‘บ้านพักตุลาการ’ บานปลาย เครือข่ายขอคืนพท.ดอยสุเทพ นัดชุมนุมใหญ่ข่วงประตูท่าแพ 29เมษา

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 22 เมษายน 2561 ที่ศาลาไอติม ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ นัดประชุมแกนนำเครือข่ายฯ ภายหลังการให้สัมภาษณ์ของนายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา (อดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5) และนายสวัสดิ์ สุขวัฒนานันท์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 กรณีการแก้ไขปัญหา ‘บ้านพักตุลาการ’ เพื่อกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหว นำโดยนายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ประธานเครือข่ายฯ นายชัชวาล ทองดีเลิศ มูลนิธิสืบสานล้านนา นายเฉลิมพล แซมเพชร นายบัณรส บัวคลี่ ภาคีฮักเชียงใหม่ น.ส.ลักขณา ศรีหงส์ เครือข่ายเขียว สวย หอม

นายธีระศักดิ์ กล่าวว่า ขอพูดสั้นๆว่า ความจริงต้องปล่อยให้ประชาชนแสดงความรู้สึกแทนเครือข่ายฯ เพราะถูกก่นด่าเต็มไปหมด และรู้สึกเหนื่อยแทนที่ศาลออกมาพูดแบบนี้ เพราะแสดงว่าศาลไม่รู้เรื่องโลกภายนอกเลย และเห็นได้ชัดว่าศาลไม่ยอมและไม่เข้าใจอะไร ไร้สาระ และหมดความน่าเชื่อถือลงไป ซึ่งอาจทำให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจยากขึ้น

“แม้ว่าก่อนหน้านั้นที่ประชุมของสำนักงานศาลยุติธรรมจะมีจดหมายเรียนท่านนายกรัฐมนตรีว่ามอบให้ท่านตัดสินใจ เราจึงคิดว่าคงต้องมีการยกระดับการเคลื่อนไหวเพื่อขอวิงวอนให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจในทางที่ถูกต้อง โดยคำนึงถึงทุกมิติ และฟังเสียงประชาชนที่ไม่อยากเห็นการบุกรุกพื้นที่ป่า เราจึงหวังว่าจะได้รับข่าวดีจากท่าน ด้วยการประกาศพื้นที่ห้ามเข้า หรือ No Man’s Land และเตรียมรื้อถอนต่อไป โดยในวันที่ 29 เมษายนนี้เราก็จะนัดกันออกมาชุมนุมเพื่อส่งสัญญานถึงท่านอีกครั้ง”

ในขณะที่นายบัณรส กล่าวว่า เมื่อผมฟังคำสัมภาษณ์ท่านประธานศาลทั้งคู่ก็มีความรู้สึกว่าท่านยังไม่ได้ข้อมูลครบ และอยู่กับงานที่ท่านทำมานาน ที่มองเฉพาะเรื่องกฎหมายและเห็นว่าสำคัญที่สุด แต่ผมอยากให้ท่านมองเข้าไปบนโลกโซเซียลที่มีประชาชนมากมายออกมาแสดงความเห็นคัดค้านการก่อสร้างบ้านพักตุลาการ ไม่แค่กลุ่มเครือข่ายฯ เท่านั้น ซึ่งเป็นความรู้สึกที่แท้จริงที่หลากหลายและไม่อยากให้ศาลและผู้พิพากษาขึ้นไปอยู่บนนั้น ทางเครือข่ายฯ เห็นใจท่านและไม่ได้เอากันถึงขั้นไม่มีที่อยู่ เพราะเป็นการรับมรดกความรับผิดชอบของในอดีตที่ผ่านมา แต่เราอยากให้ท่านได้อยู่ในที่สบายๆ ข้างล่างน่าจะดีกว่า

Advertisement

“วันนี้เรานัดหารือกันเพื่อเตรียมยกระดับการเคลื่อนไหวใหญ่หลังจากนายกรัฐมนตรีได้รับรายละเอียดผลการสรุปของคณะทำงานฝ่ายรัฐและประชาสังคมภายในวันที่ 29 เมษายน 2561 ก็น่าจะได้ข้อมูลเพื่อการพิจารณาตัดสินใจในราวต้นเดือนพฤษภาคมที่จะถึง ซึ่งเราก็หวังว่าท่านจะตัดสินใจได้ดี ด้วยมุมมองที่หลากหลาย เพราะบ้านพักตุลาการไม่ใช่เพียงงบประมาณ กฎหมาย แต่ยังมีความรู้สึกของประชาชน วัฒนธรรมประเพณี ความรักและศรัทธาในดอยสุเทพและผืนป่าแห่งนี้ ดังนั้นในวันที่ 29 เมษายนนี้เช่นกัน ในเวลา 08.00 น. ที่ลานประตูท่าแพ เครือข่ายของเชิญประชาชนชาวเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมกันแสดงพลังและส่งเสียงดังๆ ไปยังนายกรัฐมนตรีให้เห็นความต้องการของเราอีกครั้ง และผมขอใช้โอกาสนี้ส่งเสียงถึงรัฐบาลให้ตัดสินใจตามความต้องการบริสุทธิ์ของประชาชน”

นายบัณรส กล่าวว่า หลังวันที่ 29 เมษายนแล้ว เครือข่ายมีการนัดจัดกิจกรรม ‘ฉันรักดอยสุเทพ’ ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2561 เวลา 17.00-21.00 น. ที่ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ สี่แยกกลางเวียง-ถนนคนเดิน ซึ่งจะมีทั้งนิทรรศการดอยสุเทพที่ฉันรัก บอกรักดอยสุเทพผ่านภาพถ่ายและเรื่องราวในแต่ละสมัย พร้อมคอนเสิร์ตจากศิลปินและนักร้องผู้รักดอยสุเทพ แต่หากมีข่าวดีออกมาก่อนเราก็จะถือเป็นการฉลองชัยที่เราได้พื้นที่ป่าดอนสุเทพคืนมา แต่หากคำตอบที่ได้ไม่ไปในทิศทางที่ถูกต้อง เราจะมีการยกระดับการเคลื่อนไหวเป็นระดมมวลชนให้มากขึ้นในลักษณะ ‘สงครามเก้าทัพ’

ทั้งนี้ที่ประชุมยืนยันว่า ที่่ผ่านมาทางเครือข่ายฯ เคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างบ้านพักตุลาการมาตลอด ซึ่งรวมถึงการออกแถลงการณ์ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2559 ที่ระบุว่า ตามที่ที่ราชพัสดุ ซึ่งอยู่ในความดูแลของมณฑลทหารบกที่ 33 ได้อนุญาตให้ศาลอุธารณ์ภาค 5 ดำเนินการก่อสร้าง อาคารศาลอุทรณ์ภาค 5 และบ้านพักข้าราชการตุลาการ และอาคารชุดของข้าราชการศาลยุติธรรมในตัวจังหวัดเชียงใหม่ โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์ได้ชัดว่ามีความสูงชัน และยังคงเป็นสภาพป่าธรรมชาติที่เชื่อมต่อกับอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ–ปุย อันเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ เมื่อเปิดพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ ประชาชนที่เดินทางโดยเครื่องบิน และใช้เส้นทางบริเวณดังกล่าวสามารถมองเห็นได้ชัดเจนจนเกิดเป็นทัศนอุจาด และข้อข้องใจเรื่องของการรุกล้ำพื้นที่ป่าธรรมชาติเป็นจำนวนมาก เพื่อพัฒนาสิ่งปลูกสร้างของรัฐ

Advertisement

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีความเป็นกังวล ต่อการเพิกถอนพื้นที่ป่า เพื่อนำไปพัฒนาสิ่งปลูกสร้าง หรือใช้เพื่อการดำเนินกิจกรรมอื่นที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการรักษาป่าและพื้นที่อนุรักษ์ที่มีอยู่ให้เป็นแหล่งคุ้มครองสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารให้คงเดิมไว้มิให้เปลี่ยนแปลงไป เพื่ออำนวยประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่รัฐและประชาชนเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต

รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายและการประชาสัมพันธ์รณรงค์เพื่อขอความร่วมมือกับประชาชน รวมถึงปราบปราม ดำเนินคดีกับผู้บุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากขึ้น แต่การอนุญาตให้หน่วยงานรัฐมีการพัฒนาสิ่งปลูกสร้างโดยการทำลายพื้นที่ป่าธรรมชาติ อันเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารและสาธารณะสมบัติของประชาชนคนไทยทั้งประเทศกิจกรรมที่เกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างที่กลับมาทำลายนโยบายและการประชาสัมพันธ์รณรงค์กับสาธารณะชน และยังทำลายความเชื่อมั่นจากประชาชนและภาคเอกชนทั้งประเทศ ว่าการทำลายพื้นที่ป่าเป็นเรื่องที่ใครก็สามารถทำได้โดยง่ายแม้แต่หน่วยงานของรัฐเอง

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงขอให้รัฐบาล ทบทวนการอนุญาตให้หน่วยงานราชการเข้าไปพัฒนาสิ่งปลูกสร้าง หรือการดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่จะมีผลกระทบต่อพื้นที่ป่าธรรมชาติไม่ว่าพื้นที่นั้นจะอยู่ในสถานะทางกฎหมายใดๆ ก็ตาม เพื่อเรียกศรัทธาความเชื่อมั่น และแบบอย่างที่ดีให้กับประชาชนคนไทยกลับคืนมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในตลาดวโรรส และร้านค้าต่างๆ ในและนอกเมืองเชียงใหม่ เริ่มมีการติดป้ายสัญลักษณ์สีเขียว และข้อความว่า ร้านนี้ ไม่ขายของให้..คนบาปทำลายป่า เฮาฮักดอยสุเทพของเฮา และร้านนี้ ไม่ต้อนรับคนทำลายป่า ร่วมใจทวงคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ พร้อมเชิญชวนให้ร่วมลงชื่อใน Change.org ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image