สุดฝืน! นักวิชาการร่ำไห้ หวัง “ป้อมมหากาฬ” เป็นกรณีศึกษา นำบทเรียนช่วยชุมชนอื่น (คลิป)

เมื่อวันที่ 22 เมษายน เวลา 15.00 น. ที่ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพ มีการจัดงาน “อำลามหากาฬ” หลังมีการรื้อถอนบ้านอย่างต่อเนื่อง ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศในชุมชนมีผู้ทยอยเดินทางเข้าร่วมจำนวนมาก ทั้งชาวบ้านที่เคยอยู่ในชุมชน อาจารย์ นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชน อาทิ นางสุนี ไชยรส อดีตกรรมกสรสิทธิมนุษยชน, นางปองขวัญ ลาซูส สมาคมฯสถาปนิกสยาม และนายฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ผู้บริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง, นายจัน ดากา ช่างภาพและนักนสพ.ชาวอิตาเลียนที่บันทึกภาพชุมชนป้อมมหากาฬเป็นเวลาหลายปี เป็นต้น

นาย ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่า ชาวชุมชนป้อมมหากาฬจัดงานวันนี้เพื่อรำลึกอดีต 25 ปีเต็มที่ต่อสู้ ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 26 เราได้รับการสนับสนุนจากผู้สื่อข่าวที่นำเสนอเรื่องราวให้เรียนรู้ ได้รับความอนุเคราะห์จากนักวิชาการซึ่งไม่สามารถกล่าวได้หมด ใจจริงอยากจากไปแบบเงียบๆ แต่ทำไม่ได้ เพราะมีคนที่เคารพ มีพี่น้องภาคประชาสังคม มีคนที่แบ่งปันให้ชุมชนสร้างความเข้มแข็ง มีพี่น้องสื่อที่ตนอยากบอกว่า “อย่าทิ้งเรานะ”

จากนั้น ตัวแทนชาวบ้านได้อ่านบทความเพื่อแสดงความรู้สึก มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

Advertisement

“26 ปีแห่งการต่อสู้ เหมือนเพิ่งเกิดเมื่อวาน วันนี้เราเชิญเพื่อนพี่น้องสหายมาร่วมกัน โดยเป็นการพบเเพื่ออำลาเพื่อปิดฉากสิ่งที่เราทำทุกทางเพื่อรักษาความเป็นชุมชน เส้นทางนี้ผ่านร้อนหนาวทุกข์สุข พบมิตรสหาย มากมาย มีความทรงจำไม่อาจลืมเลือน เผชิญความขัดแย้ง สูญเสีย ความเจ็บปวด อ่อนแอ ต้องพบแรงเสียดทานที่ไม่อาจต้านทานได้อีก และท้ายสุดต้องเผชิญกับการถูกลบจากประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ มันช่างยากจะอธิบายความรู้สึกด้วยอักษรไม่กี่ย่อหน้า หวังว่าทุกคนที่มาในวันนี้ จะร่วมกันบันทึกเรื่องราว สร้างความทรงจำครั้งสุดท้าย หวังว่าเรื่องของเราจะ เป็นกรณีศึกษาต่อไปในการรื้อชุมชนใด ขอให้ตระหนักจากกรณีชุมชนป้อมมหากาฬ”

ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. นักวิชาการสาขาต่างๆ ได้กล่าวแสดงความรู้สึก บรรยากาศเป็นไปอย่างโศกเศร้า นักวิชาการบางรายถึงกับเสียงสั่นและกล่าวทั้งน้ำตา

Advertisement

นางสุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ตนเจอการรื้อชุมชนมามาก ชนะบ้าง แต่แพ้เป็นส่วนใหญ่ ขอให้อย่าเสียใจ ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำ มีปัญหาบางอย่างในด้านกฎหมายที่ทำให้การต่อสู้ของชุมชน ไม่ว่าเก่าแก่หรือไม่ ชนะได้ยาก

“เรื่องนีิกลายเป็นประวัติศาสตร์แล้ว นี่คือเรื่องเสียหายมาก ไม่ใช่แค่บทเรียนในกระดาษ มีเหุตผลมากมายที่ชุมชนต้องอยู่ แต่กลับรักษาไว้ไม่ได้ ขอพูดคำสุดท้ายว่า นี่คือการทำลายรากเหง้า ทำลายความเป็นคน” นางสุนีกล่าวด้วยน้ำตา

นางสุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า นับสิบปีมานี้ ชาวป้อมมหากาฬได้สอนคนไทยให้รับรู้ถึงเรืื่องราวของคุณค่าและการต่อสู้ ปัญหาคือ การเห็นคุณค่าของคนแต่ละกลุ่มนั้นมีไม่เท่ากัน การไม่เห็นคุณค่าไม่ผิด แต่การไม่ศึกษาคือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสังคมไทย”

นางปองขวัญ ลาซุส จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า วันนี้มาในนามส่วนตัว มองว่า ชุมชนนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นชุมชนเก่าแก่ มันสถาปัตยกรรมท้องถิ่น มีบ้านโบราณที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเกาะรัตนโกสินทร์ อยู่อาศัยมายาวนาน ชุมชนนี้มีความกล้าหาญอย่างมาก มีความเอื้ออาทรต่อกัน ขอขอบคุณชุมชนนี้ที่สร้างโอกาสให้คนยุคหลังได้เห็นคุณค่าแม้ภาครัฐจะไม่เห็นก็ตาม สิ่งที่น่าเสียดายคือสิ่งที่เสียไปแล้วจะคืนกลับมาไม่ได้ ขอเป็นกำลังใจให้ชาวบ้าน

นางภารนี สวัดิรักษ์ กล่าวว่าวันนี้ตั้งใจจะไม่ร้องไห้ เพราะเรายังไม่แพ้ เราอาจไม่ได้สิ่งที่จับต้องได้อย่างที่ต้องการ น้ำตาหยดที่นี่หลายหยด แต่ได้รับการยอมรับร่วมกันว่าที่นี่คือชุมชนประวัติศาสตร์ที่มีวัฒนธรรม ได้มีการค้นคว้าหลักฐานมากมาย ทำให้ประวัติศาสตร์บันทึกว่า ชาวบ้านมีส่วนช่วยสร้างเมือง

“สิ่งที่ต้องสู้ต่อมีมากกว่าการรักษาบ้าน เอกสารต่างๆและการต่อสู้ของชุมชนป้อมมหากาฬจะช่วยเหลือชุมชนอื่นๆ บาดแผลของชุมชนนี้จะรักษาบาดแผลไม่ให้เกิดกับชุมชนอื่น” นางภารนีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image