วิพากษ์กม.คุมประชานิยม พ.ร.บ.วินัยการเงิน-ดาบ2คม

หมายเหตุ – กรณี พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา มีเนื้อหาในมาตรา 19 ระบุว่า ครม.ต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินอย่างเคร่งครัด และต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง มีความเห็นจากนักวิชาการและแกนนำพรรคการเมือง ดังนี้

พิชัย นริพทะพันธุ์
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และแกนนำพรรคเพื่อไทย(พท.)

รู้สึกเป็นห่วงว่าพรรคการเมืองจะช่วยเหลือคนด้อยโอกาสได้อย่างไร จะเป็นปัญหาแบ่งแยกหรือสองมาตรฐานหรือไม่ เพราะว่าพรรคหนึ่งขอได้อีกพรรคหนึ่งขอไม่ได้หรือไม่ ปัจจุบันประชารัฐเอย ไทยนิยมเอย เป็นประชานิยมไหม ก็ต้องถามให้ชัดเจนว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร หากพรรคเพื่อไทยทำไม่ได้ แล้วพรรคอื่นทำได้จะเป็นปัญหาสองมาตรฐานหรือไม่ เพราะการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากการที่จะให้ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยรัฐไม่ได้สนับสนุนจะเป็นไปไม่ได้ แต่หลักการการช่วยจะช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคตได้อย่างไร ควรจะมีระบบในการช่วย เช่นที่ผมเคยพูดมาตลอดแต่ละพรรคกำหนดไปเลยว่าจะช่วยได้เท่าไหร่ตามสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไม่ทำให้ประเทศล่มจมหรอก

วาทกรรมที่ว่าประเทศล่มจม เป็นวาทะเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้รู้สึกว่า กีดกันพรรคเพื่อไทยที่จะช่วยคนจน สรรค์สร้างความแตกแยกให้คนรู้สึกว่า ทำไมคนชั้นกลางจ่ายเงินเพื่อช่วยคนชั้นล่าง มันไม่ใช่ จริงๆ แล้วตั้งแต่มีประชานิยม 10 ปีมาแล้ว หนี้สาธารณะต่อจีดีพีพึ่งจะ 41-42 เปอร์เซ็นต์เอง ถ้าจะล่มจม ก็ล่มจมไปนานแล้ว แต่นี่ไม่ได้ล่มจมอย่างที่พูด แสดงว่าเป็นวาทกรรมอย่างเดียว ตั้งใจสร้างมาเพื่อให้พรรคเพื่อไทยไม่ชนะการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะตอนแรกมาบอกพรรคเพื่อไทยซื้อเสียง จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะเงินซื้อเสียงไม่ได้ รัฐบาลซื้อเสียงกว่าพรรคเพื่อไทยอีก ประชาชนเลือก เพราะชอบนโยบาย แล้วนี่มาบล็อกนโยบายอีกแล้วจะให้ทำยังไง แต่สุดท้ายแล้ว ที่กังวลคือไม่ได้กีดกันพรรคเพื่อไทย แต่กีดกันคนมีรายได้น้อยจะพัฒนาตนเองไปได้ในอนาคต

คงกระทบกับการหาเสียงของพรรค และต้องกำหนดนโยบายของพรรคให้ชัดว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลยังคงทำอยู่ ทั้งบัตรคนจน ไทยนิยม ถามว่าเป็นประชานิยม การใช้จ่ายของรัฐหรือไม่ อะไรคือข้อจำกัดความของคำว่าใช้ได้กับใช้ไม่ได้ หลักคิดในอดีตของพรรคเพื่อไทยคือช่วยให้คนมีรายได้เพื่อช่วยตัวเองต่อไป แต่ปัจจุบันกลายเป็นว่าแจกกันอย่างเดียว ไม่ได้ทำให้เกิดความสามารถในการหาเงินในอนาคตได้เลย

Advertisement



เกียรติ สิทธีอมร
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐนั้น เมื่อประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะต้องมีผลบังคับใช้กับทุกรัฐบาล รวมทั้งรัฐบาลในปัจจุบันด้วย โดยโครงสร้างตามกฎหมายแล้วจะเป็นในลักษณะของคณะกรรมการที่มีนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมกันรับผิดชอบ คณะกรรมการจะเป็นผู้กำหนดสัดส่วนงบประมาณ หนี้สาธารณะ และงบต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อประเทศ ต่อไปนี้การกำหนดสัดส่วนงบประมาณและหนี้สาธารณะต่างๆ จะต้องใช้ต้องมีการดำเนินงานชัดเจน สิ่งสำคัญคือหากการนำรวมเงินงบประมาณไปใช้ในรูปแบบโครงการประชานิยม
ถามว่าคำว่า ประชานิยม มีเนื้อหาอย่างไรบ้าง ให้ดูในอดีตการสร้างโครงการประชานิยม คือ การทำโครงการที่ทำขึ้นมาแล้วเกิดความเสียหาย เห็นได้ชัดเจนเลยคือกรณีโครงการจำนำข้าว
ถามว่า หากเกิดกรณีอย่างในอดีต เช่น โครงการรับจำนำข้าว ตรงนี้จะเป็นดุลพินิจใครในการตัดสินใจ เพราะในกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ชัดเจนว่าถ้าหากประชาชนเห็นช่องโหว่ของโครงการประชานิยมตรงนี้ จะทำอย่างไร อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกเจอปัญหาเดียวกันคือ โครงการประชานิยมไม่สามารถเห็นผลได้เลยทันทีว่าจะเสียหาย แต่เมื่อดำเนินการไปหลายปีแล้วจะเห็นผลข้างหน้าเป็นรูปธรรมว่าเสียหายหรือไม่

กฎหมายเขียนไว้แต่หลักการว่าต้องทำอย่างไร แต่ไม่ได้มีความชัดเจนว่าใครจะรับผิดชอบ เช่น หากมีผู้ตรวจสอบแล้วชี้ว่าโครงการนี้เป็นประชานิยมอาจขาดทุนหรือสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ จะทำอย่างไร ในอดีตถ้าเราเจอรัฐบาลที่ไม่ฟังใครเลย มีใครเตือนอะไรก็ไม่ฟัง อย่างโครงการจำนำข้าว ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เราสามารถร้องเรียนหน่วยงานไหนได้บ้าง ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบนั้น พ.ร.บ.นี้ยังไม่มีข้อชี้ชัด
ในส่วนของงบกลาง จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะรัฐบาลใดก็ตาม ชอบเอาเงินไปกองที่งบกลางโดยไม่มีความจำเป็น ทั้งที่งบกลางต้องใช้เมื่อมีความจำเป็น หรือโครงการนโยบายแก้ไขเร่งด่วนเท่านั้น ตอนนี้การใช้งบกลางของรัฐบาลไม่มีวินัย

Advertisement

โดยเฉพาะรัฐบาลชุดนี้จะเห็นได้ว่า การใช้งบกลางไม่น่าจะสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้เท่าไหร่ 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้งบประมาณมากกว่า 2 ล้านล้านบาท จริงๆ แล้วทุกคนเห็นได้ชัดว่า อะไรบ้างที่เป็นประชานิยมที่แท้จริง เพราะหลายโครงการไม่มีความยั่งยืน เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เห็นได้ชัด คือโครงการไทยนิยม ที่วางงบประมาณไว้เยอะมาก แต่ความจริงเราได้อะไรกลับมาบ้าง
หากวิเคราะห์ตามหลักการ และวิเคราะห์ตาม พ.ร.บ.นี้เราจะได้ประโยชน์อะไรจากโครงการไทยนิยมของรัฐบาลนี้ และโครงการไทยนิยมถูกต้อง และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.นี้หรือไม่ ยังคงเป็นคำถามที่ทุกคนก็สงสัย

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญคือ การตรวจสอบการทำงานของรัฐวิสาหกิจ ยังเป็นช่องโหว่ เพราะบริษัทรัฐวิสาหกิจเราต้องตรวจสอบได้ แต่ พ.ร.บ.นี้ไม่เขียนการตรวจสอบครอบคลุมไปถึงบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ เพราะฉะนั้นแล้วหากเกิดประเด็นอะไรสำคัญ เกรงว่ารัฐวิสาหกิจจะโยนเรื่องดังกล่าวไปให้บริษัทลูกรับผิดชอบ เราก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ การทำงานของรัฐวิสาหกิจชัดเจนว่า ต้องทำประโยชน์เพื่อสาธารณชนทั้งหมด แต่ที่เราสัมผัสได้คือ บริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจมักทำเพื่อผลประโยชน์ของผู้บริหารรัฐวิสาหกิจมากกว่า ดังนั้น จึงเห็นว่า พ.ร.บ.นี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่ไม่ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาในอดีต


นิกร จำนง
ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)

พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ถือว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ โดยประเด็นที่สำคัญคือความพยายามในการป้องกันไม่ให้มีการใช้งบประมาณไปทำประชานิยม ช่วงที่มีการพิจารณาเรื่องนี้ตอนที่เข้าที่ประชุม สปท. ก็ได้อภิปรายแย้งไปว่าเรื่องนี้เป็นดาบสองคม คมที่หนึ่งคืออาจจะป้องกันและยับยั้งโครงการประชานิยมที่ไม่เหมาะสมหรือเกินเลยได้แบบที่เกิดขึ้นในอดีตได้ เพราะการใช้จ่ายเงินตั้งแต่การตั้งนโยบาย การบริหารในฝ่ายบริหาร และการดำเนินการโครงการต่างๆ จะถูกควบคุมไว้หมด ล็อกไว้หมด แต่อีกด้านหนึ่งจะทำให้ฝ่ายบริหารทำงานได้ยากลำบากมาก โดยฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถนำเสนอปัญหาให้ประชาชนได้เลย เพราะว่าเสนอไป แต่พอรัฐบาลเอาไปทำก็ไปทำไม่ได้ กำหนดงบประมาณไม่ได้

ดังนั้นการใช้เงินเพื่อประโยชน์ของประชาชนในการตอบสนองปัญหาประชาชนที่เป็นอยู่จริงก็จะมีปัญหาตามไปด้วย คือบีบไปหมด เรื่องนี้แก้ไขได้ยาก เชื่อว่าอีกหน่อย พ.ร.บ.ฉบับนี้จะไปสร้างปัญหาในอนาคต ในเชิงปฏิบัติที่เป็นจริงสร้างปัญหาแน่ๆ และความพยายามจะแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้ทำง่ายๆ เพราะเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ด้วย หากต้องแก้ไขก็จำเป็นต้องย้อนไปแก้ถึงรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากๆ

สรุปการแก้ปัญหาในอดีตถ้าไม่ระวังจะสร้างปัญหาใหม่ใหญ่กว่าในอนาคตได้ ต่อจากนี้ฝ่ายบริหารก็จะตอบสนองประชาชนไม่ได้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ตัดสินใจอะไรไม่ได้ เพราะกลัวว่าจะผิดกฎหมาย ที่สำคัญเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจนในเชิงกฎหมายว่าการชี้ว่าผิดใครเป็นคนชี้ สมมุติในการทำนโยบาย กกต.เป็นคนชี้ว่าการใช้เงินตรงนี้ไม่ถูกต้อง แต่ในทางรัฐบาลคนจะชี้ใครจะเป็นคนตัดสินและศาลจะตัดสินอย่างไร เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในเชิงกฎหมาย สรุปกรณีนี้จึงเป็นดาบสองคมคือแก้ปัญหาในอดีตและสร้างปัญหาในอนาคตขึ้นมามากๆ และก็อาจจะแก้ไม่ได้


รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์
คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

ถ้ามองในแง่ของหลักการเห็นด้วยว่า นโยบายของรัฐบาลแต่ละคณะจะต้องคำนึงถึงเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในระยะยาว โดยหลักการต้องเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว ในทางปฏิบัติ ถ้าหากว่ามีคณะรัฐมนตรีใดใช้จ่ายเงินจนเกินตัวแล้วไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้ว่าเงินที่เอามาใช้มาจากไหน อาจจะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในนโยบายนั้นๆ คิดว่าการแข่งขันทางนโยบายควรจะแข่งกันตอนหาเสียงเท่านั้น แต่เมื่อเลือกตั้งแล้ว มีรัฐบาลแล้ว ทุกพรรคการเมืองควรจะหยุดหาเสียงแล้วไปนั่งทำงานกันในสภา นโยบายที่แถลงไว้กับประชาชนก็ต้องปฏิบัติตามนั้น และเข้าใจว่าจุดมุ่งหมายของการออกกฎหมายฉบับนี้คงต้องการควบคุมไม่ให้มีการใช้จ่าย อาจจะประชานิยมหรืออะไรเช่นนั้น พูดไปแล้วประชาชนชอบทั้งนั้น แต่ว่าเสถียรภาพของประเทศสำคัญกว่า เพราะหากไม่คำนึงภาพรวมของประเทศ ใครมาเป็นรัฐบาลแล้วก่อให้เกิดวิกฤตทางการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว อันนี้ถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่ไม่มีความรับผิดชอบกับประเทศ

กรณีการออกพ.ร.บ.โดยระบุว่า คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาวนั้น กระทบต่อการหาเสียงทุกพรรคการเมืองแน่นอน หากพรรคไหนใช้นโยบาย หรือประกาศนโยบายที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อฐานะทางการเงินการคลังของประเทศก็สมควรจะต้องถูกระงับไป

สำหรับข้อเสนอแนะ ระหว่างนี้สิ่งที่ทำได้คือควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น เป็นการให้ความเป็นธรรมกับพรรคการเมืองทุกพรรค และทำให้ประชาชนได้เข้าใจว่าพรรคการเมืองที่เข้ามาต้องมีความรับผิดชอบต่อประเทศยิ่งกว่าคะแนนเสียงที่จะเอาจากประชาชน



ชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนหน้านี้ไม่ใช่ของใหม่ เพียงแต่ไปขยายตัวรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากมองในทางปฏิบัติ ตัวหลักการ และแง่การใช้ย่อมดีอยู่แล้ว อีกทั้งตัวรัฐธรรมนูญมีใช้มาตั้งแต่ปี 2540 เรื่องวินัยทางการเงิน การคลังต่างๆ แต่สังคมไทยเราเลือกปฏิบัติ ทั้งการตรวจสอบ การควบคุม มีการเลือกข้าง เอื้อประโยชน์ เกี้ยเซี้ย อีกทั้งตัวร่าง พ.ร.บ.ออกมาเพื่อให้รัฐรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด หรือให้ฐานะทางการเงินของรัฐมีเสถียรภาพ ตัวนี้เองเดี๋ยวก็มีปัญหา ถึงขนาดว่าคุมเพดานเดี๋ยวก็หาเรื่องอื่นอีก ก่อนได้มากี่เปอร์เซ็นต์ งบกลางใช้ได้ไม่เท่าไหร่ ซึ่งก็ทำกันอยู่ จริงๆแล้วปัญหาที่สุดไม่ได้อยู่ในรัฐบาลเลือกตั้ง แต่ปัญหาที่สุดคือปัจจุบันนี้
ในรัฐบาลนี้กฎหมายประกาศแล้วไม่มีข้อยกเว้นไหนไม่ให้ใช้ เพียงแต่กล้าใช้หรือไม่ เรื่องการอนุมัติเงินงบประมาณต่างๆ เช่น ช่วงที่ผ่านมามีการอนุมัติวันเดียวแป๊บเดียว ถือว่าอยู่ใต้การบังคับใช้กฎหมายนี้ด้วย

ส่วนที่บอกว่า คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและประชาชนนั้น คงเป็นการพูดกันแบบฝากพรรคการเมืองที่ทำนโยบายประชานิยม ประชานิยมเองก็มีหลายอย่าง หลายเรื่อง หลายชื่อ เช่น ประชานิยมไทยเข้มแข็ง ไทยนิยม ประชารัฐ ล้วนแต่เข้าข่ายทั้งหมด แต่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อยู่แล้วว่า ถ้าจะมีนโยบายอะไรต่างๆ ต้องบอกงบประมาณและที่มาของเงินด้วย เวลาหาเสียง พรรคการเมืองต่างๆ ต้องบอกที่มาด้วยว่าได้เงินมาอย่างไร ไม่ใช่พูดเพื่อขายฝันอย่างเดียว

คราวนี้พรรคการเมืองต่างๆ ก็เหนื่อยหน่อย ทั้งพรรคที่กำลังตั้งขึ้น หรือตั้งขึ้นแล้ว การเขียนนโยบายก็ต้องระวัง รวมถึงกระทบการหาเสียงแน่นอน ต้องระวังการพูดให้มากขึ้น เพราะจะพูดไปเรื่อยไม่ได้แล้ว ต้องมีหลักฐาน เดี๋ยวนี้การบันทึกคลิป บันทึกเอกสารต่างๆ ล้วนเป็นหลักฐานหมด โอกาสที่พรรคการเมืองจะผิดพลาดก็มีสูง อาจนำมาเป็นสิ่งที่ลงโทษพรรคได้ตั้งแต่เบาจนสูงสุดถึงขั้นยุบพรรค อาจโดนเหมือนกันหมด ทั้งนักการเมือง พรรคการเมือง ข้าราชการเองก็เช่นเดียวกัน เช่น การตั้งระเบียบต่างๆ ไม่เฉพาะแต่ฝ่ายการเมืองอย่างเดียว แต่เจตนาเขาต้องการเน้นไปที่ฝ่ายการเมือง แต่ว่าฝ่ายการเมืองอย่างเดียวทำไม่ได้ ต้องฝ่ายประจำเสนอไป เช่นเดียวกับฝ่ายท้องถิ่นที่ชงเรื่องเข้าไป สุดท้ายก็ต้องดูด้วยกันใหม่

ขณะเดียวกัน การประกาศ พ.ร.บ.ตอนนี้มองว่าต้องการออกมากันท่า แต่อาจเร็วไปหน่อย และไม่เรียกเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ ทายว่าสักพักหนึ่งคงมีการยกเว้นในแง่การบังคับใช้กับบางมาตรา เหมือนกับกฎหมายแรงงานต่างด้าว เพราะที่คสช.ทำอยู่ทุกวันล้วนเข้าข่ายแบบนี้หมด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image