สู่‘วาทกรรมใหม่’ : โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะตอบอย่างไพเราะเพราะพริ้ง ไม่ใช่ด้วยอาการโมโหโกรธาเหมือนที่เคยเป็นว่า “ยังไม่รู้ ยังตอบไม่ได้ ต้องรอความชัดเจนหลังเดือนมิถุนายนไปแล้วจ้ะ” เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า “สถานการณ์วันนี้ คิดว่ามีความจำเป็นต้องเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่”

เป็นการยืนยันถึงท่าทีที่ย้ำมาตลอดในเชิงที่ทำให้ฟังเหมือน “จะสืบทอดอำนาจต่อไปหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่เรื่องที่ตัดสินใจเองได้” ก็ตาม

แต่ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งจาก “พรรคการเมือง” ต่างๆ และ “เครือข่ายแวดล้อม พล.อ.ประยุทธ์” เอง กลับเคลื่อนไปในทางเดียวกัน

คือเชื่อว่า “หลังการเลือกตั้ง” ทีมงานของ “คสช.” ซึ่งมี “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นผู้นำ จะควบคุมอำนาจการบริหารจัดการประเทศต่อไป

Advertisement

ไม่เพียงคณะรัฐมนตรีได้ดึง “ผู้นำพรรคพลังชล” มามีตำแหน่งในรัฐบาล จนก่อเสียงวิจารณ์ถึงการสร้างแนวร่วมเพื่อดำเนินกิจกรรมการเมืองต่อไปของ คสช. และข่าวทำนองเดียวกันนี้ขยายไปหลายพื้นที่โดยเฉพาะจังหวัดที่มีคนตระกูลใดตระกูลหนึ่งสร้างบารมีให้ประชาชนในพื้นที่เคารพนับถืออย่างแน่นแฟ้นเท่านั้น

แต่ยังมีเป็นเรื่องราวของ “พรรคภูมิธรรม” ที่คนในรัฐบาลยอมรับว่าเตรียมจัดตั้งขึ้นมาเป็นฐานทางการเมือง

ความเคลื่อนไหวที่แวดล้อม พล.อ.ประยุทธ์ออกมาเช่นนั้น

Advertisement

ซึ่งส่งผลต่อมุมมองและความเคลื่อนไหวของนักการเมืองอย่างมั่นใจในทิศทาง

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองมายาวนาน เชื่อมั่นว่า “ทุกครั้งหลังรัฐประหาร ถ้ามีการตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนรัฐบาลให้คงอำนาจต่อไป ก็จะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ทุกครั้ง เป็นความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจต่อไป”

ขณะที่ จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย เชื่ออย่างหนักแน่นว่า “จากนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่คำนึงถึงอะไรนอกจากการที่จะทำให้ตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดิน ใช้อำนาจในการเข้ามาทำลายพรรคการเมืองที่ไม่ร่วมมือด้วย แล้วส่งเสริมพรรคการเมืองที่สนับสนุนตัวเอง เพื่อให้นายกฯคนนอกเข้ามาบริหารต่อไปได้โดยไม่มีขวากหนาม”

และจะพรรคเล็กๆ พรรคการเมืองขนาดกลาง และกลุ่ม หรือซุ้มการเมืองในพรรคใหญ่ที่ยังไม่แสดงตัวเป็นสมาชิกพรรคทั้งหลายต่างเชื่อมั่นไม่ต่างไปจากนั้น

ดังนั้น แม้ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังทำเหมือน “จะสืบทอดอำนาจต่อไปหรือไม่ ใช่เรื่องที่จะตัดสินใจเองได้” แต่ทุกกลุ่มทั้งที่เป็นฝ่ายเดียวกัน คนละฝ่าย หรือที่รอเลือกฝ่ายชนะ ล้วนเชื่อไปในทางเดียวกันว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องเดินในเส้นทางอำนาจต่อไป

อาจจะเป็นเพราะความเชื่อเช่นนี้มีความหนักแน่นขึ้นเรื่อยๆ การกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อต่อสู้ทางการเมืองของนักการเมืองจึงเริ่มมีข้อเสนอที่เด่นชัดขึ้นในมุมที่ว่า

“การเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นการต่อสู้ระหว่างผู้ต้องการให้ คสช.สืบทอดอำนาจต่อ กับฝ่ายที่ป้องกันการสืบทอดอำนาจของ คสช.”

จะมีการทำให้เข้าใจง่ายว่า ในบัตรเลือกตั้งที่มีใบเดียวนั้น “อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป จะต้องกาให้พรรคไหน” และ “หากไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีควรจะกาให้พรรคไหน”

การหาเสียงเลือกตั้งจะชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นว่า “จะเลือก พล.อ.ประยุทธ์” หรือไม่

นโยบายของพรรคจะเป็นเรื่อง “สืบทอดหรือไม่สืบทอดอำนาจจากรัฐประหาร”

ข้อเสนอนี้เกี่ยวกับการตัดสินใจกาบัตรเลือกตั้งเช่นนี้จะถูกทำให้ชัดเจนในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนขึ้นเรื่อยๆ ว่าเลือกตั้งครั้งนี้เลือกกันเพื่ออะไร

และผลการเลือกตั้งจะเป็นประชามติให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ว่า “ความชอบธรรมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย” คืออะไร

ซึ่งอาจบางที “รัฐธรรมนูญ” ที่เขียนขึ้นมาอย่างตั้งอกตั้งใจ จะถูกผลการเลือกตั้งชี้ให้เห็นว่าเจตนาของผู้เขียนไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ที่แสดงให้เห็นในผลการเลือกตั้ง

ถ้าผลออกมาเป็นเช่นนั้น ต่อให้สามารถตั้งรัฐบาลได้โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ก็อาจจะเกิดวาทกรรม “เผด็จการรัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาทำลาย เหมือนที่เคยมีวาทกรรม “เผด็จการรัฐสภา” เพื่อทำลายรัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชนมาแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image