อรรถวิชช์ ติง งบไทยยั่งยืนหมู่บ้านละ2แสน ข้อห้ามเพียบ แทบทำอะไรไม่ได้เลย

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก ประเด็น รัฐแจกหมู่บ้านละ 200,000 โดยระบุว่า 27 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณทั้งสิ้น 16,474 ล้านบาท ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอมา เพื่อกระจายงบประมาณลงหมู่บ้านเป้าหมาย 82,371 หมู่บ้าน โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 120 วัน ระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม 2561

พอได้ยินข่าวแบบนี้แล้วก็ดีใจครับ ที่รัฐบาลตัดสินใจทุ่มงบประมาณพัฒนาท้องถิ่น สร้างความพร้อมให้ชุมชนสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

แต่เผลอดีใจได้แป๊บเดียวเท่านั้น ก็ต้องกระชากอารมณ์กลับคืนมา เพราะงบประมาณที่ลงไปมีข้อห้ามต่างๆ มากมายเหลือเกิน จนมาคิดดูแล้วชุมชนแทบจะไม่สามารถเอางบประมาณไปใช้อะไรได้เลย

งบประมาณที่รัฐบาลนำลงไปพื้นที่ต่างๆ ถือว่าเป็น “รายจ่ายภาครัฐ” ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เครื่องยนต์ ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อน GDP ภายในประเทศ (การบริโภคภายในประเทศ การลงทุนในประเทศ รายจ่ายภาครัฐ และดุลการค้า) ซึ่งรัฐบาลคงหวังว่างบประมาณส่วนนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากในทุกพื้นที่ทั่วประเทศในชื่อ “ไทยนิยมยั่งยืน”

แต่ดูเหมือนว่างบประมาณเหล่านี้ สุดท้ายคงนำไปเอาไปใช้อะไรไม่ได้ หรือเอาไปใช้ในสิ่งที่ไม่ใช่ความต้องการแท้จริงของประชาชน เพราะเงิน 200,000 บาท ที่รัฐบาลให้แต่ละหมู่บ้าน ตามมาด้วยข้อห้าม 11 ข้อ ประกอบด้วย

Advertisement

1.ห้ามนำไปต่อยอดเงินกองทุนหมู่บ้าน 2.ห้ามนำไปหารเฉลี่ยแบ่งกัน 3.ห้ามแจกจ่ายเป็นเงินหรือสิ่งของ 4.ห้ามนำไปให้กู้ยืม 5.ห้ามดำเนินโครงการฝึกอบรม สัมมนา ศึกษาดูงาน จัดนิทรรศการ 6.ไม่ซ้ำซ้อนแผนงานโครงการของส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ตั้งงบประมาณไว้อยู่แล้ว 7.ห้ามสร้างสิ่งก่อสร้างในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เว้นแต่ได้รับการอนุญาตตามระเบียบกฎหมาย 8.ห้ามก่อสร้างปรับปรุงศาสนสถาน สถานศึกษา สถานที่ของทางราชการ ยกเว้นได้รับอนุญาตให้ดำเนินโครงการในพื่นที่เหล่านี้ 9.ห้ามดำเนินโครงการในที่สาธารณประโยชน์ ยกเว้นซ่อมแซมที่มีอยู่แล้ว หรือโครงการที่เป็นการดูแลป้องกันที่สาธารณประโยชน์ 10.ห้ามจัดทำโครงการซื้อครุภัณฑ์ เว้นแต่ที่จำเป็นเพื่อประกอบโครงการ 11.ห้ามจัดซื้อครุภัณฑ์ยานพาหนะประเภทใช้เครื่องยนต์ หรือเครื่องไฟฟ้า รถยนต์ รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์สื่อสาร เช่น วิทยุสื่อสาร โทรศัพท์มือถือ กล้องวงจรปิด แผงโซลาร์เซลล์ วัสดุครุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้แล้ว และเครื่องออกกำลังกายที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

พอได้อ่านเงื่อนไขทั้ง 11 ข้อ แล้ว เงื่อนไขช่วงแรกๆ เป็นเงื่อนไขที่รับได้สมเหตุสมผล แต่เงื่อนไขข้อท้ายๆ ดูจะจุกจิกมากเกินไปจนมานึกดูแล้ว แทบจะทำอะไรไม่ได้เลย เนื่องจากข้อห้ามไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของชุมชน

ผมเองเคยได้ลงพื้นที่และจัดทำประชาพิจารณ์ร่วมกับประชาชนมาแล้วพบว่า ประชาชนชุมชนเมืองในกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่แล้วต้องการสิ่งจำเป็นต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ประกอบด้วย ไฟส่องสว่าง กล้องวงจรปิด เครื่องขยายเสียงแจ้งเตือนอัคคีภัย รวมถึงการซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภคต่างๆ แต่พอดูแล้วล้วนแต่เข้าข่ายข้อห้ามทั้งสิ้น

Advertisement

การใช้งบไทยยั่งยืน 200,000 บาท มี ข้อห้ามต่างๆ นานา เพราะคิดว่าจะเป็นการป้องกันการทุจริตหรือใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ แต่ความจริงจะกลายเป็นห้ามเสียจนทำอะไรไม่ได้

รัฐควรจะไว้ใจในกลไกของภาคประชาชน และขั้นตอนคณะกรรมการหมู่บ้านหรือชุมชน เพื่อนำเสนอโครงการต่างๆด้วยตัวเอง ให้เค้าได้เลือกในสิ่งที่เค้าต้องการ เพราะสุดท้ายแล้วยังมีคณะกรรมการระดับอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด อนุมัติการใช้งบประมาณค่อยตรวจสอบและช่วยเหลืออยู่ด้วยเช่นกัน

ถ้าจะทุจริตมันก็ทำได้ถึงแม้จะมีข้อห้ามทั้ง 11 ข้อ เช่น บริษัทขายของมาช่วยเขียนโครงการให้กรรมการหมู่บ้านซื้อของไร้คุณภาพของบริษัทตัวเอง และวิ่งเต้นราชการอนุมัติเงิน

ถ้าจะเลวมันมีช่องให้ทำตลอด แต่ถ้าจะดีต้องวางแผนรองรับ เช่น ให้รัฐวิสาหกิจอย่างการไฟฟ้าเข้ามาร่วมตอบโจทย์ด้วย หากความต้องการคือไฟฟ้าส่องสว่าง กล้องวงจรปิด หรือดึงกรมบัญชีกลาง แสดงราคากลางราคาแนะนำแก่ชุมชน สเปกของต่างๆ รัฐช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ชุมชนเพื่อได้ซื้อของดี และตรงกับความต้องการส่วนรวมได้ หรือแม้แต่ผู้รับเหมาซ่อมแซมถนน โครงสร้างงานขนาดเล็กจะให้มีการขึ้นทะเบียนบริษัทเพื่อแนะนำประกอบก็ได้

ดังนั้นอยากให้รัฐบาลตระหนักให้ดี หากอยากให้งบประมาณเกิดมรรคเกิดผลอย่างแท้จริง ก็ต้องมีการให้คำแนะนำต่อหมู่บ้านต่างๆ ด้วย ไม่ใช่กำหนดแต่ข้อห้ามเท่านั้น สุดท้ายงบประมาณไทยยั่งยืน 200,000 บาท ก็จะยัง “ยั่งยืน” อยู่ในธนาคาร เอาออกมาใช้ไม่ได้…หรือถ้าออกมาใช้ได้ก็จะกลายเป็นโครงการที่ไม่ยั่งยืน สักแต่ว่าทำ เพื่อให้เงินที่ให้มาให้หมดไปดีกว่าคืนหลวง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image