นักวิชาการ-เกษตรกร จี้ สนช.ทบทวนเลิกใช้ ‘พาราควอต’

เมื่อวันที่ 24 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิวิทยาศาสตร์การเกษตร จัดแถลงข่าว “สนทนาพาราควอต” ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีนักวิชาการ ประกอบด้วย ศ.เกียรติคุณ นพ.สมชัย บวรกิตติ อดีตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจ และราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ พ.อ.นพ.สุรจิต สุนทรธรรม ผู้รับพระราชทานทุนแพทยศาสตร์ มูลนิธิอานันทมหิดล ศ.นพ.นิพนธ์ พวงวรินทร์ อาจารย์ประจําภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.รังสิต สุวรรณมรรคา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลมีมติให้ยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 2 ชนิด คือ พาราควอต และคลอร์พัยริฟอส ภายในปี 2562 เข้าร่วม

ศ.เกียรติคุณ นพ.สมชัย กล่าวว่า โดยส่วนตัวยังสนับสนุนให้ใช้พาราควอตในแปลงเกษตร เพราะยังมองไม่เห็นผลเสียจากการใช้ เนื่องจากพาราควอตนั้นแม้จะเป็นสารเคมี แต่เป็นสารที่มีพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมน้อยมาก เพราะพาราควอตมีฤทธิ์ทำลายเฉพาะวัชพืช แต่ไม่ตกค้างในดิน ส่วนกรณีที่หวั่นเกรงว่าพาราควอตจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ทำลายระบบทางเดินหายใจนั้น จากประสบการณ์ในการรักษาคนไข้ที่ผ่านมา ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานว่าเกษตรกรสูดดมพาราควอตแล้วป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ แต่ที่พบคือ มีการกินสารชนิดนี้ทั้งแบบไม่ได้ตั้งใจและต้องการฆ่าตัวตาย ซึ่งโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก

ด้าน พ.อ.นพ.สุรจิต กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีสารตัวใดที่จะให้เกษตรกรใช้ทดแทน จากการศึกษาพบว่าในต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ยังมีการใช้สารพาราควอตในแปลงเกษตร แต่ใช้แบบควบคุม โดย 1.ทำภาชนะบบจุสารพาราควอตแบบปิดมิดชิด และใช้หัวฉีดพ่นสารเพื่อป้องกันการรั่วไหลออกสู่ธรรมชาติ 2.มีฉลากกำกับที่ระบุวิธีการใช้ อันตราย และการแก้พิษหากมีการสัมผัส และ 3.จำกัดการใช้เฉพาะผู้ที่ผ่านมาฝึกอบรมแล้วเท่านั้น

ขณะที่ น.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานกลุ่มคนดำเนินรักถิ่น กล่าวว่า จากข่าวที่ออกมาระบุว่าผักและผลไม้จาก จ.ราชบุรี มีสารพิษตกค้างถึงร้อยละ 68 ทำให้พืชผลทางการเกษตรของ จ.ราชบุรี ทั้ง แก้วมังกร พริกแดง กล้วย ชมพู่ทับทิมจันทร์ คะน้า ฯลฯ ได้รับความเสียหาย ราคาตก และถูกผู้บริโภคต่อต้าน ล่าสุดจึงได้ประสานไปยังกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าไปเก็บตัวอย่างผักผลไม้ที่ถูกกล่าวหา ดิน และน้ำ ในพื้นที่เพื่อนำไปตรวจหาสารพิษทางห้องปฏิบัติการ ผลชัดเจนว่าไม่มีสารตกค้างทั้งพาราควอต กลัยโฟเสต และคลอร์พัยริฟอส ซึ่งวันนี้ได้ส่งผลดังกล่าวไปที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้พิจารณาทบทวนมาตรการดังกล่าวแล้ว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image