‘กระซิบ’ ที่หูซ้ายออทิสติก ลดพฤติกรรมก้าวร้าว เล็งถ่ายทอดผ่านยูทูปให้พ่อแม่นำไปใช้

เมื่อวันที่ 22 เมษายน น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยม สถาบันราชานุกูล ศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคจิตเวชในเด็กทุกชนิด เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายในปี 2561 ว่า แต่ละปีมีเด็กในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดเข้ารักษาเฉลี่ยเดือนละ 4,600 ครั้ง หรือประมาณ 50,000 ครั้งต่อปี โรค 3 อันดับแรกที่พบมากที่สุด อันดับ 1 คือ โรคออทิสติก พบได้ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด รองลงมาคือ เด็กสติปัญญาบกพร่อง และพัฒนาการล่าช้า

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ในปี 2560 สถาบันราชานุกูลได้ทำการศึกษาเพื่อแก้ไขเด็กออทิสติกที่มีพฤติกรรมต่อต้านการฝึกทักษะของผู้ปกครอง ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 30 ของเด็กออทิสติกอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่มีประมาณ 82,000 คนทั่วประเทศ ที่ทำให้ผู้ปกครองส่วนใหญ่หนักใจ ท้อใจ จากการนำวิธีการกระซิบที่หูเด็กด้วยถ้อยคำเชิงบวกมาใช้ระหว่างที่เด็กหลับ พบว่าได้ผลดีมากอย่างน่าพอใจ พฤติกรรมต่อต้านการฝึกของเด็กลดลง ส่วนผู้ปกครองมีความสุขเพิ่มขึ้น ล่าสุด ได้ให้สถาบันฯ ถ่ายทอดผลการศึกษานี้เข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลเด็กออทิสติกและเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศสามารถนำไปใช้ได้

ทางด้าน พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า ปัญหาของเด็กออทิสติกที่เข้ารับบริการที่สถาบันฯ มีหลายรูปแบบ เช่น อยู่ไม่นิ่ง ก้าวร้าว มีพฤติกรรมต่อต้านการฝึกทักษะ บางคนทำร้ายผู้ปกครอง พฤติกรรมเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กขาดโอกาสเรียนรู้สิ่งจำเป็นในชีวิต ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เป็นภาระผู้ปกครอง ทำให้ผู้ปกครองมีความเครียดสูง บางรายใช้อารมณ์และความรุนแรงกับเด็กโดยไม่ได้ตั้งใจ ส่งผลให้เด็กมีปัญหาพฤติกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมาก

“ในการศึกษาครั้งนี้ สถาบันฯ ดำเนินการในกลุ่มผู้ปกครองและเด็กออทิสติก อายุ 6-18 ปี จำนวน 10 คู่ โดยใช้แนวคิดพลังความคิดเชิงบวก ซึ่งสามารถชักนำให้เกิดสิ่งดีๆ ตามได้ โดยการใช้ข้อความที่สร้างพลังใจ พฤติกรรมดีๆ หรือสิ่งที่อยากให้ลูกทำได้ สั้นๆ ชัดเจน เข้าใจได้ง่าย และให้ผู้ปกครองนำไปใช้กระซิบที่หูซ้ายของเด็ก หลังเด็กหลับแล้วประมาณ 20 นาที ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กอยู่ภวังค์ครึ่งหลับครึ่งตื่น คลื่นสมองของเด็กจะสงบ สมองสามารถรับรู้สิ่งที่ได้ยินได้ดี การกระซิบที่หูซ้าย จะเป็นการกระตุ้นให้สมองซีกขวาซึ่งทำงานเกี่ยวกับการแสดงออกพฤติกรรมและอารมณ์ได้รับรู้ ใช้เวลากระซิบนาน 1 นาที และใช้ข้อความเดิมซ้ำๆ กระซิบทุกวันต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน จากการเปรียบเทียบกับช่วงก่อนทำการกระซิบ พบว่าพฤติกรรมก้าวร้าวและต่อต้านการฝึกของเด็กลดลงทุกคน ร้อยละ 12-67 ส่วนผู้ปกครองทุกคนพอใจกับพฤติกรรมของลูก มีค่าคะแนนความสุขเพิ่มขึ้นร้อยละ 17-53 ดังนั้น สถาบันฯจะทำการสาธิตขั้นตอนวิธีการกระซิบและเผยแพร่ทางยูทูปในเดือนพฤษภาคมนี้ ผู้สนใจสอบถามได้ที่สถาบันราชานุกูล โทร.0 2248 8900 ต่อ 70384-70385

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image