เปิดใจ ‘สกลธี ภัททิยกุล’ ฝันถึงพรรคคนรุ่นใหม่

หมายเหตุ – นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ มติชนŽ ประเด็นการลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากได้รับการทาบทามให้เข้าร่วมบริหารงาน กทม.

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวมีผู้ใหญ่ในรัฐบาล คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ชักชวนให้มาทำงานเพื่อบ้านเมือง ท่านเห็นว่าผมเป็นอดีต ส.ส.อายุยังไม่มาก เป็นคนรุ่นใหม่ ก็เสนอโอกาสมาให้ ก็อย่างที่ผมให้สัมภาษณ์สื่อว่า อดีต ส.ส.กทม.หลายคนฝันที่จะบริหาร กทม. เมื่อผู้ใหญ่เสนอมา ผมก็ตัดสินใจ

ผมมีโอกาสพบกับผู้ใหญ่ในรัฐบาล หารือกัน 2-3 ครั้ง เกี่ยวกับเรื่องอนาคตของประเทศไทย แนวโน้มการเมืองไทย แนวทางการทำงาน ซึ่งหลายอย่างคิดตรงกัน เมื่อท่านเสนอโอกาสมา ผมจึงตัดสินใจ ซึ่งท่านก็ได้หารือไปยัง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ท่านก็ไม่ได้ขัดข้องใดๆ แต่เบื้องหลังทั้ง 2 ท่าน จะหารือกันอย่างไร ผมไม่ทราบ

ในการได้เข้าหารือแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกับรองนายกฯ ในเรื่องของทิศทางประเทศ ประกอบกับประสบการณ์ที่เคยทำงานเป็นอดีต ส.ส.กทม.ดูแลพื้นที่ กทม. 4 เขต คือ เขตพญาไท เขตจตุจักร เขตบางซื่อ และเขตหลักสี่ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รองนายกฯ สนใจและทาบทามให้เข้าร่วมบริหารงาน กทม.

Advertisement

ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวินได้มอบหมายให้ทำงานกำกับดูแลสำนักเทศกิจ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานกฎหมายและคดี รวม 4 สำนัก และกำลังจะได้รับมอบให้ดูแลพื้นที่ กทม.เหนือ รวม 7 เขต คือ เขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตหลักสี่ เขตลาดพร้าว เขตบางเขน เขตสายไหม และเขตดอนเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่คุ้นเคยเมื่อครั้งเป็น ส.ส.กทม. ซึ่งในการมาทำงานครั้งนี้ ได้เชิญนายสมศักดิ์ ชาติสุขศิริเดช อดีตผู้อำนวยการเขตหลักสี่ มาเป็นผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. เพื่อช่วยทำงานในฐานะเป็นเลขานุการให้ผมด้วย

ซึ่งงานในลักษณะนี้ ผมมั่นใจว่าทำได้ เพราะถามผมจริงๆ เป็นคนชอบการเมือง ชอบพบปะคน ชอบลงพื้นที่ เพราะฉะนั้น หน้างานที่ผมได้รับมอบคือ ต้องลงพื้นที่ ออกตรวจ พบปะประชาชน ก็เหมาะสมแล้ว ที่สำคัญเนื้องานที่ดูแลพื้นที่โซนเหนือ ก็เป็นย่านบ้านผม ซึ่งรู้และเข้าใจปัญหาดีว่าประชาชนเดือดร้อนอะไร อย่างไร อีกทั้งล่าสุดผู้อำนวยการเขตทั้ง 7 เขต ก็ได้พบปะหารือกับผมแล้ว ว่าแต่ละพื้นที่มีลักษณะปัญหาอย่างไร และสัปดาห์หน้าก็เริ่มลงพื้นที่เลย

0เท่ากับเป็นการเตรียมหาฐานเสียงหรือไม่
เรื่องนี้จะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวกับการเมืองเลย ก็คงไม่ได้ เพราะอย่างไรเสีย ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นอดีต ส.ส.กทม. และเป็นคนในการเมือง คนในพื้นที่ผมก็รู้จักทุกคน แต่ผมยืนยันว่าตั้งใจที่จะทำงานจริงๆ ฝันว่าอยากจะมาบริหาร กทม.อยู่แล้ว เมื่อผู้ใหญ่มอบโอกาสให้ก็ต้องทำเต็มที่ ส่วนว่าคนจะมองว่าทำเพื่อการเมืองหรือไม่ ผมก็บอกเลยว่าอยากทำให้กรุงเทพฯดีขึ้นจริงๆ พูดแบบนี้ไม่ใช่ว่าที่ผ่านมาเขาไม่ทำกัน แต่สิ่งที่เราอยากให้ทำ เรายังไม่เห็นในตอนนี้ ผมจึงต้องเข้าไปทำในสิ่งที่ผมฝันไว้Ž

Advertisement

ใจจริงอยากกำกับดูแลด้านการจราจร กับด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ เพราะสมัยที่เป็น ส.ส.กทม.ลงชุมชนต่างๆ เห็นแล้วว่าประชาชนอยู่กันลำบาก และแตกต่างๆ กันมาก บ้านห่างกันเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ก็ต่างกันแล้ว ตามไปดูแล้วยังสงสัยว่าอยู่กันได้อย่างไร จึงอยากเข้าไปพัฒนาตรงนั้น ในส่วนการจราจร ปฏิเสธไม่ได้คนกรุงเทพฯต้องอยู่ในรถวันละ 2-3 ชั่วโมง แม้หน้างานบางอย่างไม่ใช่ของ กทม.โดยตรง แต่ในฐานะที่ดูแลกรุงเทพฯโซนเหนือ ซึ่งขณะนี้ถนนหลายสายมีปัญหาก่อสร้างรถไฟฟ้า ทำรถติดขัด ก็ต้องเข้าไปดูแล โดยจะเร่งรัดเอกชนผู้รับสัมปทานให้ดำเนินการอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะทุกวันนี้แนวก่อสร้างทำให้สูญเสียพื้นที่รถวิ่ง เวลาคนด่า ไม่ได้ด่าผู้รับเหมา หรือเจ้าของโครงการ แต่ด่า กทม.ก็จะไปกำกับผู้รับเหมาให้แก้ไขปัญหานี้ อาจจะได้ไม่มากก็น้อย ส่วนงานด้านอื่นๆ ที่ผมอยากทำ อาจจะไม่ตรงกับงานที่ผมรับผิดชอบ ผมยังอาจเข้าไปทำไม่ได้ แต่หากในอนาคตได้รับมอบจากผู้ว่าฯ กทม. ก็พร้อม

0ได้วางอนาคตทางการเมืองอย่างไร จะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่
ไม่ได้คิดเลย เพราะชอบการเมืองระดับชาติมากกว่าการเมืองท้องถิ่น แต่เนื่องจากว่าเป็นโอกาสที่ผู้ใหญ่หยิบยื่นให้ ก็ถือว่าให้มาฝึกงาน แต่ชื่อชั้นยังไม่ถึงระดับสมัครผู้ว่าฯ กทม. วันนี้จึงจะขอทำให้ดีที่สุดก่อน และต้องไปดูที่อนาคตด้วย

0หากทำหน้าที่รองผู้ว่าฯ กทม.ไปได้ไม่กี่เดือน แล้วต้องเลือกตั้งใหม่
ก็ไม่เป็นไร ถ้าถามใจ ยังตอบว่าชอบการเมืองระดับชาติมากกว่า ถ้าถึงเวลานั้น มีการเลือกตั้งจริงๆ ก็จะกลับไปลงสนามใหญ่ หรือถ้าทำไปนานๆ แล้วเกิดชอบ สนุกกับงาน ก็อาจจะไม่กลับไป ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของอนาคต และมีความเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง

หลังได้รับการทาบทาม ได้ใช้เวลาตัดสินใจไม่นาน แต่มั่นใจว่าคิดด้วยความรอบคอบแล้ว จึงไปขอลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะถือว่ามารยาทเป็นเรื่องสำคัญ ผมอยู่พรรคประชาธิปัตย์มา 10 กว่าปี ผูกพัน รักพรรคไม่เป็นรองใคร แต่เมื่อรัฐบาลให้โอกาสมา พูดตรงๆ ก็รัฐบาลทหาร หากผมยังอยู่พรรคประชาธิปัตย์ แนวทางอาจจะไปด้วยกันลำบาก ผมก็พวกไฮบริด คือ เป็นนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ แต่เกิดจากครอบครัวทหาร มีพ่อเป็นทหาร ผมก็ไม่รังเกียจทหาร ผมคิดว่าถ้าผมจะสบายใจมาทำงาน กทม.ให้เต็มที่ ผมควรลาออก วันที่ตัดสินใจลาออกก็กระชั้นชิดมาก ผมไม่ทันตั้งตัว วันนั้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำภารกิจที่ จ.ศรีสะเกษ กำลังนั่งเครื่องบินกลับมา ผมไปดักรอที่สนามบิน ไปกราบเรียนและลาท่าน วันนั้นท่านก็ไม่ทัดทาน อวยพรให้ทำให้ดีที่สุดเพื่อพี่น้องประชาชน จากนั้นผมไปพบนายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรค ไปลาท่าน และมีแผนจะไปลานายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ด้วย พี่ๆ น้องๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์โทรมาแสดงความยินดี และอวยพรผมเยอะ ไม่มีใครตำหนิในสิ่งที่ผมตัดสินใจครั้งนี้

0ลาออกเพราะอุดมการณ์ทางการเมืองไม่ตรงพรรคประชาธิปัตย์
เป็นส่วนหนึ่ง แม้ใจจะประชาธิปัตย์ 100% แต่แนวทางบางอย่างอาจจะเห็นไม่เหมือนกัน เช่น ช่วงที่ผมออกไปกับ กปปส. พรรคก็มีจุดยืนว่าถึงจุดหนึ่งต้องกลับเข้าระบบ แต่ในเมื่อผมคิดว่าตรงนั้นยังไม่พอ ผมจึงต้องออกมา จริงๆ อุดมการณ์ของผมกับพรรคเหมือนกัน แต่มีบางอย่างที่ไปพร้อมกับพรรคไม่ได้ แต่ผมต้องไปต่อ ผมจึงแยกตัวออกมา เพราะผมต้องการข้ามข้อจำกัดของพรรค นอกจากนี้ ยังไปลานายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.ด้วย

0มีข่าวว่า กปปส.กับรัฐบาลกำลังจับมือกัน
เป็นการวิเคราะห์ไปกันเอง เท่าที่ทราบนายสุเทพก็มีแนวทางของตัวเอง เพียงแต่สนับสนุนแนวทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้วย เพราะคิดว่าในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ หากได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งอาจบริหารบ้านเมืองไม่ได้ ไม่ตอบโจทย์ จึงสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อไป ซึ่งทำให้สังคมมองว่าจับมือกันแล้ว ผมว่าทั้งอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ กปปส. และรัฐบาลทหารก็เหมือนกัน เพียงแต่ของพรรคมีข้อจำกัด ต้องทำตามหลักเกณฑ์ของพรรค แต่ของ กปปส.มีข้อจำกัด แต่ข้ามได้ ผมไม่สามารถสลัดคราบของคน กปปส. และคนประชาธิปัตย์ออกได้ เพราะทุกอย่างที่ทำมาเป็นเรื่องจริง แม้วันนี้เข้ามาบริหารงาน กทม.ต้องทำอีกหน้าที่หนึ่ง แต่ใจข้างในยังเป็นประชาธิปัตย์ และ กปปส.เหมือนเดิม

0ถ้ารองนายกฯสมคิดตั้งพรรคการเมือง จะร่วมด้วยหรือไม่
พูดตรงๆ วันนี้ยังไม่ชัดเจน ถ้าตั้งพรรคจริง มีชื่อพรรคชัดเจน วันนั้นให้มาสัมภาษณ์อีกที จะมีคำตอบที่ชัดเจนให้ แต่วันนี้ยังเป็นเพียงกระแสข่าว และไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะรับจดทะเบียนพรรคหรือไม่ แต่ยอมรับว่ามีการพูดคุยกันเรื่องนี้อยู่บ้าง ท่านถามแนวทาง และมองเห็นตรงกันว่าประเทศนี้ต้องการคนรุ่นใหม่ เพียงแต่ผมยังไม่ตัดสินใจ ในทำนองเดียวกันกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และเพื่อนๆ คนรุ่นใหม่ ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ความจริงผมกับเพื่อนๆ 9-10 คน เช่น นายณัฐพล ทีปสุวรรณ ก็มีการพูดคุยกันเรื่อง แต่ไม่ชัดเจนเท่าพรรคอนาคตใหม่ เรามีความเห็นตรงกันว่าต้องเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะนำพาประเทศไทยไปข้างหน้า ไม่ใช่คนรุ่นเก่าไม่ดี เพียงแต่ไม่เหมาะสมกับห้วงเวลานี้ คนรุ่นเก่าควรเป็นที่ปรึกษาให้กับคนรุ่นใหม่ให้ขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งแนวทางนี้ก็ตรงกับที่รองนายกฯสมคิด วาดภาพไว้ ท่านมองว่าทำไมประเทศไทยต้องมีแค่พรรคการเมืองเก่า 2-3 พรรค เลือกตั้งกี่ทีก็มีเท่านี้ ทำไมมีพรรคทางเลือกที่เกิดจากคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ และอยู่ได้

ผมมีความฝัน อยากเห็นคนในวัยเดียวกัน หรืออายุ 50 กว่าๆ มีใจ มีแนวคิดแบบคนรุ่นใหม่ ไม่ยึดโยงกับผลประโยชน์เดิมๆ มารวมตัวกัน ช่วยกันทำให้บ้านเมืองดีขึ้น ด้วยเงื่อนไขที่ว่าจะต้องมีอุดมการณ์ที่เหมือนกัน คือ ต้องการปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยแบบใหม่ ต่อสู้กับระบบที่ฝังรากลึกทำร้ายกัดกินประเทศ ต่อต้านการล้มล้างสถาบัน

ซึ่งหลายเรื่องตรงกับแนวทางของรัฐบาล ซึ่งโดยส่วนตัวชอบที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาจัดระเบียบบ้านเมือง อย่างที่บอกปัญหาบ้านเรามาลึกมาก กว่าจะใช้เวลาแก้ไม่ใช่เพียง 3-4 ปี ยังต้องแก้ไปอีกนาน แต่เท่าที่เห็นหลังจากรัฐบาลชุดนี้เข้ามา หลายๆ อย่างดีขึ้น เข้ารูปเข้ารอยขึ้น บ่อยครั้งที่ได้จับกลุ่มหารือเรื่องบ้านเมืองกับเพื่อนๆ ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน หนึ่งในนั้นมีนายณัฐพล ทีปสุวรรณ ร่วมด้วย แม้จะอาจอายุไม่น้อย แต่ถือเป็นคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ ยังมีคนในวัยไล่ๆ กันจากพรรคอื่นๆ เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทย ฯลฯ ซึ่งไม่ได้ชอบกับแนวทางของพรรคในปัจจุบัน นักธุรกิจ นักการตลาด ที่มีความคิดคล้ายๆ กันมาร่วมพูดคุยด้วย แต่ยังไม่ตัดสินใจ เพราะส่วนใหญ่ไม่เคยผ่านงานการเมืองมาก่อน

ขณะนี้ประชาชนตอบรับคนรุ่นใหม่มากขึ้น ขณะนี้มีพรรคการเมืองใหม่เพิ่ม ทำให้คนมีทางเลือกมากขึ้น แต่จะอยู่ได้หรือไม่ยังเป็นคำถาม ซึ่งส่วนตัวนั้น ฝันอยากให้พรรคการเมืองที่เกิดใหม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเพื่อให้อยู่ยั่งยืนเป็นสถาบันต่อไป แต่ทั้งหมดก็อยู่ที่ตัวผู้บริหารพรรคว่าจะทำให้ไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่ ทั้งนี้ ตามโรดแมปเลือกตั้ง รัฐบาลประกาศว่าจะเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเหลือเวลาไม่ถึงปี ถ้ามีการเลือกตั้งระดับชาติก่อน ก็จะลาออกไปลงสนามใหญ่แน่นอนŽ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image