พบหลักฐานในระบบสุริยะ มี “ดาวเคราะห์” ถูกทำลาย

ภาพแสดงดวงอาทิตย์ และโซนที่เต็มไปด้วยเอมบริโอของดาวเคราะห์หมุนวนอยู่โดยรอบเมื่อกว่า 4,000 ล้านปีก่อน (ภาพ-NASA/JPL-Caltech)

งานวิจัยชิ้นใหม่ของทีมวิจัยจากสถาบัน เฟเดอรัล โพลีเทคนิค สคูล ออฟ โลซานน์ ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ค้นพบเศษอุกกาบาตจำนวนมาก ที่ภายในประกอบด้วยเพชรขนาดเล็กมากมาย เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า ในประวัติศาสตร์ของระบบสุริยะ เคยมีดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง ซึ่งอาจมีขนาดเท่ากับดาวพุธ หรืออาจใหญ่เท่ากับดาวอังคารในเวลานี้ ถูกทำลายทิ้งจากการชนเข้าด้วยกันจนไม่หลงเหลือเป็นดาวเคราะห์อีกต่อไป

ทีมวิจัยดังกล่าวนำโดย ฟาร์ฮัง นาบิอี นักศึกษาระดับปริญญาเอกของสถาบัน เก็บรวบรวมซากอุกกาบาตสีดำเข้มขนาดเล็ก มีขนาดตั้งแต่ 1 เซนติเมตรเรื่อยไปจนถึง 10 เซนติเมตรจำนวน 50 ชิ้นจากพื้นที่ทะเลทราย

นูเบียน ในประเทศซูดาน โดยสันนิษฐานว่า เศษอุกกาบาตเหล่านี้ เกิดจากสะเก็ดดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งพุ่งเข้าชนกับชั้นบรรยากาศของโลกและเกิดเสียดสีกับชั้นบรรยากาศจนเกิดการระเบิดขึ้นที่ความสูงราว 37 กิโลเมตร ในท้องฟ้าเหนือทะเลทรายนูเบียน ส่งสะเก็ดอุกกาบาตขนาดเล็กเหล่านี้กระจายไปทั่วบริเวณ

ทีมวิจัยตั้งชื่อคอลเล็กชั่นอุกกาบาตเหล่านี้ว่า “อัลมาฮัตตา ซิตตา” หรือ “สถานี6” ตามชื่อของสถานีรถไฟซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ทะเลทรายที่พบ อันเป็นสถานีที่อยู่ระหว่างเมือง วาดี ฮัลฟา กับกรุงคาทูม เมืองหลวง

Advertisement
ชิ้นส่วนของเศษอุกกาบาตในคอลเล็กชั่น สถานี6 ในทะเลทรายนูเบียน ประเทศซูดาน (ภาพ-Peter Jenniskens/SETI Institute,NASA Ames)

เมื่อนำเอาเศษอุกกาบาตเหล่านั้นมาตรวจสอบ พบว่าภายในประกอบด้วยเพชรเม็ดเล็กจิ๋วขนาดนาโนเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีองค์ประกอบแบบเดียวกับองค์ประกอบของเพชรที่พบบนโลก อาทิ มี โครไมท์, ฟอสเฟต และไอร์ออน-นิกเกิล ซัลไฟด์ เป็นส่วนประกอบ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการพบส่วนประกอบของเพชรเช่นนี้ในอุกกาบาตที่มีที่มาจากนอกโลก

เพชรขนาดเล็กดังกล่าว สามารถก่อตัวขึ้นได้ภายใต้สภาพแรงกดดันสูงต่อเนื่องเหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในพื้นโลก อย่างไรก็ตาม ยังเป็นไปได้ที่เพชรทำนองนี้จะเกิดขึ้นจากการชนกันอย่างรุนแรงของวัตถุขนาดใหญ่เช่นดาวเคราะห์ในห้วงอวกาศ หลังจากนั้นจะเกิดการทับถมอยู่ในชั้นหินเมื่อสารเคมีอื่นๆ ระเหยไป ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า เพชรขนาดนาโนที่พบจะเกิดขึ้นได้ ต้องอยู่ภายใต้แรงกดดันที่สูงกว่า 20 กิกะปาสกาล ซึ่งเป็นแรงกดดันมหาศาลมากชนิดที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยการทำให้เกิดการระเบิดแรงสูงมากเท่านั้น

ทีมวิจัยระบุว่าแรงกดดันภายในในระดับดังกล่าวนี้ เป็นไปได้ก็ต่อเมื่อวัตถุในอวกาศซึ่งชนกันจนเกิดการระเบิดนั้นมีขนาดใหญ่ตั้งแต่ขนาดของดาวพุธ ขึ้นไปจนถึงขนาดดาวอังคาร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าส่วนของอุกกาบาตที่พบนี้ อยู่ลึกลงไปในพื้นผิววัตถุดังกล่าวซึ่งทีมวิจัยเรียกว่า เอมบริโอของดาวเคราะห์ หรือตัวอ่อนของดาวเคราะห์นี้มากแค่ไหน

การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงสภาพการณ์ในยุคเริ่มแรกของระบบสุริยะ เมื่อประมาณ 4,400 ล้านปีก่อน เชื่อว่าในบริเวณใกล้กับดวงอาทิตย์มี “เอมบริโอดาวเคราะห์” เหล่านี้อยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งของ

เอมบริโอเหล่านี้เกิดรวมตัวกันเข้า กลายเป็นดาวเคราะห์ต่างๆ อย่างที่เรารู้จักกันในเวลานี้ อีกส่วนหนึ่งจะตกลงสู่ดวงอาทิตย์ตามแรงดึงดูด

หรือไม่เช่นนั้นก็จะถูกเหวี่ยงหลุดออกไปสู่อวกาศระหว่างกลุ่มดาวนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image