรียนคณิตศาสตร์ อ่านออกเขียนได้ สุภาพบุรุษที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี มีเมตตา ขอสอนหนังสือให้เด็กๆ ในอยุธยา ท่านเป็นสถาปนิกชาวอิตาเลียนที่เข้ามาทำงานในราชสำนัก
ใน พ.ศ.2060 ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ชนชาติโปรตุเกส เป็นชาวตะวันตกกลุ่มแรกที่เข้ามาบุกเบิกในย่านอุษาคเนย์ ขอทำสัญญาทางพระราชไมตรี จากนั้นชาวโปรตุเกสก็ทยอยเข้ามาค้าขาย ตั้งสถานีการค้าในสยาม สร้างไมตรีแนบแน่นถึงขนาดจัดกำลังทหารโปรตุเกสพร้อมปืนคาบศิลาไปช่วยอยุธยาทำศึกกับพม่าได้รับชัยชนะ อิ่มเอิบเบิกบานใจ
สมเด็จพระไชยราชาธิราชพอพระทัยชาวโปรตุเกสยิ่งนัก จึงพระราชทานที่ดินตำบลบ้านดิน ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เหนือปากคลองตะเคียนให้พวกโปรตุเกสตั้งบ้านเรือนอาศัย และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างโบสถ์เพื่อประกอบศาสนกิจได้ ซึ่งก็คือบริเวณที่เรียกว่า “หมู่บ้านโปรตุเกส”
โบสถ์โปรตุเกสแห่งนี้ ถือได้ว่าศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้ลงรากปักหมุดเป็นครั้งแรกในเมืองไทย
การผจญภัยเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า การเผยแพร่คริสต์ศาสนา การแสวงหาดินแดนใหม่ๆ ทั่วโลก การสืบเสาะหาทรัพยากร หาเพชรนิลจินดา ทองคำ เป็นการแข่งขันเอาเป็นเอาตาย ของชนชาติมหาอำนาจทางทะเลทั้งสิ้น โปรตุเกส สเปน ฮอลันดา ฝรั่งเศส อังกฤษ เดนมาร์ก จีน ล้วนแล้วแต่แข่งขันกัน ไม่มีใครยอมใคร
ฝรั่งจากยุโรปเหล่านี้ บ้างก็ไม่ลงรอยกันด้านการศาสนา ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ราว พ.ศ.2141 ฝรั่งฮอลันดาได้ตามเข้ามาอยุธยา
และในราว พ.ศ.2155 อังกฤษก็ติดตามเข้ามาที่อยุธยา ทั้งฮอลันดาและอังกฤษนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ที่ตั้งขึ้นใหม่ และเป็นอริกับนิกายคาทอลิกในยุโรป ฮอลันดาและอังกฤษจึงจับมือกันแย่งชิงธุรกิจของโปรตุเกสในอุษาคเนย์ ทำให้โปรตุเกสบารมีลดลงในภูมิภาค
ฝรั่งเศส เป็นมหาอำนาจที่เข้ามาติดต่อกับอยุธยาช้ากว่าชนชาติอื่น ถึงจะมาช้า แต่ฝรั่งเศสทำงานแบบทะลุเปรี้ยง เป็นเจ้าบุญทุ่ม โดดเด่น ด้วยบทบาทชิงการนำ เบียดแซงชาติตะวันตกอื่นๆ ได้
เดือนสิงหาคม พ.ศ.2205 ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ สมเด็จพระสันตะปาปาแห่งนครวาติกัน ได้ออกคำสั่งไปยังพระสังฆราชในฝรั่งเศส ให้มาเผยแผ่ศาสนาในภูมิภาคตะวันออก บาทหลวงของฝรั่งเศสกลุ่มแรกได้เดินทางมาถึงสยาม คือบาทหลวงปิแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต บาทหลวงได้เขียนรายงานกลับไปยังพระสังฆราชฝรั่งเศสว่า
“ข้าพเจ้าเชื่อว่าในโลกนี้ จะหาเมืองไหนที่จะมีศาสนามากอย่าง และที่อนุญาตให้ปฏิบัติตามศาสนานั้นๆ ได้เท่ากับเมืองสยามเห็นจะหาไม่ได้แล้ว พวกที่ไม่ได้ถือศาสนาคริสเตียนก็ดี พวกเข้ารีตก็ดี พวกมะหะหมัดก็ดี ซึ่งแยกกันออกเป็นคณะเป็นหมู่ ก็ปฏิบัติการศาสนาตามลัทธิของตัวเองได้ทุกอย่างโดยไม่มีข้อห้ามปรามกีดขวางอย่างใดเลย พวกชาวโปรตุเกส อังกฤษ ฮอลันดา จีน ญี่ปุ่น มอญ เขมร แขกมะละกา ญวน จาม และชาติอื่นๆ อีกหลายชาติ ก็มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในสยาม พวกเข้ารีตลัทธิคาทอลิกมีอยู่ประมาณ 2,000 คน คนเหล่านี้โดยมากเป็นชาวโปรตุเกสซึ่งได้ถูกไล่มาจากอินเดีย จึงได้หนีเข้ามาอาศัยอยู่ในสยาม และได้ตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นหมู่บ้านหนึ่งต่างหาก พวกโปรตุเกสเข้ารีตเหล่านี้ มีวัดเข้ารีตอยู่ 2 วัด 1 วัดนั้นอยู่ในความปกครองของบาทหลวงคณะเยซุอิต อีกวัด 1 นั้นอยู่ในความดูแลของบาทหลวงคณะเซนต์โดมินิก…”
บันทึกอายุราว 400 ปีที่แสนจะมีค่าฉบับนี้ แปลว่า ในดินแดนสยาม เป็นสังคมแบบ “พหุวัฒนธรรม” หลากหลายเชื้อชาติศาสนา ทุกหมู่เหล่ามีเสรีภาพเต็มพิกัดในการนับถือศาสนา
ส่วนพวกนิกายโปรเตสแตนต์ มีหลักฐานปรากฏชัดว่าเข้ามาในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ โดยคณะมิชชันนารีของฮอลันดา ได้ส่งศาสนาจารย์เฟรดริค ออกัสตัส กุตสลาฟ ชาวเยอรมัน กับคณะมิชชันนารีลอนดอนได้ส่งศาสนาจารย์ จาคอบ ทอมลิน ชาวอังกฤษ เข้ามาในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2371

ผู้เขียนจะขอเจาะประเด็นเรื่อง “การจัดการศึกษาให้กับชาวสยาม” ในยุคสมเด็จพระนารายณ์ฯ ที่เป็นคุณูปการอย่างยิ่ง
การศึกษาในสยามสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการจัดการศึกษาโดยแบ่งออกเป็น 2 สำนักคือ การศึกษาในพระราชวัง ดำเนินการสอนโดยพราหมณ์และการศึกษาในวัด ดำเนินการสอนโดยพระภิกษุ
เด็กผู้หญิงและสตรีจะไม่มีโอกาสเรียนหนังสือแบบผู้ชาย เพียงแต่จะได้รับการเรียนรู้เกี่ยวกับงานบ้านเรือน
จดหมายเหตุของลาลูแบร์ ที่เข้ามาในอยุธยา บันทึกว่า
“ชาวสยามมีภาษา 2 อย่าง คือ อย่างหนึ่งเป็นภาษาพื้นเมือง เป็นภาษาง่ายๆ เป็นคำโดดไปทั้งสิ้น…กับอีกภาษาหนึ่งเป็นที่รู้กันในปวงปราชญ์ราชบัณฑิตเท่านั้น เรียกภาษาบาลี ใช้ในการศาสนา ในตัวบทพระธรรม…”
นับเป็นจุดอ่อนของชาวสยามที่ยังมิได้เริ่มจัดการศึกษาเล่าเรียน เขียน อ่าน แต่ที่น่าจะเป็น “จุดตาย” คือ การไม่สามารถบวก ลบ คูณ หารได้ จึงไม่สามารถทำการค้าได้ ต้องพึ่งพาชาวต่างชาติเกือบทั้งสิ้น
แบบเรียน จินดามณี จึงต้องเกิดขึ้นในยุคสมเด็จพระนารายณ์ฯ
โรงเรียนคาทอลิกแห่งแรกในประเทศไทยตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2198 โดยบาทหลวงโทมัส เดอ วัลกัวร์เนรา (Thomas de Valguarnera) สถาปนิกชาวอิตาเลียน
บาทหลวงเดอ วัลกัวร์เนรา ใช้ชีวิตอยู่ในราชอาณาจักรสยามเป็นเวลา 15 ปี ได้เรียนรู้ภาษาไทยเป็นอย่างดี ท่านเข้ามาทำงานในฐานะเป็นสถาปนิกประจำราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์ฯ
บาทหลวงเดอ วัลกัวร์เนรา เห็นว่าเด็กๆ ในอยุธยาไม่ได้เรียนหนังสือ จึงสร้างโรงเรียนเพื่อเด็กชายที่อาศัยอยู่บริเวณบ้านพักของบาทหลวง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กชาวโปรตุเกส ชาวเวียดนามจากตังเกี๋ย เด็กๆ ในอยุธยา และลูกชาวจีน เป็นอาคารขนาดเล็กและเรียบง่าย มีการเรียนการสอนโดยบาทหลวง 4 ท่าน และภราดาอีก 1 ท่าน
ชาวสยามที่ไม่ได้นับถือคริสต์ ก็ส่งลูกหลานมาเรียนที่โรงเรียนนี้ด้วย ต่อมาใน พ.ศ.2202 บาทหลวงเดอ วัลกัวร์เนรา ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากชาวโปรตุเกสผู้ร่ำรวย ชื่อ เซบัสเตา อันเดร ดา ปอนเต (Sebastao Andre da Ponte) ผู้อพยพมาจากเมืองมาเก๊า จึงขยับขยายบ้านพักบาทหลวงและอาคารโรงเรียน
พ.ศ.2204 กิจการของโรงเรียนค่อนข้างสมบูรณ์ นับเป็นจุดเริ่มต้นการศึกษาครั้งแรกในกรุงศรีอยุธยา มีระดับประถมศึกษาสำหรับเด็กชายชาวโปรตุเกส และชาวต่างชาติอื่นๆ ที่นับถือคริสต์ศาสนา รวมถึงเด็กสยามด้วย การเรียนคำสอนของศาสนาคริสต์เป็นการบังคับให้ทุกคนเรียนแต่ไม่บังคับให้รับศีลล้าง
ผู้เขียนมีความชื่นชม ที่บาทหลวงฝรั่งทั้งหลายที่เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาแบบเสรี ไม่มีใครขัดขวาง สิ่งที่สร้างสรรค์สำหรับชาวสยาม คือ เด็กๆ มีโอกาสที่จะลืมตาอ้าปาก การได้มีโรงเรียน ได้เรียนหนังสือ ได้เรียนคณิตศาสตร์

การสร้างบ้าน สร้างเมือง สร้างอาณาจักร รู้เท่าทันโลก จะต้องเริ่มต้นจากการศึกษา และเรียนรู้ศิลปะวิทยาการ
ครั้นต่อมาในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2205 คณะมิชชันนารีชาวฝรั่งเศส สังกัดมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (Missions Etrang éres de Paris : MEP) ได้เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ประกอบด้วยพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา มอตต์ (Mgr Lambert de la Motte) บาทหลวงจาคส์ เดอ บูร์จ (Jacques de Bourges) และบาทหลวงฟรังซัวส์ เดย์ดิเอร์ (Fran çois Deydier) ด้วยจุดประสงค์ที่จะเดินทางต่อไปยังประเทศจีน แต่เมื่อได้รับข่าวว่าประเทศจีนในขณะนั้นไม่ยอมรับการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ จึงตัดสินใจพำนัก ปักหลักอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่ากรุงศรีอยุธยาในขณะนั้นมีบาทหลวงและนักบวชอยู่ 11 ท่าน และคาทอลิกประมาณ 2,000 คน
ผู้อ่านที่ติดตามบทความทาง “มติชน” อย่างต่อเนื่อง สอบถามผู้เขียนมาแบบใจตรงกันคือ คนสมัยนั้นพูดจากันด้วยภาษาอะไร?
ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะบาทหลวงฝรั่งเศส ที่เข้ามาในสยาม มุมานะ หัด เรียน เขียน อ่าน พูดภาษาไทย เข้าใจโครงสร้างภาษาไทย จนแตกฉาน ใน พ.ศ.2205 มิชชันนารีคาทอลิก ชื่อ หลุยส์ ลาโน (Louis Laneau)แปลและแต่งหนังสือเรื่องศาสนาคริสต์เป็นภาษาไทยจำนวน 26 ฉบับ แต่งหนังสือไวยากรณ์ไทย พจนานุกรมอีก 1 ฉบับพิมพ์ขึ้นเป็นภาษาไทย บาทหลวงท่านนี้สร้างศาลาเรียนที่เกาะมหาพราหมณ์ และตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่โรงเรียน สมเด็จพระนารายณ์ฯทรงทราบจึงให้สร้างโรงพิมพ์หลวงอีกแห่งที่ลพบุรี
มีพจนานุกรมฉบับที่ 2 โดยมิชชันนารี เทเลอร์ โจนส์ ที่รวมคำศัพท์ภาษาไทย แล้ว แปลเป็นภาษาอังกฤษ
พจนานุกรมที่คนไทยควรให้การยกย่องเชิดชูอย่างยิ่ง คือ พจนานุกรมที่จัดทำโดย พระสังฆราช ปาเลกัวซ์ (Jean Baptise Pallegoix) ที่เข้ามาสอนหนังสือในสยามนาน 24 ปี แล้วเพียรพยายามผลิต สัพะจะนะพาสาไท เป็นพจนานุกรม 4 ภาษา คือ ไทย ละติน ฝรั่งเศส และอังกฤษ มีแม้กระทั่งคำด่า คำหยาบ
ท่านเขียน Description de Royaume Thai ou Siam ที่บอกเล่าเรื่องของสยามทุกซอกทุกมุม ซึ่ง สันต์ ท. โกมลบุตร แปลออกมาเป็นภาไทย ชื่อ “เล่าเรื่องกรุงสยาม บุคคลผู้นี้ มีความเพียร สร้างสรรค์งานให้ชาวโลกอย่างแท้จริง
พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสใช้ความพยายามทั้งปวง ส่งคณะราชทูตมาสยาม เพื่อโน้มน้าวให้สมเด็จพระนารายณ์ฯ เปลี่ยนไปนับถือคริสต์ ในช่วงเวลานั้นเป็นสถานการณ์ที่ล่อแหลมยิ่งนัก หากแต่พระปรีชาญาณของพระองค์ที่ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า พระองค์ทรงลู่โอนอ่อนไปตามลมพายุ สมเด็จพระนารายณ์ฯทรงอนุญาตให้คณะบาทหลวงฝรั่งเศสเปิดโรงเรียนสอนศาสนา สอนหนังสือเยาวชนสยามขึ้นหลายแห่งในสยามเพื่อแสดงน้ำพระทัยเปิดกว้าง
ในปี พ.ศ.2208 กลุ่มนักบวชคาทอลิกจากฝรั่งเศสได้เริ่มจัดการศึกษาอย่างเป็นทางการ คณะนี้ได้รับพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระนารายณ์ฯให้จัดตั้งวิทยาลัย (Collegium) ที่บริเวณบ้านปลาเห็ดในกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนชายชาวไทย 10 คน เป็นนักเรียนรุ่นแรกศึกษาเรียนรู้วิทยาการของชาวยุโรป หลักสูตรการศึกษาสอนด้วยภาษาละติน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาสยาม อำนวยการสอนโดยพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา มอตต์ (Lambert de la Motte) และคณะมิชชันนารี
พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา มอตต์ ได้รับการต้อนรับจากหมู่บ้านของชาวดัตช์ (Dutch Camp) และได้พบกับชาวจีนและชาวเวียดนามซึ่งเป็นคาทอลิก จึงเรียนภาษา และเริ่มไปเยี่ยมหมู่บ้านของชาวเวียดนามและชาวญี่ปุ่นซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างดีจากชาวบ้านที่นับถือศาสนาคาทอลิกและหลบหนีออกจากประเทศของตนมาอยู่ในประเทศสยามเพราะสาเหตุแห่งศาสนา พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา มอตต์ และบาทหลวงทั้งสองได้ตัดสินใจพำนักอยู่ในหมู่บ้านของชาวเวียดนาม
เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ฯทรงทราบข่าวว่าพวกมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสเปิดโรงเรียนสอนหนังสือ และมีคนไทยไปร่วมเรียนด้วย ทรงพอพระทัยยิ่งนัก พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เทศนาสั่งสอนได้ตามความพอใจ ไปไหนมาไหนได้ทุกแห่ง ยกเว้นแต่ในพระราชวังเท่านั้น

พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา มอตต์ เขียนจดหมายขอพระราชทานที่ดินสำหรับปลูกสร้างโรงเรียนและวัด สมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงได้พระราชทานที่ดินให้คณะบาทหลวงฝรั่งเศส และต่อมาได้ชื่อว่า ค่ายนักบุญโยเซฟ (Joseph Camp) และสร้างอาคารซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอาคารที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงศรีอยุธยา จุดมุ่งหมายเพื่อให้การศึกษาอบรมเด็กชาย เพื่อให้เป็นสามเณรและบวชเป็นบาทหลวง แต่ก็รับเด็กชายอื่นๆ ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เป็นต้นไปเข้าเรียนด้วย
พ.ศ.2222 วิทยาลัยได้ย้ายออกไปยังมหาพราหมณ์ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ทางเหนือของกรุงศรีอยุธยาราว 3 กม. สาเหตุที่ย้ายเพราะวิทยาลัยตั้งอยู่ในบริเวณที่มีกิจกรรมหลากหลาย ทั้งที่ทำงานของพระสังฆราชที่พักของบาทหลวง และผู้มาเยือนโบสถ์ ฯลฯ ซึ่งมีผู้คนเยี่ยมเยียนจำนวนมาก จึงไม่มีบรรยากาศที่เหมาะสมกับการเรียน
พ.ศ.2229 ขุนนางฟอลคอน (Phaulkon) ที่ฝรั่งเศสเรียกชื่อว่า ก็องสต็องซ์ ผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกิจการต่างประเทศมาเยี่ยมวิทยาลัยที่มหาพราหมณ์และเสนอให้วิทยาลัยกลับไปยังกรุงศรีอยุธยาโดยสร้างตึกใหม่ให้ และให้ชื่อว่า วิทยาลัยคอนสแตนติน (Constantine College)
พระวิสัยทัศน์ของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ยังก้าวไปไกลเกินคาดเดา พระองค์ทรงเห็นว่าเด็กสยามเลือดอยุธยาที่เล่าเรียนเขียนอ่านได้ ควรจะต้องไปศึกษาต่อในฝรั่งเศส เพื่อกลับมารับราชการแผ่นดินแบบรู้เท่าทันโลก รับสั่งให้จัดลูกของข้าราชบริพาร 12 คนไปศึกษาในฝรั่งเศส และจะจัดส่งปีละ 12 คนทุกปี
สมเด็จพระนารายณ์ฯรับสั่งให้นำเด็กเหล่านี้ไปเข้าโรงเรียนหลุยส์ เลอกรัง ซึ่งเป็นสถาบันระดับสูงของฝรั่งเศส ให้ทางการฝรั่งเศสหาครอบครัวอุปการะเลี้ยงดู อบรม และสมเด็จพระนารายณ์ฯจะทรงออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด
ผลตอบรับ คือ บรรดาข้าราชบริพารต่างมาร้องขอชีวิต กราบทูลมิให้ส่งลูกของตนไปเรียน เหตุฉะนี้ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงขัดเคืองพระทัยยิ่งนัก เมื่อไม่มีใครสมัครใจยอมไปฝรั่งเศส สมเด็จพระนารายณ์ฯจึงมอบให้บาทหลวงฝรั่งเศสเป็นผู้ไปคัดเลือกเด็กนักเรียนทุน

Advertisement

บาทหลวงฝรั่งเศสทำตามรับสั่ง คัดเลือกเด็กสยามได้ 12 คน หาครอบครัวอุปการะให้ได้ โดยให้แยกกันอยู่ ถึงเวลาเรียน ก็ไปเรียนที่เดียวกันคือ หลุย เลอกรัง การศึกษาในฝรั่งเศสราบรื่น
11 กรกฎาคม 2231 สมเด็จพระนารายณ์ฯ สิ้นพระชนม์ ขุนนางฟอลคอนรวมทั้งพระราชวงศ์ชั้นสูงผู้ใกล้ชิดสมเด็จพระนารายณ์ฯ ถูกประหารสิ้นโดยพระเพทราชา บรรดามิชชันนารีที่สอนหนังสือถูกจับขังคุก วิทยาลัยคอนสแตนตินจึงต้องหยุดการสอน
ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยา-ฝรั่งเศส ขาดสะบั้น เด็กทั้ง 12 คน ถูกส่งกลับสยาม
เดือนสิงหาคม พ.ศ.2233 กลุ่มมิชชันนารีได้รับการปล่อยตัวออกจากที่คุมขัง จึงกลับไปเปิดการสอนหนังสือที่มหาพราหมณ์อีกครั้ง เด็กชาวสยามทุกเชื้อชาติ ศาสนาได้มีโอกาสเรียนหนังสือ อ่านออก เขียนได้
จนกระทั่งเกิดสงครามระหว่างสยามกับพม่า พ.ศ.2308 บรรดามิชชันนารีจึงตัดสินใจนำครูและนักเรียนอพยพหนีภัยสงครามจากพม่าไปยังเมืองจันทบุรี และส่วนหนึ่งหนีภัยไปกรุงเทพฯ
7 เมษายน พ.ศ.2310 กรุงศรีอยุธยาแตก เสียกรุงแก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 เป็นอันสิ้นสุดเรื่องการศึกษาแบบตะวันตกในสยาม
ผู้เขียนต้องขอชื่นชมชาวต่างชาติทุกกลุ่มที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนา ดูแลด้านการสาธารณสุข ฝรั่งพวกนี้ศึกษาภาษาไทยจนสามารถสอนหนังสือไทยให้กับชาวสยามได้ และชาวสยามเหล่านี้ จึงแยกย้ายกันไปสอนหนังสือให้เด็กๆ ชาวต่างชาติเหล่านี้ช่วยผลิตตำราเรียนภาษาไทย
มีบันทึกประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจว่า ในแผ่นดินสยามยุคสมเด็จพระนารายณ์ฯ มีการจัดการศึกษาตามแบบสถาบันการศึกษาในยุโรป แบ่งเป็น 3 ระดับ ระดับเบื้องต้น (Elementary school) เทียบเท่าระดับประถมศึกษา ระดับล่าง (Lower school) เทียบเท่าระดับมัธยมศึกษา และระดับสูง (Upper school) เทียบเท่าระดับอุดมศึกษา
การจัดการเรียนการสอนใช้ภาษาละติน ภาษาฝรั่งเศสใช้เป็นภาษาติดต่อสื่อสาร เพราะคณะมิชชันนารีผู้สอนหลักเป็นชาวฝรั่งเศส และสอนภาษาไทย ทำให้เด็กสยามมีโอกาสไปเรียนต่อในต่างประเทศได้
นอกจากวิทยาลัย (General College) ที่กรุงศรีอยุธยาแล้ว คณะมิชชันนารียังได้ออกไปประกาศศาสนาตามเมืองต่างๆ ในสยามและได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นสำหรับนักเรียนชาย และในระยะต่อมา เริ่มสอนนักเรียนหญิงโดยมีโบสถ์คาทอลิกเป็นศูนย์กลางเช่น ที่จังหวัดภูเก็ต และตะนาวศรี ใน พ.ศ.2214 จังหวัดลพบุรี ใน พ.ศ. 2216 ที่บางกอก ใน พ.ศ.2217 ตั้งอยู่ใกล้กับโบสถ์แม่พระปฏิสนธินิรมลที่สามเสน ที่พิษณุโลก พ.ศ.2218 และที่จันทบุรีใน พ.ศ.2250
โรงเรียนทั้งหลายดังกล่าวนี้เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการด้านการศึกษาแก่บุคคลทั่วไป

ในยุคพระเพทราชา ถือว่าไม่ต้อนรับฝรั่ง ขับไล่ชาวฝรั่งเศสออกนอกประเทศ แล้วเนรเทศชาวอังกฤษ โปรตุเกส อยุธยา ตัดเป็นตัดตายกับฝรั่งเศสเป็นชาติแรก ความสัมพันธ์ขาดสะบั้นลงตั้งแต่นั้นมา
ส่วนญี่ปุ่นนั้น หมดบทบาทมาตั้งแต่ยุคต้นสมเด็จพระนารายณ์ฯแล้ว ฝรั่งชาติเดียวที่อยู่ต่อไปได้ก็คือ ฮอลันดา ในฐานะที่ช่วยพระเพทราชายึดอำนาจ และช่วยกำจัดฝรั่งเศส
เรื่องราวของเด็กสยาม 12 คนที่ไปเรียนฝรั่งเศส นักเรียนนอกรุ่นแรก เป็นเรื่องจริงที่บาทหลวงฝรั่งเศสบันทึกไว้ อย่างละเอียด มีชื่อแบบสยาม และชื่อแบบฝรั่งเศส ไปเรียนฝรั่งเศสแล้วเป็นตายร้ายดี ไปแสดงความเก่งกาจแค่ไหน อย่างไร กรุณาติดตามตอนต่อไปนะครับ
มีเด็กสยามอัจฉริยะ ไปแสดงความเป็นเลิศในฝรั่งเศส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image