กฟผ.ลุยพลังงานพลังงานทดแทน2โครงการก่อนลุ้นโควต้าพีดีพีใหม่

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ.มีแนวทางการลงทุนด้านพลังงานทดแทนที่สามารถดำเนินการได้ก่อนที่แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่(พีดีพี 2018) จะผ่านการพิจารณาเห็นชอบมี 2 แนวทางคือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ(โซลาร์ลอยน้ำ) กำลังผลิตราว 30-40 เมกะวัตต์ ที่เขื่อนศิริธร จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นการดัดแปลงจากเดิมมีแผนลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ใน 7 โครงการ กำลังผลิตรวม 32 เมกะวัตต์ โดยจะควบรวมเหลือโครงการเดียวเพื่อให้มีขนาดใหญ่และคุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนดคือไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าขายส่งที่ประมาณ 2.40-2.50 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้หารือร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)แล้ว ไม่ได้ติดขัดในหลักการ โดยขั้นตอนจากนี้ กฟผ.จะต้องนำเสนอคณะกรรมการบริหารสำหรับคณะกรรมการ(บอร์ด)ชุดใหญ่พิจารณาเห็นชอบภายในเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ ซึ่งหากได้รับการอนุมัติคาดว่าจะสามารถออกประกาศเชิญชวนเข้าร่วมการประมูลได้ในช่วงปลายปีนี้ โครงการนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 40 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์มั่นใจว่าต้นทุนผลิตไฟฟ้าสนองต่อนโยบายรัฐคือไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟในอนาคต

นายสหรัฐกล่าวว่า อีกโครงการ คือ การลงทุนติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานนำร่อง 2 โครงการของ กฟผ. คือ สถานีไฟฟ้าบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เพื่อรองรับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ขนาด 16 เมกะวัตต์ และสถานีไฟฟ้าชัยบาดาล จ.ลพบุรี เพื่อรองรับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 21 เมกะวัตต์ คาดว่า จะสามารถออกเอกสารเชิญชวนประกวดราคา(ทีโออาร์)ได้ในช่วงกลางปีนี้ หลังจากที่โครงการล่าช้าตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทำให้เปิดเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์(ซีโอดี)ได้ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 จากเดิมคาดว่าจะซีโอดีได้ในช่วงกลางปี 2562 โครงการดังกล่าวจะใช้งบลงทุนต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง ประมาณ 35-38 ล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image