นักวิชาการส่องรายงานสหรัฐ ไทยยังจำกัดสิทธิ-เสรีภาพ แนะเร่งเลือกตั้งช่วยได้

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการและหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา รายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ 200 ประเทศทั่วโลก ประจำปี 2560 โดยในส่วนของประเทศไทย อ้างอิงข้อมูล ปี 2559-2560 ระบุว่ายังมีการจำกัดเสรีภาพและละเมิดสิทธิมนุษยชน


อังคณา นีละไพจิตร

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

อยากให้รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ มองรายงานแบบนี้เป็นกระจกที่สะท้อนว่าประเทศเราถูกมองอย่างไร โดยหลายๆ เรื่องทางกรรมการ กสม.ก็ได้ตรวจสอบ อาทิ การยุติการชุมนุม การใช้เสรีภาพการชุมนุมสาธารณะ และเคยมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลด้วยเพื่อให้ทบทวนการใช้คำสั่งต่างๆ ถ้าหากว่ารัฐบาลได้ปรับปรุงตามข้อเสนอแนะของ กสม.ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ เพราะว่าตอนนี้มีรัฐธรรมนูญแล้ว ประชาชนควรมีเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ด้วย การจำกัดเสรีภาพทำได้เท่าที่จำเป็น อีกทั้งที่ผ่านมา 4 ปี ภายหลังการมีรัฐประหาร เราถูกมองมาตลอดว่ามีการจำกัดเสรีภาพมากขึ้น เช่น เมื่อก่อนมีการเรียกไปปรับทัศนคติ แต่ปัญหาที่สำคัญคือเรื่องการคืนประชาธิปไตยเพื่อให้มีการเลือกตั้ง ก็เชื่อว่าหากเรามีการเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่สัญญาไว้ก็น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาในทางที่ดีขึ้น ไม่อย่างนั้นเราก็จะถูกทวงถามไปเรื่อยๆ

ส่วนที่รัฐบาลออกมาชี้แจงว่าเป็นการดำเนินการตามกฎหมายนั้น ยอมรับว่าเป็นไปตามกฎหมายจริง แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลต้องระมัดระวังคือ ขณะนี้เรามีรัฐธรรมนูญใช้มาครบ 1 ปีแล้ว รัฐบาลก็ต้องเคารพการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชนด้วย ถ้าหากว่ามีคำสั่งหรือออกกฎหมายพิเศษอื่นทำให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ มันก็จะทำให้เราถูกทวงถามในเรื่องของหลักนิติธรรมอยู่แบบนี้

Advertisement

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดอยากให้รัฐบาลปรับปรุง ทบทวนคำสั่งบางฉบับที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญด้วย เพราะสถานการณ์ขณะนี้ไม่ได้มีอะไรที่จะชี้ให้เห็นว่าจะเกิดความไม่สงบ ดังนั้นควรผ่อนปรนก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง


รศ.โคทม อารียา

ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

นอกจากสิทธิมนุษยชนด้านร่างกายแล้ว สิ่งที่ควรจะพูดถึงคือเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเช่นกัน จะเห็นว่าเสรีภาพการแสดงออกในไทยถูกจำกัดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการจำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง รวมถึงคำสั่ง คสช.ห้ามชุมนุมทางการเมือง ซึ่งอ้างถึงความมั่นคงในการเข้าไปจำกัดสิทธิเหล่านี้

Advertisement

แม้ว่ารัฐบาลพยายามบอกกล่าวกับประชาคมโลกว่าสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ เอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ ทำออกมาเป็นนโยบายก็จริง แต่ต้องไปดูฝ่ายปฏิบัติด้วยว่าทำได้หรือไม่

แม้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีนัยสำคัญใดๆ ที่ทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนลดน้อยลง แม้เรามีรัฐธรรมนูญมา 1 ปี ไม่มีใครรู้สึกเลยว่าเราประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว เพราะไม่เห็นถึงความแตกต่าง สิทธิเสรีภาพมีมากขึ้นตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ยังไม่เห็นได้ชัดเจน ทุกอย่างอยู่ในคำสั่งมาตรา 44 ของ คสช.ที่สามารถโยก ย้าย ยุบองค์กร เข้าไปแทรกแซงอะไรก็ได้

อย่างไรก็ตามขอขอบคุณที่รัฐบาลมีนโยบายเคารพสิทธิมนุษยชนใต้จังหวัดชายแดนภาคใต้ และขอให้ตามไปตรวจเรื่องเหล่านี้ให้จริงจัง เพื่อจะได้ลดความรุนแรงลงไปบ้าง


สุรพงษ์ กองจันทึก

ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ข้อเท็จจริงตามที่สหรัฐยกมาเป็นเรื่องจริงอยู่ กรณีที่ยังมีการซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การบังคับบุคคลให้สูญหาย ยังมีเรื่องคนที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมด้วยเหตุไม่ชัดเจน ยังคงมีความรุนแรงแบบนี้อยู่ เป็นความจริงที่เกิดในช่วงที่ผ่านมา เรายังมีความหวังที่จะคลี่คลายเรื่องนี้ได้ถ้ารัฐบาลผ่อนคลาย เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ และนำเข้าไปสู่การเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่ประชาธิปไตย เข้าใจว่าการอ้างว่าทำตามกฎหมายเป็นเพียงเจ้าหน้าที่บางคนพูด ไม่ได้พูดโดยรัฐบาลไทย เป็นการที่บางคนเอามาอ้างในการที่จะกระทำบางอย่าง ประเทศไทยมีกฎหมายที่ดี แต่การบังคับใช้กฎหมาย ประเทศไทยมีการฆ่าคนตาย แต่อ้างว่าเป็นการวิสามัญ เราต้องมาดูข้อเท็จจริง อย่างคดีของนายชัยภูมิ ป่าแส กระแสที่ยกขึ้นมา ตกลงเป็นการวิสามัญฆาตกรรมหรือการฆ่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐกันแน่ เรื่องแบบนี้ยังไม่ชัดเจน

ช่วงที่ผ่านมา รัฐประหารก็ไม่มีอะไรที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่หวังว่าตั้งแต่ต้นปี 2561 เราจะมีการคลี่คลายเรื่องเหล่านี้ลง และเตรียมการไปสู่การเลือกตั้งอย่างแท้จริง ดูง่ายๆ ว่าอย่างน้อยการประกาศ คสช.ทั้งหลาย มาตราที่ประกาศใช้ก็น้อยลง เป็นแนวโน้มที่ดี และหวังว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่การเลือกตั้งที่จะมีในต้นปี 2562

แม้รัฐธรรมนูญใหม่จะไม่ได้ดีมากนัก แต่ก็ยังมีหลักในหลายๆ อย่างที่ใช้ได้อยู่ ปัญหาของบ้านเมืองเราไม่ได้อยู่ที่กฎหมายเท่าไรนัก เพราะเรามีกฎหมายมากพอสมควร แต่เจ้าหน้าที่ไม่มีความเข้าใจและไม่พยายามบังคับใช้กฎหมายตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย


สมชาย หอมลออ

สมชาย หอมลออ

นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

รายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ มีหลายหัวข้อ ทั้งเรื่องสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง สิทธิด้านแรงงาน สิทธิชนกลุ่มน้อยผู้อพยพ ผมคิดว่ารายงานของปี 2017 ไม่ค่อยต่างจากรายงานปีก่อนๆ ซึ่งประเทศไทยปกครองโดยรัฐบาล คสช.

ประเด็นที่สำคัญของรายงานนี้ คือเรื่องสิทธิการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการชุมนุมและสิทธิทางการเมืองอื่นๆ ถูกจำกัด อย่างไรก็ตามในรายงานอาจจะพูดถึงบางประเด็นที่ดีขึ้นจากปี 2015 อย่างเรื่องผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับคดีความมั่นคงต้องขึ้นศาลทหารนั้น ได้ยกเลิกไปแล้ว แต่คดีที่เกิดขึ้นก่อนการยกเลิกคำสั่ง คสช.ยังต้องขึ้นศาลทหารอยู่

นอกจากนั้นยังพูดถึงการเลือกตั้ง โดยใช้คำว่า “ยังไม่มีความแน่นอน” สำหรับสหรัฐ ตามหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การเลือกตั้งหรือสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดรัฐบาลเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก มีการพูดว่านายกฯยังไม่ได้รักษาคำมั่นสัญญาที่ได้แถลงไว้ต่อนานาประเทศในเรื่องการเลือกตั้ง ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีเลือกตั้งเมื่อไหร่ นี่เป็นเสรีภาพในทางการเมือง เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมที่ยังถูกจำกัดอยู่

รวมทั้งการระบุให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามคำสั่งหรือประกาศ คสช.ในการเข้าไปจับกุมผู้ที่อาจจะถือว่าเป็นภัยหรืออันตรายต่อความมั่นคง สามารถควบคุมตัวได้ 7 วัน โดยไม่ต้องส่งตัวไปขออำนาจการควบคุมตัวจากศาล เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

นอกจากนั้นยังพูดถึงประเด็นปัญหาที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น การวิสามัญฆาตกรรม มีการยกคดีของนายชัยภูมิ ป่าแส ซึ่งถูกทหารวิสามัญฆาตกรรม รวมทั้งเรื่องการถูกบังคับสูญหายของบิลลี่ ผู้นำชุมชนกะเหรี่ยง ยังเป็นปัญหาอยู่

ส่วนที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ยังมีการพูดถึงการใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่อยู่ แต่พูดในทางดีว่าความรุนแรงในพื้นที่ลดลง และรัฐบาลสนใจกระบวนการในการเจรจาสันติภาพมากยิ่งขึ้น และไม่มีรายงานการใช้เด็กเข้าไปเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นการใช้เด็กโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือโดยฝ่ายก่อความไม่สงบ ซึ่งก่อนนั้นมีรายงานว่าผู้ก่อความไม่สงบได้ใช้ทหารเด็ก ซึ่งการใช้เด็กเข้าไปเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ด้วยอาวุธ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายต่างประเทศ แต่ปีที่ผ่านมาไม่มีรายงานเรื่องนี้

สำหรับเรื่องการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงาน ด้านหนึ่งเสนอไปในทางที่ดีว่ามีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ มีคดีฟาร์มไก่ธรรมเกษตร ที่ลพบุรี ใช้แรงงาน 14 คนอย่างหนัก ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้นายจ้างชดใช้เงินให้แรงงานเหล่านั้น

กล่าวโดยภาพรวมแล้วมีทั้งที่ดีขึ้น เป็นการดีขึ้นจากปี 2014-2016 เช่น คดีความมั่นคงที่ไม่ต้องขึ้นศาลทหาร หรือความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลง แต่ยังไม่ได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับภาวะปกติ บางกรณียังอยู่กับที่ บางเรื่องก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น รวมทั้งเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งการยกเลิกกฎหมายประกาศคำสั่งต่างๆ ของ คสช.

ส่วนที่ฝ่ายรัฐบอกว่าไม่ได้มีการละเมิดสิทธิ แต่เป็นการดำเนินการตามกฎหมายช่วงแรกหลังรัฐประหารเท่านั้น ขอยกตัวอย่างเช่น คำสั่ง คสช.เกี่ยวกับการห้ามชุมนุม หรือเอาตัวผู้มีความเห็นต่างไปปรับทัศนคติ 7 วัน ยอมรับว่าลดลงไม่เหมือนช่วงแรก แต่กฎหมายคำสั่งเหล่านี้ยังมีอยู่ เจ้าหน้าที่สามารถหยิบขึ้นมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ และยังเห็นใช้ปราบปรามนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามหรือนักศึกษาที่ทำกิจกรรมไม่เห็นด้วยกับ คสช.เป็นครั้งคราว ยังมีการตั้งข้อหาและดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านี้อยู่

รัฐบาลออกกฎระเบียบ กฎหมาย และปฏิบัติในลักษณะที่ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ ทั้งสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล สิทธิเสรีภาพทางการเมือง และสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรม ส่วนหนึ่งที่ประชาชนเห็นก็คือว่า ถ้าเขามีตัวแทนที่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะดีหรือไม่ดี แต่เขายังมองคนเหล่านี้เป็นที่พึ่งพิงได้ ในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไปจำกัด หรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เขาจะมีตัวแทนของเขาเป็นปากเป็นเสียงหรือให้การช่วยเหลือเขาได้ นี่เป็นความรู้สึกทั่วไปของประชาชน แต่ปัจจุบันไม่มีผู้แทน ประชาชนก็ขาดที่พึ่งส่วนนี้ไป

แม้รัฐบาลจะเปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียนต่างๆ เช่น ศูนย์ดำรงธรรม ก็แก้ได้บางราย แต่กรณีทั่วไปมีช่องว่างระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่มาก โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เช่น ตำรวจหรือทหาร ดังนั้นจึงมีเสียงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่เสียงเหล่านี้อาจไม่ได้ดังมาก เพราะเสรีภาพในการแสดงออกหรือการแสดงความเห็น แม้กระทั่งความคิดเห็นทางวิชาการ ยังถูกจำกัดอยู่มาก เช่น กรณี ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสมือนว่าเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู ปรามไม่ให้นักวิชาการออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งจริงๆ แล้ว ดร.ชยันต์ก็ไม่ได้ออกมาแสดงความเห็น แต่ก็ยังถูกตั้งข้อหาตามคำสั่งของ คสช.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image