ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ชวน อ.โบราณคดี ทอดน่อง “คลองบางหลวง” ชี้กรุงเทพมีชุมชนต้นอยุธยา 500 ปีก่อน

เมื่อวันที่ 24 เมษายน เวลา 14.00 น.ที่วัดกำแพงบางจาก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ มีการถ่ายทอดสดรายการ “ขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยว” ตอน ชุมชนเมือง ยุคต้นอยุธยา 500 ปีที่กรุงเทพฯ คลองบางหลวง ผ่านเฟซบุ๊ก “มติชนออนไลน์” เอกภัทร เชิดธรรมธร ดำเนินรายการ มีผู้สนใจรับชมจำนวนมาก

ขรรค์ชัย บุนปาน

นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัทมติชนจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตนมีความคุ้นเคยกับย่านคลองบางหลวงเป็นอย่างดี ในสมัยยังเป็นนักเรียนที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ ได้ชักชวนนายสุจิตต์เดินเท้าจากโรงเรียนมาเยี่ยมเพื่อนคนหนึ่งซึ่งมีบ้านอยู่ในย่านนี้ บรรยากาศในยุคนั้นรายล้อมด้วยเรือกสวนอุดมสมบูรณ์มาก เมื่อเดินผ่าน ตนยังขอผลไม้ชาวบ้านรับประทานเป็นประจำ สำหรับคลองบางหลวงสมัยก่อนใสสะอาดกว่านี้ สภาพชุมชนริมคลองมีความเปลี่ยนแปลงไปบ้างซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาที่สรรพสิ่งต่างๆย่อมต้องเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

“ไม่ได้มาที่วัดกำแพงบางจากนานเป็นสิบปีแล้ว สมัยก่อนเดินมาตามทางสวน วันนี้นั่งรถมา เกือบเข้าไม่ถูก ตอนนี้แถบวัดมีการจัดตลาดน้ำคลองบางหลวง ซึ่งเป็นเรื่องดี ชาวบ้านได้มีอาชีพ มีคนมาคนเที่ยว การบริหารจัดการถ้าทำพื้นที่ให้สะอาด แม่น้ำลำคลองขอให้ภาครัฐดูแลเก็บขยะสม่ำเสมอ” นายขรรค์ชัยกล่าว

สุจิตต์ วงษ์เทศ

นายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือมติชนกล่าวว่า บริเวณคลองบางหลวงนี้สมัยอยุธยาเรียกว่า “คลองบางกอกใหญ่” เชื่อว่าเพิ่งมาเรียกสมัยกรุงธนบุรี เพราะข้าราชการตั้งบ้านปากคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียก “บ้านหลวง” เลยเรียกคลองบางหลวงด้วย นี่คือคำบอกเล่า แต่ไม่มีหลักฐานเอกสารยืนยัน ตนมองว่า ที่เรียกกบางหลวงน่าจะหมายถึงภูมิศาสตร์มากกว่า (หลวงแปลว่าใหญ่) กล่าวคือ สมัยก่อนคลองบางกอกใหญ่กว้างมาก โดยเฉพาะบริเวณที่ปัจจุบันคือวัดกัลยาณมิตร

Advertisement

“สมัยเรียนวัดนวลนรดิศ ขรรค์ชัย พาหนีโรงเรียนมาเที่ยววัดกำแพงบางจาก ผ่านวัดทองศาลางาม ไม่มีบ้านคน มีแต่ต้นไม้ และป่ารก เดินลัดมาเรื่อยๆ แต่จำที่นี่ไม่ได้ จนกระทั่งมาอ่านหนังสือ อยุธยาในย่านกรุงเทพฯ ของ ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ซึ่งเป็นงานวิจัยที่สมบูรณ์มาก อาจกล่าวได้ว่าสมบูรน์ที่สุดในยุคนี้ ควรซื้อเก็บเป็นคัมภีร์ เพราะเกี่ยวพันกับการกำเนิดกรุงรัตนโกสินทร์” นายสุจิตต์กล่าว

นายสุจิตต์ กล่าวอีกว่า หลักฐานในวรรณคดียุคอยุธยาคือ “กำสรวลสมุทร” กล่าวถึงย่านบางจาก บางระมาด และบางเชือกหนัง ว่าเป็นย่านที่มีข้าวของขายมากมาย ส่วนหลักฐานศิลปกรรม มีพระพุทธรูปสำริดปางสมาธิขนาดใหญ่เดิมอยู่ที่วัดศาลาสี่หน้า หรือ วัดคูหาสวรรค์ ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง สะท้อนว่า ย่านนี้ต้องเป็นชุมชนระดับเมืองใหญ่ มีเจ้านายปกครองดูแลมาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา ราว 500 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย นี่คือย่านเก่าสุดของกรุงเทพฯ

Advertisement

ผศ.ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เจ้าของผลงาน “อยุธยาในย่านกรุงเทพ” กล่าวว่า ย่านนี้มีความสำคัญมากปราฏหลักฐานศิลปกรรมยุคกรุงศรีอยุธยาหนาแน่นผิดปกติ อย่างอุโบสถวัดกำแพงบางจาก เป็นอาคารแบบไทยประเพณี มีเครื่องไม้ช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ ก่ออิฐ ผนังสูง สอบขึ้นไป มีมุขโถง เสารองรับชายคา เสาเหลี่ยมย่อมุม มีบัวหัวเสากลีบยาว หรือ “บัวแวง” ซึ่งนิยมสร้างในยุคอยุธยาตอนปลาย มีประวัติว่ามีการบูรณะโดย “ตระกูลพิศาลยบุตร” ซึ่งบรรพบุรุษเป็นคหบดีชาวจีน สำหรับวิหารน้อยขนาบข้างถูกสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการตกแต่งด้วย “ลายเทศ” ที่นิยมสมัย ร.3 ภายในวิหารด้านทิศใต้ เพิ่งค้นพบพระพุทธรูปยุครัตนโกสินทร์หลังวิหารถูกปิดตายมานาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image