‘รสช.’ กับ ‘คสช.’ บทเรียน สามัคคีธรรม และ ‘พลังดูด’

ถามว่าเหตุปัจจัยอันใดทำให้ความพยายามต่อท่ออำนาจของ “รสช.” ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2535 ไม่ประสบความสำเร็จ

คำตอบ 1 เพราะว่า “ชาวบ้าน” รับไม่ได้

เหมือนกับประเด็นที่ว่าชาวบ้านรับไม่ได้นั้นจะรวมศูนย์ไปอยู่ที่ข้ออ้างในการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้นำรสช.

คือยอม “เสียสัตย์เพื่อชาติ”

Advertisement

อาจเป็นเช่นนั้น แต่ในที่สุดแล้วกรณี “ยอมเสียสัตย์เพื่อชาติ” เสมอเป็นเพียงปลายบนสุดของยอดภูเขาน้ำแข็ง

แต่อีกคำตอบ 1 คือ รูปของการจัดตั้ง “พรรค” เพื่อสืบทอด “อำนาจ”

จะเข้าใจประเด็นนี้จะมองเพียง “พรรคสามัคคีธรรม” ไม่ได้ จำเป็นต้องมองไปยัง “พรรคชาติไทย” จำเป็นต้องมองไปยัง “พรรคกิจสังคม” ประกอบด้วย

Advertisement

ขณะเดียวกัน ก็ต้องนึกถึง “ประกาศ รสช.ฉบับที่ 42″

หากเทียบสัดส่วนการประณามหยามเหยียดต่อ “นักการเมือง” ระหว่าง รสช.กับ “คสช.” ต้องยอมรับว่า คสช.เฉียบขาดมากกว่า

เพราะยึดกุมหลัก “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

เพราะรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 สืบทอดไม่เพียงแต่ความเฉียบขาดของ “กปปส.” หากแต่ยังสืบทอดความเฉียบขาดของ “พันธมิตร” ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ด้วย

นั่นก็คือ ฟาดกระหน่ำ “นักการเมือง” เข้าเต็มพิกัด

รสช.อาจไม่ได้ออกแอ๊กชั่นแบบนี้ แต่หากดูประกาศ รสช.ฉบับที่ 42 ในการตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมืองแล้วก็ต้องยอมรับว่าเป็นมาตรการ “เด็ดหัว” นักการเมือง

ถึงกับตั้ง พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ มาเป็นประธานตรวจสอบ

แต่เอาเข้าจริงๆ ชาวบ้านก็ค่อยๆ รับรู้เป็นลำดับว่า รสช.มิได้เอาจริง หากแต่เสมอทำเพื่อนำไปสู่แนวทางอย่างที่รับรู้กันในแวดวงนักเลงว่า “ตีเมืองขึ้น”

ความมาแตกเอาเมื่อหลังการเลือกตั้งบรรดาพรรคการเมืองที่นำโดย “พรรคสามัคคีธรรม” อันถือว่าเป็นพรรคของรสช.นั่นแหละเป็นแกนนำ

แกนนำในการรวมกับพรรคชาติไทย พรรจกิจสังคม

ฟอร์มรัฐบาลขึ้นมาแล้วก็ไปเชิญคนสำคัญของ รสช.ให้ลาออกจากตำแหน่งทางทหารเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

เท่านั้นแหละกระแส “ต้าน” ก็เกิดขึ้น

เริ่มจาก ร.ต.ฉลาด วรฉัตร ประท้วงด้วยการอดอาหาร ตามมาด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม

นั่นแหละคือที่มาแห่งการเคลื่อนไหวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

นั่นแหละคือที่มาแห่งการแบ่งพรรคการเมืองออกเป็น 2 กลุ่มขนาดใหญ่ นั่นก็คือ 1 พรรคเทพ และ 1 พรรคมาร

พรรคใดเป็นเทพ พรรคใดเป็นมารก็รู้ๆ กันอยู่

ปฏิบัติการ “ดูด” จากทำเนียบรัฐบาลไปยังคนของพรรคประชาธิปัตย์ไปยังคนของพรรคพลังชล จึงนำไปสู่นัยประหวัดถึงพรรคสามัคคีธรรม

พรรคสามัคคีธรรม อันถือเป็น “พรรคมาร”

ทำไมจึงเป็นพรรคมาร หาก นายสกลธี ภัททิยกุล อธิบายไม่ได้ หาก นายสนธยา คุณปลื้ม นายอิทธิพล คุณปลื้ม อธิบายไม่ได้

สามารถใช้บริการของพรรคประชาธิปัตย์ได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image