‘ทิชา’ ปลื้มศาลฟันคุกขบวนการค้ากามเด็กสาวจ.แม่ฮ่องสอน เชื่อจะสาวไปถึงบิ๊กขรก.ในจังหวัดซื้อบริการได้

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่โรงแรมเอบิน่าเฮ้าส์ หลักสี่ กรุงเทพฯ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิพิทักษ์สตรี แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ และภาคีเครือข่าย จัดเวทีเสวนา “ถอดบทเรียนค้ามนุษย์น้ำเพียงดิน มองถึงเทียร์ 2 (เฝ้าระวัง) ประเทศไทย” ซึ่งมีนักสิทธิสตรี ผู้ทำงานช่วยเหลือสตรี นิสิตนักศึกษา ตลอดจนเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก ร่วมรับฟังกว่า 100 คน

โดย นางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน และผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า สืบเนื่องการดำเนินคดีซื้อบริการเด็กสาวบ้านน้ำเพียงดิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งพบมีข้าราชการหลายระดับมาซื้อบริการ ปรากฏเป็นข่าวเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา ที่ผ่านมาตนมีโอกาสเข้าไปทำงานระหว่างคุ้มครองพยาน ระหว่างนั้นข้อมูลในทางลับก็บอกว่า ผู้เกี่ยวข้องในคดีซึ่งเป็นผู้มีอำนาจ มีการช่วยเหลือกันภายใต้ระบบอุปถัมภ์ มีความพยายามปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันอย่างเป็นขบวนการ ในลักษณะปกป้องเขาก็ปกป้องเรา

แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา ศาลอาญารัชดาได้ตัดสินคดีคดีค้ามนุษย์เด็กต่ำกว่า 18 ปีดังกล่าว กับจำเลย 8 รายที่เป็นผู้จัดหา ให้มีโทษจำคุกตั้งแต่ 8 ไปจนถึง 320 ปี คำตัดสินดังกล่าวทำให้ขบวนการค้ามนุษย์ ระบบอุปถัมภ์ เลี้ยงดูปูเสื่อ แพแตกไปพอสมควร ขณะเดียวกันก็สร้างพลังอย่างมากแก่พยานเด็กสาวทั้ง 3 ราย ที่ต้องชื่นชมและให้กำลังใจว่ากับความพยายามต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม จนทำให้ไม่สามารถบิดเบือนคดี เพื่อช่วยเหลือผู้มีอำนาจได้

“ในคดีค้ามนุษย์ดังกล่าว รากของมันจริงๆคือวัฒนธรรมเลี้ยงดูปูเสื่อ และค่านิคมเฒ่าหัวงูบริโภคเด็ก ซึ่งเด็กอาจรู้ไม่เท่าทันกับระบบทุนนิยมที่อยู่รอบตัวเขา ด้วยความอยากได้อยากมี ผู้ใหญ่ก็อาจเสนอผลประโยชน์ด้วยการให้ลงทุนกับร่างกาย เพื่อตอบสนองกามอารมณ์ของตนเอง ฉะนั้นหากรัฐไม่มีนโยบายบรรทัดฐานจัดการปัญหาเหล่านี้ที่ชัดเจน เราก็จะพบเด็กสาวตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์โผล่จังหวัดต่างๆ เนื่องจากยังเป็นค่านิยมที่มีอยู่ในทุกจังหวัด” นางทิชากล่าวและว่า

Advertisement

จากคดีดังกล่าว ตนไม่อยากให้เป็นเพียงแสงสว่างจ้าชั่วคราวแล้วดับไป แต่ต้องนำมาเป็นบทเรียนจึงมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่รัฐจะต้องส่งเสริมพลังการป้องกันและแก้ไข หรือหากเข้าไปแล้วรัฐจะต้องมีกระบวนการเอ็มพาวเวอร์ระหว่างคุ้มครองพยาน กระทั่งหากคดีถึงที่สุดแล้ว รัฐก็ยังต้องคุ้มครองดูแลพยานในระยะยาว มีการชดเชยค่าเสียโอกาส เพื่อนำไปสู่การได้ใช้ชีวิตใหม่ อย่างคดีนี้ที่เด็กสาวทั้ง 3 คนไม่สามารถกลับไปอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ เพราะคนท้องถิ่นมองว่าเป็นตัวปัญหา อย่างไรก็ตาม ในด้านคดีความยังเหลืออีก 2 คดีที่ต้องดำเนินต่อไป คือคดีสมคบกันค้ามนุษย์ พรากผู้เยาว์กับจำเลย 4 ราย และคดีซื้อบริการทางเพศ ซึ่งมีจำเลยเป็นจำนวนมาก และอาจโยงไปถึงบิ๊กข้าราชการในจังหวัดที่ซื้อบริการ ซึ่งจะตอบคำถามสังคมที่ว่า ทำไมคนซื้อบริการไม่ถูกจับด้วย ตนก็เชื่อว่าจากคำตัดสินในคดีที่ 1 จะมีผลทางจิตวิทยาอย่างมากต่อคดีที่ 2 และ 3 รวมถึงการพิจารณาสั่งฟ้องบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของอัยการสูงสุด

ขณะที่ พ.ต.อ.เผด็จ ภู่บุบผากาญจน ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า คดีดังกล่าวเป็นหนึ่งในการสะท้อนถึงความพยายามของรัฐ ในการต่อต้านและแก้ปัญหาค้ามนุษย์ จากก่อนหน้านี้ที่มีการแก้ไขกฎหมายค้ามนุษย์ ที่ให้คดีค้ามนุษย์มีวิธีพิจารณาความเฉพาะ ไม่รวมกับคดีอาญาทั่วไป มีการเพิ่มโทษอีกเท่าตัวหนึ่งกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเช่นเดียวกับคดียาเสพติด ขณะที่ช่วงนี้ตำรวจ อัยการ และศาลก็กำลังร่วมกันพิจารณาทั้งองคาพยพ เพื่อว่าอะไรยังไม่เอื้อต่อการดำเนินคดีค้ามนุษย์ ฉะนั้นในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือทิปรีพอร์ต ของสหรัฐอเมริกา ที่บอกว่าเราไม่จริงใจแก้ปัญหา มันไม่ใช่ แต่เราให้ความสำคัญ

นางทิชา ณ นคร
พ.ต.อ.เผด็จ ภู่บุบผากาญจน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image