‘บันได 51 ขั้น’ อันซีนลพบุรี เส้นทางเสด็จ ‘ขุนหลวงนารายณ์’ จาก ‘อโยธยา’ สู่ ‘กรุงละโว้’

ใครๆ ก็ว่าไม่อยากให้เป็นแค่กระแส

ต้องยอมรับว่าเป็นอานิสงส์จากออเจ้าโดยแท้ที่ทำให้การท่องเที่ยว การค้าการขายกลับมาคึกคักอีกครั้ง คึกคักแบบที่ไพร่ฟ้าหน้าใส ผู้ค้ารายย่อยที่เกี่ยวข้องกับออเจ้ารับไปเต็มๆ ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านให้เช่า/ซื้อเสื้อผ้า ฯลฯ

ไม่ใช่แค่ที่พระนครศรีอยุธยาหรือลพบุรี แต่ร้านขายเสื้อผ้ารายย่อย แม้กระทั่งตามตลาดนัดที่มีชุดไทยแขวนราวโชว์หน้าร้านก็พลอยขายได้ขายดี

สำหรับที่กรุงเก่าอโยธยา ไม่ว่าจะเป็นที่วัดไชยวัฒนาราม หรือวัดพุทไธศวรรย์ หน้าประตูวัดไม่เคยว่างเว้นผู้คน ตั้งแต่วีกแรกที่บุพเพสันนิวาสออนแอร์ จนเพิ่ม Special Edition ก็แล้ว ยังคงมีบรรดาออเจ้าสวมสไบกางจ้องเดินไปมาให้ว่อนพระนคร

Advertisement

ขยับมาที่ลพบุรี ไม่น้อยหน้าเช่นกัน เมื่อพี่ขุนหมื่นชักม้าพาออเจ้าเที่ยว ชี้ชวนกันชมวังที่ขุนหลวงนารายณ์ประทับ ฉับพลัน “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” ก็ได้ต้อนรับบรรดาออเจ้าจากทั่วพระนคร หรือจะเอ่ยความให้ถูกต้อง-จากทั่วสยาม โดยเฉพาะในยามเสาร์-อาทิตย์ เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ 4-5 เท่าตัว

วังนารายณ์ต้องขยายเวลาปิดทำการ จาก 16.00 น. เป็น 18.30 น.

เท่านั้นยังไม่พอ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี นิภา สังคนาคินทร์ ยังจัดให้มีโครงการแบ่งปันความรู้สู่ประชาชน จัดเสวนาให้ความรู้เพิ่มเติม รวมทั้งมีกิจกรรมบริการชุดไทยให้สวมใส่ฟรี พร้อมเครื่องถนิมพิมพาภรณ์

ขณะที่ทางจังหวัดลพบุรี โดยท่านผู้ว่าฯ สุปกิต โพธิปภาพันธ์ จัดทัวร์ตามรอยละครบุพเพสันนิวาส ยิ่งเพิ่มความครึกครื้นเข้าไปอีก

ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว มาเยือนเมืองละโว้ ไม่อยากให้พลาดสิ่งดีๆ

เพราะนอกจากวังนารายณ์ พระที่นั่งไกรสรสีหราช หรือ พระที่นั่งเย็น บ้านวิชเยนทร์ วัดสันเปาโล ฯลฯ ที่ลพบุรียังมี “อันซีน” อีกหลายแห่งที่รอให้ไปเยือนไปค้นพบเรื่องราวน่าสนใจอีกมากมาย

…ดังเช่น เส้นทางเสด็จพระราชดำเนินจากเมืองหลวงอโยธยา ไปยังเมืองละโว้ ราชธานีแห่งที่ 2 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์

บันไดโบราณ 51 ขั้น ทอดระหว่างตลิ่งริมแม่น้ำลพบุรี เข้าสู่ประตูด้านพระที่นั่งจันทรพิศาล

อะไรคือ ‘บันได 51 ขั้น’

การเดินทางด้วยรถยนต์ที่แสนจะสะดวกสบายไปได้ทุกที่ด้วยเวลาที่รวดเร็วทันใจ ทำให้เราอาจจะละเลยอะไรบางอย่าง

แน่นอนว่า ถ้าเป็นการเดินทางเมื่อก่อนย้อนกลับไปเมื่อ 300 กว่าปีก่อน เมื่อครั้งที่เส้นทางสัญจรหลักคือ ทางน้ำ การเสด็จพระราชดำเนินจากเมืองหลวงอโยธยาสู่เมืองละโว้ ทางที่สะดวกที่สุดย่อมเป็นโดยเรือพระที่นั่ง

ที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ราชธานีแห่งที่ 2 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ถ้าสังเกตให้ดีจะพบประตูวังในส่วนที่ใกล้กับ “พระที่นั่งจันทรพิศาล” มากที่สุด มีท่าน้ำโบราณทอดรออยู่ ใกล้วัดเชิงท่า (ลพบุรี) ที่แทบจะถูกทิ้งร้าง

สันนิษฐานว่านี่คือ ทางเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์อยุธยาที่จะมาลพบุรี

(ขวา) พระที่นั่งจันทรพิศาล

ทำไมต้องเป็น “พระที่นั่งจันทรพิศาล” ?

นั่นเพราะ “พระที่นั่งจันทรพิศาล” เป็นที่เสด็จออกขุนนาง และเป็นที่ประทับฝ่ายใน โดยลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เป็นอาคารทรงยาวจากทิศตะวันออก-ตะวันตก บริเวณครึ่งหลังของอาคารทางด้านตะวันตกเป็นส่วนของที่ประทับ ขณะที่ด้านหน้าฟากทิศตะวันออกจะมีมุขยื่นออกมาเป็นที่เสด็จออกขุนนาง คือส่วนของท้องพระโรง

ท่าน้ำโบราณที่ว่า มีบันไดขั้นเตี้ยๆ 51 ขั้น ทอดลงตลิ่งริมแม่น้ำลพบุรี แม่น้ำสายสำคัญที่เป็นเส้นทางสัญจรจากอยุธยา

“บันได 51 ขั้นเป็นบันไดโบราณ ซึ่งไม่ได้หมายความถึงแค่สมเด็จพระนารายณ์องค์เดียว แต่รวมถึงพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาองค์อื่นๆ ด้วย เนื่องจากเป็นทางเชื่อมระหว่างริมแม่น้ำลพบุรีที่จะเข้าสู่พระราชวังเมืองละโว้ ฉะนั้น อาจจะเป็นตั้งแต่ยุคดั้งเดิมก็ได้ เพียงแต่มีการทำให้เป็นรูปทรงบันไดตั้งแต่ยุคพระนารายณ์เป็นต้นมา”

รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ประจำสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เฉลย และว่า ก่อนหน้านี้ที่เห็นเป็นขั้นบันไดน่าจะเป็น “ทางลาด” เพื่อลงตลิ่ง เช่นเดียวกับทางลาดจากประตูลงไปยังพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เหมาะสำหรับการแห่พระเสลี่ยง เพราะไม่ล้มไม่คว่ำง่าย ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีลักษณะเป็นทางลาดอยู่

“ตรงบันได 51 ขั้น เดิมอาจจะเป็นทางลาดเพื่อจะลงไปท่าน้ำก็ได้ แล้วภายหลังจึงมาฟันเป็นขั้นบันไดเตี้ยๆ พอสุดขั้นที่ 51 ก็ถึงระดับพื้นถนนที่เราเห็นในปัจจุบันจะมีทางลาดขึ้นไปเพื่อเข้าประตูด้านหลังพระที่นั่งจันทรพิศาล

“ฉะนั้น เป็นไปได้ว่าเป็นทางลาดทั้งสองช่วง แล้วต่อมาจึงเปลี่ยนทางลาดช่วงยาวประมาณ 10 เมตรนี้เป็นขั้นบันไดขึ้นมา ส่วนทางลาดที่จะขึ้นประตูพระที่นั่งจันทรพิศาลยังเป็นทางลาดอยู่”

ปรีดี พิศภูมิวิถี

ท่ากษัตริย์-ท่าขุนนาง

ทว่า แม้จะเป็นทางลาดแค่ระยะทางเพียง 10 เมตร รศ.ดร.ปรีดีบอกว่า ถือเป็นว่าเป็นจุดสำคัญ เพราะเวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินจากอยุธยามาลพบุรี ซึ่งต้องเสด็จฯด้วยเรือพระที่นั่งอยู่แล้ว และมาขึ้นที่บริเวณท่าเรือ ซึ่งท่าตรงนี้เราเรียกกันต่อมาว่า “ท่าพระนารายณ์” และเรียกท่าที่ถัดจากท่านพระนารายณ์ว่า “ท่าขุนนาง” แสดงว่าหากคำเรียกนี้ยังมีร่องรอยอยู่ ท่าน้ำนี้ก็คือท่าเสด็จพระราชดำเนิน โดยมีสิ่งตอกย้ำข้อสันนิษฐานนี้คือ ตำแหน่งของท่าน้ำที่ตรงกับประตูวังหลวง เมื่อขึ้นมาจากท่าน้ำแล้วสามารถเข้าวังหลวงได้เลย

“ประตูที่จะเข้าสู่วังหลวง (วังนารายณ์) มีหลายประตู แต่ประตูที่ว่านี้เป็นประตูที่อยู่ใกล้พระที่นั่งจันทรพิศาลมากที่สุด เมื่อเปิดประตูเข้าไปเป็นเขตพระราชฐานชั้นในเลย อยู่ใกล้กับส่วนที่ประทับของพระองค์มากที่สุด ต่างจากประตูอื่นๆ ที่เปิดสู่พระราชฐานชั้นนอกบ้าง พระราชฐานชั้นกลางบ้าง” รศ.ดร.ปรีดีอธิบาย

ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกเค้าเงื่อนสืบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เทียบเคียบกับ “ท่าราชวรดิษฐ์” ก็คือท่าเสด็จพระราชดำเนิน ส่วน “ท่าพระ” ก็คือ ท่าขุนนาง เป็นการแยกกันต่างหากระหว่างท่าพระเจ้าแผ่นดิน กับท่าขุนนาง เพื่อว่าไม่เพียงจะได้ไม่ต้องเดินทับเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน แต่ยังสะดวกในแง่ของการรักษาความปลอดภัยอีกด้วย”

ด้วยเหตุนี้บริเวณโดยรอบจึงไม่ค่อยมีสิ่งปลูกสร้างอื่นมากมาย โดยมากเป็นบ้านเรือน รวมทั้งร่องรอยของสถานีตำรวจภูธร ต.ท่าหิน ซึ่ง ณ วันนี้ย้ายออกไปแล้ว มีร่องรอยของสิ่งก่อสร้างหนึ่งคือแนว “ป้อมปราการ” ลักษณะเป็นป้อมมุมสามเหลี่ยมเหมือนหัวลูกศรยื่นออกมา ซึ่งเป็นลักษณะของป้อมแบบยุโรป เป็น “ป้อมรักษาการณ์หลังพระราชวัง” ริมแม่น้ำลพบุรี

ช่องยืนยามรักษาการณ์ หลังตึกสิบสองท้องพระคลัง ภายในวังนารายณ์ ช่องเล็กๆ ที่เรียงรายคือที่วางตะเกียง

‘ประตูเพนียด’ อีกอันซีนต้องไม่พลาด

ความที่สถานที่ตั้งของ “เพนียดคล้องช้าง” อยู่ในค่ายทหาร “ค่ายพระนารายณ์มหาราช” ทำให้นักท่องเที่ยวอื่นๆ ไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าชม ซึ่งผู้ที่ต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะสามารถทำจดหมายแจ้งความจำนงได้

สำหรับเพนียดคล้องช้าง ตั้งอยู่ในค่ายพระนารายณ์มหาราช มีลักษณะเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ในเอกสารบันทึกการเดินทางของชาวต่างชาติที่เข้ามาในสยามประเทศครานั้น หลายต่อหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงสำราญในการคล้องช้าง ส่วนหนึ่งเพราะในรัชกาลของพระองค์ “ช้าง” เป็นสิ่งสำคัญ นอกจากจะมีช้างเผือกหลายช้าง ช้างยังเป็นสินค้าส่งออกในเขตอินเดีย ปีหนึ่งล้อมได้ถึง 300 เชือก

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเนินดินบริเวณเพนียดคล้องช้างแห่งนี้ ตั้งอยู่ใกล้โบราณสถานที่สำคัญมากแห่งหนึ่ง คือ “ประตูเพนียด” ซึ่งเป็นประตูเมืองโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์และเป็นประตูเมืองเพียง 1 ใน 2 แห่งที่ยังหลงเหลือหลักฐานมาถึงในปัจจุบัน

ประตูเพนียด

ลักษณะสำคัญของ “ประตูเพนียด” คือเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีขนาดสูงใหญ่ก่อด้วยอิฐสอปูน ที่ช่องประตูมีลักษณะเป็นทรงโค้งแหลม ปรากฏแนวกำแพงเมืองช่วงสั้นๆ ก่อด้วยอิฐสอปูน ตั้งขนาบประตูเพนียดอยู่ทั้ง 2 ข้าง เหนือซุ้มประตูเพนียดขึ้นไปประดับตกแต่งด้วยใบเสมา

ประตูเมืองแห่งนี้ได้รับการบูรณะซ่อมเสริมมาตั้งแต่ราวปี พ.ศ.2532 และแม้ว่าจะไม่ปรากฏหลักฐานปีการก่อสร้างที่แน่ชัด แต่เชื่อว่ามีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ อ้างอิงจากบันทึกการเดินทางของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังเมืองลพบุรี กล่าวถึงสถานที่แห่งนี้เป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตั้งแต่เมื่อราวปี พ.ศ.2216

ปัจจุบัน พะเนียดคล้องช้างได้รับประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติจาก กรมศิลปากร ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2479

ภาพประวัติศาสตร์แขวนประดับภายในพระที่นั่งจันทรพิศาล
เหรียญที่ระลึกที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พระราชทานให้คณะทูต
หมู่ตึกสิบสองท้องพระคลัง
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image