คอลัมน์ Think Tank: ปราบปรามข่าวปลอมหรือปิดกั้นสื่อ?

REUTERS/Stringer

เรื่องแต่งยั่วโทษะให้เดือดดาลเป็นฟืนเป็นไฟที่เสมือนว่าเป็นข่าวจริง เป็นต้นเหตุของภัยคุกคามในประเทศเอเชียหลายแห่งที่มีความแตกแยกด้านเชื้อชาติและศาสนามายาวนาน แต่คำมั่นสัญญาของผู้นำบางคนในภูมิภาคที่จะจัดการกับปัญหานี้ นำมาซึ่งภัยอันตรายที่เท่าเทียมกัน

ผู้นำรัฐบาลที่มีแนวทางเผด็จการบางรายใช้มนตราของ “ข่าวปลอม” เพื่อปกป้องตนเองจากการถูกรายงานข่าวในเชิงลบ เหมือนวิธีการที่มาจากตำราทางการเมืองของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ และผลักดันการออกกฎหมายซึ่งฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์ระบุว่าพุ่งเป้าเล่นงานผู้เห็นต่างมากกว่าจะลงโทษผู้ที่เสกสรรค์ปั้นแต่งข่าวปลอมขึ้นมา

การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในตอนนี้กว้างขวางเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งในพื้นที่ยากจนที่สุด เรื่องแต่งที่เหมือนเป็นข้อเท็จจริงสามารถแพร่กระจายไปบนโซเชียลมีเดียในชั่วข้ามคืนและเข้าถึงผู้คนจำนวนมหาศาลพร้อมกับเกิดผลกระทบร้ายแรงตามมา

ในอินเดียเมื่อปีที่แล้ว ตำรวจ 7 นายถูกฆ่าตายโดยม็อบหลังจากที่ข่าวปลอมแพร่กระจายไปบนวอตส์แอพพ์ว่าพวกเขาเป็นสมาชิกแก๊งลักลอบค้าเด็ก ขณะที่ในพม่า ภาพตัดต่อและรายงานข่าวปลอมหลายชิ้นที่แชร์บนเฟซบุ๊กได้จุดชนวนให้เกิดการไล่ล่าเข่นฆ่าชาวมุสลิมโรฮีนจา

Advertisement

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าผู้นำเอเชียส่วนหนึ่งใช้ประโยชน์จากความกังวลของสาธารณะและออกแคมเปญที่อ้างว่าพุ่งเป้าเล่นงานพวกปล่อยข่าวลือมุ่งร้าย แต่ที่จริงแล้วการรณรงค์ดังกล่าวใช้เป็นการปิดปากสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์และฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

“นิยามที่กำกวมของ ‘ข่าวปลอม’ ซึ่งใช้ในทางที่ผิดโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐเป็นประโยชน์สำหรับรัฐบาลที่ต้องการปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างอิสระที่อยากรู้อยากเห็นมากเกินไป” แดเนียล บัสตาร์ด หัวหน้าประจำโต๊ะข่าวเอเชีย-แปซิฟิกขององค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (อาร์เอสเอฟ) บอก

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เตของฟิลิปปินส์ที่ครั้งหนึ่งเคยเตือนสื่อว่า “เพียงแค่คุณเป็นนักข่าว ไม่ได้หมายความว่าคุณจะรอดพ้นจากการถูกลอบสังหาร” ได้กล่าวหาสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์เขาในเรื่องการทำสงครามยาเสพติดเป็นประจำว่าเผยแพร่ข่าวปลอม

Advertisement

เขาโจมตีหนังสือพิมพ์และสถานีวิทยุโทรทัศน์ชั้นนำอย่างเปิดเผยและเป้าหมายหลักในการปราบปรามของเขาคือ เดอะแรปเพลอร์ เว็บไซต์ข่าวชื่อดัง

ทางการฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกใบอนุญาตองค์กรโดยอ้างว่าแรปเพลอร์ละเมิดกฎหมายการถือครองกิจการโดยต่างชาติ

ในกัมพูชา สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ชื่นชมทรัมป์อย่างเปิดเผยและกล่าวหาสื่อในประเทศที่วิพากษ์วิจารณ์ตนเองว่าเป็น “ข่าวปลอม”

สิ่งนี้ช่วยให้รัฐบาลของเขากวาดล้างสื่ออิสระในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยหนังสือพิมพ์แคมโบเดียเดลีที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างและสถานีวิทยุหลายสิบแห่งต้องปิดตัวลง

บางประเทศพยายามออกกฎหมายเพื่อต่อสู้กับข่าวปลอม จุดชนวนให้เกิดความกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวจะถูกใช้ในการปิดปากผู้ที่เห็นต่าง

ในเดือนนี้ มาเลเซียออกกฎหมายที่ลงโทษผู้ตีพิมพ์เผยแพร่รายงานข่าวปลอมที่มีโทษสูงสุดถึงจำคุก 6 ปี ซึ่งผู้สังเกตการณ์ระบุว่าเป็นความพยายามอย่างชัดเจนที่จะหยุดยั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ซึ่งพัวพันกับเรื่องอื้อฉาวก่อนการเลือกตั้งในเดือนหน้า

สิงคโปร์ได้จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นภาครัฐสภาเพื่อพิจารณามาตรการที่รวมถึงกฎหมายต่อต้านสิ่งที่รัฐบาลเรียกว่าเป็น “เรื่องโกหกหลอกลวงบนออนไลน์ที่สร้างขึ้นมาอย่างจงใจ” ขณะที่ฟิลิปปินส์กำลังพิจารณากฎหมายที่อาจทำให้ผู้ตีพิมพ์เผยแพร่ข่าวปลอมต้องถูกลงโทษจำคุกสูงสุดถึง 20 ปี

คลาริสซา เดวิด ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อของมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์เตือนว่า กฎหมายดังกล่าวในฟิลิปปินส์อาจกลายมาเป็นเพียง “เครื่องมือในการปิดกั้น” ที่ใช้เพื่อ “ปิดปากสื่อที่รายงานข่าวจริงในเชิงลบของกลุ่มอำนาจทางการเมือง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image