‘มติชน’ จัดใหญ่บุพเพฯเสวนา ‘วิษณุ-วีระศักดิ์’ ร่วมเล่าประวัติศาสตร์ยุคพระนารายณ์ (คลิป)

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 22 เมษายน ที่ห้องประชุมใหญ่ อาคารข่าวสด สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับ สโมสรศลิปรวัฒนธรรมและข่าวสด จัดงาน “บุพเพฯ เสวนา ปรากฎการณ์ออเจ้ากับเรื่องเล่าประวัติศาสตร์” เพื่อมอบสาระและความบันเทิงให้แก่แฟนละครบุพเพสันนิวาส

โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชั้นนำระดับประเทศมาเป็นวิทยากร ประกอบด้วย ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมตรี เป็นองค์ปาฐกถาเปิดงานในหัวข้อ “สยามวิถีและความศิวิไลซ์ในสมัยพระนารายณ์”, นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวเเละกีฬา เสวนาในหัวข้อ “การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์กับบทบาทการตามรอยละคร” ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ นักวิชาการประวัติศาสตร์ และศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “ปรากฏการณ์ออเจ้ากับเรื่องเล่าประวัติศาสตร์”

Advertisement

ได้รับเกียรติจาก นายสมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์, นายเอกภัทร เชิดธรรมธร และนายวิกรานต์ ปอแก้ว ดำเนินการเสวนา และมีนางสาวจันทรา สุขสัจธรร และนาย กรรชา ธนะพันธ์ เป็นล่ามภาษามือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยายกาศภายในงานมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ซึ่งผู้ร่วมกิจกรรมบางส่วนได้เเต่งชุดไทยเข้ามาร่วมฟังเสวนาในครั้งนี้อีกด้วย พร้อมทั้งมีร้านหนังสือในเครือมติชนออกร้านจำหน่ายในราคาพิเศษ

Advertisement

ทั้งนี้ก่อนการเสวนา ในเวลา 13.30 น. น้องนุ่น นางสาวกนกวรรณ วันจันทร์ และน้องโอ๊ต นายอิทธิพล พิมทอง ศิลปินวง S2S (From Street to Star) จากมูลนิธิสถาบันดนตรีคนตาบอดมาร่วมขับกล่อมบทเพลง “จันทร์” จากละครบุพเพสันนิวาส

ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมตรี กล่าวว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีตัวตนอยู่จริง ทรงครองราชย์ยาวนานถึง 32 ปี ยกย่องให้พระองค์เป็นมหาราช พระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของกษัตริย์ไทย ซึ่งคำว่า “มหาราช” นั้นมาจากการรับษาเอกราช การทำสงคราม และการปกป้องรักษาเอกราชของไทย แต่พระนารายณ์นั้นเป็นมหาราชที่ “แปลก” จากมหาราชองค์อื่นๆ คือพระนารายณ์ทรงเป็นมหาราชเพราะมีวิธีการรักษาเอกราช รักษาประเทศชาติ โดยใช้ชั้นเชิงทางการทูต ใช้การเจรจาปกป้องรักษาเอกราช ซึ่งไม่ต่างกับพระเจ้าอยู่หัวราชการที่ 4 ที่ได้ทรงใช้ชั้นเชิงทางการทูตในการรักษาประเทศเช่นกัน

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ในรัชสมัยของพระนารายณ์มีลักษณะเด่น 4 ประการด้วยกัน คือ 1.เริ่มเเละจบรัชสมัยด้วยการปฏิวัติ รัฐประหาร และการยึดอำนาจ สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นสยามวิถีชนิดหนึ่ง 2.มีการทำสงคราม อย่างน้อยคือสงครามเชียงใหม่ 3.เป็นยุคทองของศิลปะวัฒนธรรมและวรรณคดี และ4.เป็นยุคติดต่อกับต่างประเทศ ทำให้อยุธยาเต็มไปด้วยชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำค้าขาย

“นัยยะที่อยู่ในละครบุพเพฯ คือฉากพระนางคุยกันจะเห็นสภาพเเวดล้อมด้านหลังที่มีชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเเขก จีน ชาวตะวันตก ซึ่งมองว่าละครต้องการจะสื่อให้เห็นถึงสภาพบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยความหลากหลายมีชาวต่างชาติอยู่ในอยุธยามากมาย คำถามต่อมาคือ ทำไมคนเหล่านั้นถึงกล้าเข้ามาในอยุธยา และทำไมอยุธยาถึงกล้าให้ชาวตะวันตกเข้ามาเยอะขนาดนี้ นั่นคืออยุธยานั้นมี “เสรีภาพ” ไม่ว่าในการค้าขายและการเผยแพร่ศาสนา มีการเเลกเปลี่ยนทูตไปฝรั่งเศสซึ่งสมเด็จพระนารายณ์กล้าทำอย่างที่กษัตริย์องค์อื่นในอยุธยาไม่กล้าทำ ซึ่งการเดินทางไปฝรั่เศสนั้นเป็นเส้นทางที่เสี่ยงต่อการถูกปล้น เรือจม สามารถเข้าถึงฝรั่งเศสได้ และไม่ใช่ทำอย่างนี้หนเดียว คือทำหลายครั้งมาก” ดร.วิษณุ กล่าว

ดร. วิษณุ ทิ้งท้ายว่า เรื่องราวอยุธยาในสมัยพระนารายณ์นับเป็นเรื่องที่สนุกสนานมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าปี 2231 หลังจากหมดยุคของพระนารายณ์ ทุกอย่างชะงักไปหมดไม่มีการติดต่อกับชาวต่างชาติอีกนาน และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทำให้ประวัติศาสตร์ไทยมาช่วงโชติอีกครั้งหนึ่ง และไม่อย่าให้ปรากฏการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ม้วนเดียวจบ อยากให้คนไทยคงความกระหายใคร่รู้ประวัติศาสตร์ ก่อให้ความอยากรู้ทำให้เกิดความเข้าใจ และต่อยอดสู่การพัฒนาต่อไป

ด้าน นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กล่าวว่ากล่าวว่า ตนตั้งข้อสงสัยว่าทำไมละครเรื่องนี้ดังจนเป็นปรากฏการณ์และเกิดกระเเสขนาดนี้ เพราะเป็นละครที่ไม่ได้ตบตีเเย่งชิงผู้ชาย บุพเพสันนิวาสเสนอภาพในช่วงเวลาของความรุ่งเรืองของไทย เสนอภาพความเชื่อมโยงสยามกับชาติตะวันตกทำให้ผู้ชมที่รับชมละคนเห็นว่าไทยเจริญรุ่งเรืองขนาดไหน อีกทั้ง ทำให้เกิดการขายหนังสือประวัติศาสตร์ มีการเที่ยวโบราณสถาน เห็นการนิยมเเต่งกายชุดไทยเพิ่มมากขึ้น

“ละครนั้นมีความงามในการถ่ายทำ สวยและดูเพลิน ในขณะที่เกิดกระแสละครบุพเพฯนั้น เป็นช่วงที่เตรียมการเทศกาลสงกรานต์ทำให้สามารถต่อยอดชักชวนประชาชนเเต่งกายชุดไทยเล่นน้ำสงกรานต์ได้ เเละจากปรากฏการณ์นี้ ตามโบราณสถานต่างๆ ทางกระทรวงการท่องเที่ยวเเละกีฬาทำงานร่วมกันกับกระทรวงวัฒนธรรม ในการให้ข้อมูลให้ความรู้กับประชาชน มีการจัดกิจกรรม เช่นมีให้แต่งชุดไทยเข้าชมฟรีอีกด้วย” นายวีระศักดิ์ กล่าว พร้อมกับกล่าวต่อว่า ไม่อยากให้เป็นแค่กระเเสสั้นๆ แต่อยากให้เป็นการหิวโหยประวัติศาสตร์ของตน อยากให้ประชาชนสนใจใคร่รู้ทางประวัติศาสตร์มากขึ้น ทำให้เกิดกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์และศึกษาอดีตเพื่อเข้าใจปัจจุบัน

“จากปรากฏการณ์นี้นำไปสู่การนำวัฒนธรรมไทยส่งออกได้หรือไม่ ตอบว่ามีความเป็นไปได้ เป็นไปเเล้ว และจะเป็นไปอีก เพราะเกิดขึ้นเเล้วไม่ว่าจะจีนและประเทศเพื่อนบ้านติดละครไทยเราอยู่เเล้ว ดาราไทยของเราหลายคนมีแฟนคลับเป็นชาวจีนเป็นจำนวนมาก น่าภูมิใจ และคิดว่าสามารถส่งออกทางวัฒนธรรมได้ แต่อย่างไรก็ตาม การรับวัฒนธรรมไทยในต่างแดนนั้นไม่เหมือนกัน สิ่งที่ดังในประเทศจีนอาจจะไม่ดังในอเมริกา อีกทั้งวัฒนธรรมไทยนั้น ติดอันดับวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลของโลก ทำให้คิดว่านอกจากจะขายละคร ขายดารา มีวัฒนธรรมอื่นที่สามารถขายได้เช่นกัน เช่น ขายสินค้าทางวัฒนธรรม อาหาร เป็นต้น” นายวีระศักดิ์ กล่าว

ภายในงานยังมีการมอบของที่ระลึกให้แก่ผู้เข้าร่วมการเสวนาที่แต่งชุดไทยมาร่วมงาน และมีการเปิดตัว ‘ข้ามสมุทร’ ฉบับปกใหม่ (พิมพ์ครั้งที่ 4) นวนิยายที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัล “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด” ครั้งที่ 13 ผลงานจากปลายปากกาของ ดร.วิษณุ เครืองาม ให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้เป็นเจ้าของก่อนใคร

ศ.ดร.สุเนตรกล่าวว่า ตัวละครการะเกดเป็นตัวแทนที่ถกเถียงกับอดีต ละครเรื่องนี้สัมพันธ์กับชีวิตคณบดี หลุดออกไปจากวัง แทบไม่มีบทบาทของข้าราชสำนักเข้ามาเกี่ยวข้อง ละครกลับสัมพันธ์กับวิถีชีวิตประจำวัน อาหารการกิน การขับถ่าย การเข้าห้องน้ำ ถ่ายทอดความเป็นมนุยษ์ ละครเรื่องนี้จึงมีนัยยะที่เป็นสากล มีพลังทางวัฒนธรรม ต่างจากละครที่อิงประวัติศาสตร์เรื่องอื่น เป็นเรื่องต่างชาติเข้าไม่ถึง เป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต ความเป็นพหุวัฒนธรรมไทยที่เป็นอยู่มีมาแต่อดีต ความเป็นพหุไม่จำกัดความหลากหลายทางชาติหรือวัฒนธรรม แต่สะท้อนความหลากหลายทางความคิดด้วย รวมถึงยังสะท้อนเรื่องการเมืองได้อย่างเเนบเนียน เช่น ความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย การโกง ทุจริต เป็นต้น สามารถสะท้อนมายังปัจจุบันได้ด้วย

“กระแสจะตกก็ไม่ต้องห่วง เป็นเรื่องปกติ สภาวะที่เป็นอยู่ขณะนี้คือการโหนกระแส เป็นความไม่ยั่งยืน ความยั่งยืนอยู่ตรงไหน และเราจะหาอะไรมาต่อความยั่งยืนนี้ เราต้องมีอะไรที่ลึกไปกว่านี้ และข้อแตกต่างระหว่างบุพเพสันนิวาสกับแดจังกึมคือ บุพเพสันนิวาสคืออุบัติเหตุ แต่แดจังกึมคือการวางแผน เมื่อเทียบเคียงกับเกาหลี กระแสวัฒนธรรมเกาหลียั่งยืนได้เพราะมีการวางเสาเข็ม มีลำดับขั้นตอน มีนโยบายชัดเจน มียุทธศาสตร์ อะไรก่อนหลัง ต้องการความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง ต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของตลาดที่จะส่งออก แต่ในไทยผู้จัดจะต้องทำการหาข้อมูลด้วยตนเอง แต่ถ้าเรามีเเรงสนับสนุนทางวิชาการ มีการวางเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน มีการวางทิศทางให้เป็นเป้าหมายเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ และจะทำได้ดีอย่างเกาหลี” ศ.ดร.สุเนตรกล่าว

ศ.พิเศษ ธงทองกล่าวว่า เห็นด้วย กับ อ.สุเนตรคือ หนึ่ง ละครและวรรณกรรมที่เห็นส่วนมากเป็นเรื่องเจ้า การกู้ชาติ ไม่มีความเป็นมนุษย์สามัญ ชีวิตสามัญเหล่านี้ผู้คนอยากรู้อยากเห็นว่าคนสมัยก่อนอยู่กันอย่างไร เป็นเรื่องสมจริงที่ไม่ไกลตัวเรา สอง ต้องปลูกสำนึกประวัติศาสตร์ ที่ในอดีตเรามองว่าน่าเบื่อ แต่ในเวลานี้คนสนใจศึกษา อยากรู้ประวัติศาสตร์เพิ่มมากขึ้น

“แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ คือจะมีภาคสอง คิดว่าหนังที่มีภาคสองสู้ภาคเเรกไม่ได้ บางทีเก็บไว้ในความทรงจำเเละนำเรื่องอื่นมาทำแทนดีกว่า และการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในสังคมไทย คิดว่าตำราเรียนเราต้องยกเครื่องใหม่ทั้งหมด ต้องตั้งคำถามว่าจะเล่าเรื่องอะไรในแบบเรียน เรื่องของความหลากหลาย ความเป็นพหุวัฒนธรรม หรือการยอมรับความแตกต่าง ควรมีในแบบเรียนด้วย” ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image