คอลัมน์ไฮไลต์โลก: สุภาพสตรีหมายเลข 1 เกาหลีเหนือ

คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ และ รี ซอล จู ภริยา (แฟ้มเอเอฟพี)

ภาพที่ปรากฎสู่สาธารณะในยาม คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ออกงาน มักจะต้องเห็น “รี ซอล จู” ภรรยาสาวของผู้นำคิมคอยอยู่เคียงข้างเป็นเงาตามตัวเสมอ แต่เมื่อกว่าสัปดาห์ก่อน รี ซอล จู อดีตนักร้องดาวเด่นแห่งเปียงยางที่เชื่อกันว่าตอนนี้เธอน่าจะอายุราวๆ 29 ปี และมีลูกกับผู้นำคิมด้วยกัน 3 คน ออกมาบินเดี่ยวในระหว่างการไปชมการแสดงบัลเลต์ของคณะบัลเลต์จากจีน

การที่สื่อของทางการเกาหลีเหนือรายงานข่าวการออกงานสังคมของเธอก็น่าจะเป็นเรื่องปกติ แต่ครั้งนี้มีความแตกต่างไปจากครั้งก่อนๆ เพราะที่ผ่านมาการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับตัว รี ซอล จู สื่อทางการจะใช้คำนำหน้าเรียกเธอว่า “สหาย” ดังที่ได้ยินทั่วไปในการเรียกมิตรสหายในชาติคอมมิวนิสต์ หากครั้งนี้สื่อทางการใช้คำเรียกเธอว่า “เฟิร์สเลดี้” สุภาพสตรีหมายเลข 1 ซึ่งนับเป็นการกลับมาใช้คำว่า สุภาพสตรีหมายเลข 1 ในการเรียกภริยาของผู้ปกครองประเทศเกาหลีเหนือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปี หรือนับจากปีพ.ศ.2517 เป็นต้นมา โดยก่อนหน้านั้นเกาหลีเหนือสงวนสถานะนี้ไว้ใช้กับ คิม ซง เอ ภริยาคนที่ 2 ของคิม อิล ซุง อดีตผู้นำและผู้ก่อตั้งประเทศเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นปู่ของผู้นำคิมคนปัจจุบัน

เอเอฟพี

ก่อนหน้านั้นแม้ รี ซอล จู จะออกงานสังคมพร้อมผู้เป็นสามีหลังจากมีการเปิดตัวในปี 2555 แต่บทบาทของเธอมักถูกตีกรอบให้เป็นเพียงภริยาผู้นำที่เป็นผู้หญิงนำสมัยเท่านั้น

การยกสถานะรี ซอล จู เป็นสุภาพสตรีหมายเลข 1 ครั้งนี้ นักวิเคราะห์จึงมองว่าเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของผู้นำคิมที่ต้องการให้โลกมองว่าเกาหลีเหนือเป็นประเทศที่อยู่ใน “ภาวะปกติ” ไม่ได้ผิดแผกแตกต่างไปจากประเทศอื่นที่ภริยาของผู้นำประเทศได้รับการยกย่องสถานะเป็น “เฟิร์สเลดี้” โดยมีขึ้นในช่วงเวลาที่คิม จอง อึน กำลังเตรียมตัวจะพบปะสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์กับผู้นำเกาหลีใต้ และกับผู้นำสหรัฐอเมริกา ดังที่เราได้เห็นพัฒนาการเชิงบวกบนคาบสมุทรเกาหลีเมื่อเร็วๆนี้

Advertisement
เอเอฟพี

นอกจากนี้ยังถูกมองว่าเป็นการยกสถานะของภริยาผู้นำคิมเองให้ทัดเทียมกับนางคิม จอง ซุก สตรีหมายเลข 1 ของเกาหลีใต้ และ นางเมลาเนีย ทรัมป์ สุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐอเมริกา เพื่อที่จะได้ไม่เกิดความรู้สึกอิหลั่กอิเหลื่อกันในระหว่างที่ผู้ปกครองเกาหลีเหนือและภริยาจะได้พบปะกับผู้นำเกาหลีใต้และภริยา รวมถึงการพบปะกับผู้นำสหรัฐอเมริกาและภริยาตามกำหนดนัดหมายที่ปรากฎตามข่าว

เอเอฟพี

อัน ชาน อิล นักวิจัยประจำสถาบันโลกเพื่อเกาหลีเหนือศึกษา มองว่า การยกสถานะของนางรี ซอล จู เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีประสิทธิผลสูงสุด “การประชุมสุดยอดผู้นำที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่บนความทัดเทียม หากเมลาเนีย ทรัมป์ได้เข้าร่วมในวงพบปะ รี ซอล จู ก็ต้องได้เข้าร่วมเช่นกัน”

ขณะนักวิเคราะห์อย่างชิน บอม ชอล จากสถาบันอาซานเพื่อนโยบายศึกษา มองในอีกมุมว่าการยกสถานะของนางรี ซอล จู ให้มีบทบาทบนเวทีสาธารณะมากขึ้น อาจเป็นผลมาจากบาดแผลที่อยู่ในใจของตัวผู้นำคิมเองที่แม่ของเขา “โค ยอง ฮุย” ก็ไม่ได้รับการเชิดหน้าชูตาจากผู้เป็นพ่อของเขาเท่าใดนัก การมองเห็นสิ่งที่แม่ของตนเองเผชิญมา ก็อาจเป็นแรงกระตุ้นให้เขาต้องการยกระดับสถานะภรรยาของตนเองให้สูงขึ้น

Advertisement

ที่ไม่เพียงเป็นการให้เกียรติผู้หญิงที่เป็นคู่ชีวิต แต่ยังเป็นการให้เกียรติตนเองในฐานะลูกผู้ชายคนหนึ่งด้วย!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image