‘ศูนย์เด็กเล็ก-มัสยิดครบวงจร’ โมเดลเทศบาลตำบลปริก ต้นแบบชุมชนสุขภาวะ

เทศบาลตำบลปริก อ.สะเดา จ.สงขลา เป็นหนึ่งในตำบลสุขภาวะŽ หรือตำบลน่าอยู่Ž ตามแนวทางของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มุ่งเน้นให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางŽขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ในรูปแบบที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในท้องถิ่นนั้นๆ ได้อย่างลงตัว และก่อเกิดประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อชุมชน

ปัจจุบันเทศบาลตำบลปริกได้รับการยกระดับเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการสุขภาวะชุมชนŽ ซึ่งความโดดเด่นของเทศบาลตำบลปริกนั้น คือ การที่ทุกภาคส่วนในชุมชนร่วมมือกันขับเคลื่อนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กŽ และมัสยิดครบวงจรŽ ที่สามารถพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุข

สุริยา ยีขุน

นายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก เล่าว่า เทศบาลตำบลปริกนั้น มีประชากรในทะเบียนราษฎร ณ เดือนสิงหาคม 2560 จำนวน 6,500 คน มี 1,901 ครัวเรือน รวม 7 ชุมชน ร้อยละ 47.56 ทำอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 90 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 10 นับถือศาสนาพุทธ ที่นี่จึงมีมัสยิดมากถึง 7 แห่ง
แต่ถึงแม้พื้นที่แห่งนี้จะมีความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม แต่อยู่กันแบบพี่น้อง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้เอง ที่ทำให้ทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและมัสยิดครบวงจรได้รับการตอบรับที่ดีจากสมาชิกในชุมชน

Advertisement

นายสุริยาเล่าว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนั้น คือ สถานที่ฝึกให้เด็กในช่วงปฐมวัย ซึ่งเป็นลูกหลานของคนในชุมชนมีกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ครูจะเน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ โดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ฝึกเด็กให้กล้าคิด ตั้งโจทย์ และหาคำตอบอย่างมีเหตุผล ซึ่งจะมีกิจกรรมที่เน้นทั้งการทดลองและการคิดวิเคราะห์ อีกทั้งจะมีการสอดแทรกความรู้ด้านสุขภาพ สุขอนามัย เพื่อให้เด็กซึมซับและนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติจนกลายเป็นนิสัยติดตัว 

“แนวทางแบบนี้จะทำให้เด็กกล้าแสดงออก และเติบโตอย่างมีเหตุผล ทั้งนี้ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่อื่นใช้ครูเป็นศูนย์กลาง แต่ที่นี่ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง ทำแบบนี้มา 4-5 ปี ปรากฏว่าเด็กโตมามีคุณภาพมากกว่าที่ครูสอนรูปแบบเดิม แม้ช่วงแรกๆ จะมีปัญหาอยู่บ้างเพราะครูต้องปรับตัวเหมือนกัน วันนี้จึงมีสโลแกนว่า ครูปรับ เด็กเปลี่ยน”Ž นายสุริยากล่าว

Advertisement

สำหรับมัสยิดครบวงจรนั้น นายสุริยาบอกว่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมจำนวนมากที่สุด มีมัสยิดถึง 7 แห่ง จึงได้อาศัยกลไกของมัสยิดเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาสมาชิกในชุมชน เน้นการสื่อสารข้อมูลให้มีความเข้าใจตรงกัน เช่น สื่อสารเรื่องพิษภัยของบุหรี่ การดูแลรักษาสุขภาพ สุขอนามัย หรือแม้แต่การให้ความสำคัญกับขยะ ทั้งการเก็บ คัดแยก แปรรูป และการสร้างรายได้จากขยะ เป็นต้น

“มัสยิด คือ ศาสนสถานศูนย์กลางที่ชาวมุสลิมจะไปรวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ และผู้นำ หรือภาษาอาหรับเรียกว่า อิหม่าม จะเป็นบุคคลสำคัญที่ชาวมุสลิมจะเชื่อฟังในคำสอนต่างๆ ตามหลักศาสนาอิสลาม ดังนั้น อิหม่ามจะสื่อสารและให้ข้อมูลเหล่านี้แก่สมาชิกทุกครั้งที่มีการชุมนุมหรือทำกิจกรรมทางศาสนาในมัสยิดŽ” นายสุริยากล่าว

ด้าน นายธรรมนูญ เสาะแม หรือ อิหม่ามรอซูล บอกว่า มัสยิดดาหรนอาหมันŽ ต.ปริก อ.เมือง จ.สงขลา คือ มัสยิดครบวงจรต้นแบบทั้งการสร้างเสริมสุขภาพและสุขภาวะ มิติทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ แต่ละวันมัสยิดแห่งนี้จะมีชาวมุสลิมเข้าไปทำพิธีละหมาดประมาณ 80-90 คน ยกเว้นวันศุกร์ซึ่งมีพิธีคุตบะห์ ซึ่งอิหม่ามจะต้องขึ้นบัลลังก์สอนหลักศาสนาอิสลาม หรือบอกกล่าวเรื่องราวต่างๆ จะมีสมาชิกเข้าร่วมนับร้อยๆ คน ดังนั้น หากอิหม่ามมีการสื่อสารเรื่องใดออกไป คนเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงกระจายข้อมูลต่อไปได้อีกหลายคน




“ชาวมุสลิมสูบบุหรี่กันมาก เพราะคิดว่าไม่ผิดกฎศาสนาอิสลาม แต่ปัจจุบันมีการพิสูจน์ทางการแพทย์แล้วว่าบุหรี่ทำลายสุขภาพจริงๆ ซึ่งหลักศาสนาอิสลามนั้นระบุว่า อะไรที่เป็นโทษต่อร่างกาย สิ่งเหล่านั้นคือสิ่งต้องห้าม ที่มัสยิดดาหรนอาหมันจึงเน้นสอนให้พี่น้องชาวมุสลิมรู้จักพิษภัยของบุหรี่ และแนวทางการเลิกสูบ ในฐานะอิหม่าม ผมต้องเลิกสูบบุหรี่เพื่อทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง แม้แต่กรรมการมัสยิดก็ต้องทำเป็นตัวอย่าง นอกจากนี้ จะอาศัยการคุตบะห์สื่อสารเรื่องภัยของบุหรี่ และรณรงค์ให้สมาชิกเลิกสูบ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การบังคับ แต่ใช้จิตวิทยาสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจและเลิกไปเอง” Žอิหม่ามรอซูลกล่าว และว่า นอกจากนี้ ยังมีการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม จัดทำโครงการ ขยะมีบุญŽ ตั้งโจทย์กับพี่น้องมุสลิมว่า เกิดมาต้องทำความดีสะสม และให้ผู้อื่นได้รับอานิสงส์ไปด้วย โดยสอนให้รู้ถึงปัญหาและคุณค่าของขยะ

อิหม่ามรอซูลกล่าวว่า วิธีการคือ นัดวันขนขยะไปขายที่มัสยิด มีการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อ ให้พี่น้องในชุมชนรับทราบข้อมูล โดยก่อนส่งมอบขยะให้มีการคัดแยกขยะมาจากบ้านเรือน เมื่อถึงวันนัดจะมีผู้รับซื้อขยะเข้าไปรอที่มัสยิด และจะมีการกำหนดราคาขยะแต่ละประเภท เช่น ขวดใส กิโลกรัมละ 7 บาท ขวดแก้ว กิโลกรัมละ 1 บาท กระป๋องน้ำอัดลม กิโลกรัมละ 30 บาท กระดาษลัง กิโลกรัมละ 3.5 บาท เหล็ก กิโลกรัมละ 6 บาท เป็นต้น ทำให้มีรายได้ประมาณ 6,000 บาทต่อเดือน สำหรับเงินรายได้จากการขายขยะจะมีการนำเข้ากองทุนเพื่อใช้ในการพัฒนามัสยิดและดูแลชุมชน

นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ชุมชนมีความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะ เพราะเป็นเจ้าของสุขภาพ เจ้าของสุขภาวะ มีความสุขและมีความทุกข์อย่างแท้จริง อีกทั้งรู้ดีว่าอะไรเป็นต้นเหตุของปัญหา

“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบล มีโครงสร้างกำลังดี มีองค์กรเกี่ยวข้องทั้งองค์กรระดับท้องถิ่น และหน่วยงานราชการที่เข้าไปช่วยกันสนับสนุนส่งเสริมอย่างพอเหมาะ พอควร สสส.จึงใช้โมเดลของตำบลสุขภาวะขับเคลื่อนสุขภาพและสุขภาวะของคนไทย ปัจจุบันสามารถขับเคลื่อนให้เกิดตำบลสุขภาวะได้กว่า 2,705 ตำบลทั่วประเทศ”Ž นายสุปรีดากล่าว

ทั้งนี้ การจะทำให้ประชาชนหันมาสนใจเรื่องสุขภาวะ และรู้สึกเป็นเจ้าของที่จะต้องลงมาปฏิบัติและดูแลสุขภาวะด้วยตัวเอง ต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนระบบคิดของคนในชุมชนให้เห็นความสำคัญของพื้นที่ และรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ต้องมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งด้วย จึงจะสามารถขับเคลื่อนภารกิจได้อย่างราบรื่นและสำเร็จตามเป้าประสงค์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image