รมว.ศธ. ตรวจเยี่ยม MoeNet-Uninet บุรีรัมย์

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจราชการตามนโยบายของรัฐบาล ณ จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมร่วมเปิดงาน Smart Learning Expo ครั้งที่ 1 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ขอนแก่น และได้เยี่ยมชมนิทรรศการ: การเรียนรู้ด้วยนวัตกรรม KKU Smart Learning ภายในงานด้วย ทั้งนี้ นพ.ธีระเกียรติกล่าวว่า โครงการ KKU Smart Learning Academy เป็นอีกโครงการหนึ่งที่มหาวิทยาลัยจะได้บูรณาการองค์ความรู้ของคณาจารย์ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ โดยผ่านนวัตกรรม KKU Smart Learning ซึ่งไม่เพียงแต่การพัฒนาสื่อ นวัตกรรมและแอพพลิเคชั่นเท่านั้น นวัตกรรม KKU Smart Learning ยังหมายรวมถึงการพัฒนาวิธีการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับ learning style ของนักเรียนยุคใหม่ ศตวรรษใหม่ และการใช้สื่อเทคโนโลยีใหม่เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ในโลกดิจิทัลอย่างรู้เท่าทันด้วย

” มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ มีคณาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ จะเป็นกำลังหนึ่งในการหนุนเสริมการจัดการเรียนรู้ของคุณครู ดังเช่น คณะทำงานโครงการ KKU Smart Learning Academy ที่พร้อมจะทำงานและสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ของครู เพื่อจะได้พัฒนาการศึกษาไทย เพิ่มสมรรถนะลูกหลานของเราให้อยู่ในระดับสากล” รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ในภาคบ่ายรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้เดินทางไปที่โรงเรียนพุทไธสง จ.บุรีรัมย์ เพื่อตรวจราชการตามนโยบายของรัฐบาล ในเรื่องของการก่อสร้างอาคารเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม รวมถึงการมอบโต๊ะ เก้าอี้ พระราชทาน และยังได้ประชุมติดตามปัญหาอินเตอร์เน็ต (MOENet) ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในจ.บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ รวมถึงประธานอาชีวศึกษา จ.บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ กศน.จังหวัด อีกด้วย

โดยในเรื่องของการใช้งานอินเตอร์เน็ตในสถานศึกษา จากข้อมูลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 32 (สพม.32) พบว่าโรงเรียนที่มีโครงข่าย Uninet มีจำนวน 56 โรงเรียน และไม่มีโครงข่าย Uninet จำนวน 10 โรงเรียน (ใช้บริการเอกชนในพื้นที่ทดแทน) ซึ่งปัญหาในการใช้งานอินเตอร์เน็ต ได้แก่ ระบบโครงข่าย Uninet ไม่มีเสถียรภาพในการใช้งาน โรงเรียนบางแห่งยังมีปัญหาของโครงสร้างพื้นฐานของระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตภายในโรงเรียน อย่างเช่น อุปกรณ์รับสัญญาณ อุปกรณ์กระจายสัญญาณ อุปกรณ์จัดการระบบเครือข่าย และสายสัญญาณอินเตอร์เน็ต ซึ่งขาดแคลนและอุปกรณ์เก่า เสื่อมสภาพ ชำรุด และไม่ทันสมัย จึงไม่สามารถรับสัญญาณได้เต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางในการบริหารจัดการระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในโรงเรียน

Advertisement

โดยข้อเสนอแนะในการจัดการปัญหาก็คือ จัดหาอุปกรณ์ในการบริหารจัดการระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตให้มีประสิทธิภาพ วางระบบเครือข่ายพื้นฐานอินเตอร์เน็ตที่รองรับอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และควรมีผู้ดูแลระบบที่มีความรู้เฉพาะทางเพื่อให้จัดการระบบอินเตอร์เน็ตได้สูงสุด จากนั้นจึงติดตาม ตรวจสอบ และตรวจเยี่ยมโรงเรียนอย่างเป็นระบบ มีการอบรมให้ความรู้บุคลากรด้านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกลุ่มเครือข่ายระดับสหวิทยาเขต และร่วมกันแก้ไขปัญหาการใช้งานระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ให้ความช่วยเหลือ ดูแล ปรับปรุงแก้ปัญหาโรงเรียนในสหวิทยาเขตที่รับผิดชอบ

ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มโครงการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในสถานศึกษา ค่าใช้จ่ายอินเตอร์เน็ตของสถานศึกษาในสังกัด สพม.32 ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2560 ถึง 31 มีนาคม 2561 ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 795,180 บาทต่อปี ซึ่งคาดว่าเมื่อปรับปรุงอุปกรณ์และโครงข่ายสัญญาณแล้วจะพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image