มธ.จับ’พรรคใหม่’ คุยอนาคตการเมือง ยัน แม้เป้าหมายต่าง แต่มุ่ง ปชต.เต็มขั้น

มธ.จับ’พรรคใหม่’ คุยอนาคตการเมือง ยัน แม้เป้าหมายต่าง แต่มุ่ง ปชต.เต็มขั้น

เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต จัดงานเสวนา “ให้พรรคใหม่ทำนาย…กัน : บทบาทพรรคใหม่ต่ออนาคตการเมืองไทย” โดยกลุ่ม Saycular อันเป็นส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการการเมือง มธ. ร่วมเสวนาโดย ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเกรียน นายราเชน ตระกูลเวียง ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคทางเลือกใหม่ และนางสาวชุมาพร แต่งเกลี้ยง ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัญชน โดยมีผู้สนใจร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

นายราเชนกล่าวว่า นับจากวันนี้ย้อนหลังไป 10 ปี บ้านเมืองเราแบ่งฝ่าย แบ่งพวก แบ่งสี เดินหน้าไม่ได้ เกิดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขึ้น ประชาชนบางส่วนคาดหวังว่าเขาจะเข้ามาปฏิรูป เดินหน้าประเทศไทยไปได้ แต่ขณะนี้ผ่านมากว่า 4 ปีแล้ว มีเพียงรัฐธรรมนูญที่เป็นรูปเป็นร่างเท่านั้น ตนและผู้ที่มีอุดมการณ์เดียวกันจึงตัดสินใจทำเพื่อบ้านเมืองในรัฐสภาอย่างถูกต้อง เลยคิดตั้งพรรคการเมือง และใครลงถนนคนนั้นแพ้

“ทางเลือกใหม่ไม่มีโอกาสได้เป็นเผด็จการรัฐสภา เราเป็นพรรคเล็กๆ ที่เริ่มต้นใหม่ แต่จะเป็นทางใหม่ที่สวยงามที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเพื่อเป็นทางเลือกและปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง มั่นใจว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นของใหม่ ไม่ซ้ำการเมืองเดิม เพราะเราไม่มีใครเป็นคนบังคับ หรือจ่ายเงินให้แล้วต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีผู้มีอิทธิพลคอยกำกับ เราเป็นดาวฤกษ์ มีแสงสว่างในตัวเอง มีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ สัญลักษณ์ของตัวเอง มั่นใจว่าเราคือทางเลือกใหม่ของพี่น้องประชาชนคนไทยชนชั้นกลางล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างแท้จริง” นายราเชนกล่าว

Advertisement

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เมื่อพูดถึงคำว่านักการเมือง หรือกิจกรรมทางการเมือง มีความพยายามเหมาว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นภาพที่ทำให้การเมืองเป็นสิ่งสกปรก ส่วนตัวคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความเข้าใจผิด เพราะการต่อสู้ทางการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ด้านหนึ่ง การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเสมือนเป็นศาสนาในบัตรประชาชน โดยการที่เราสามารถพูดกันได้วันนี้ เวทีนี้ มาจากการต่อสู้ของพี่น้องบนท้องถนน กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กลุ่มคนที่กดดันว่าการคงอยู่ของรัฐบาล คสช.เกือบ 4 ปีที่ผ่านมาเพียงพอแล้ว ฉะนั้น เป้าประสงค์ของการเกิดพรรคการเมืองจึงไม่ใช่เพียงสถาบัน หรือองค์กรจดทะเบียน แต่คืออุดมการณ์ เป็นการตลกผลึกการต่อสู้ของคนอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี

“เชื่อว่าพรรคอนาคตใหม่ พรรคสามัญชน หรือพรรคเกรียน มีจุดยืนทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมใกล้เคียงกัน คือต้องการผลักดันให้เกิดเสรีภาพ คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการพยายามผลักดันรัฐสวัสดิการ นี่คือสิ่งที่พรรคการเมืองที่มีมาไม่เคยพูดถึง หรือพูดถึงแต่เต็มไปด้วยข้อจำกัด และสิ่งเป็นไปไม่ได้ เราจะทำลายความเป็นไปไม่ได้ที่เกิดขึ้น พยายามความผลักความเป็นไปได้ชุดใหม่สู่ประชาธิปไตยเต็มขั้น นั่นคือจุดที่ทำให้การเมืองเป็นสิ่งที่ทุกคนเกี่ยวข้อง” ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์กล่าว

นางสาวชุมาพรกล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2557 ถ้าไม่เกิดการรัฐประหารขึ้น อาจได้จดแจ้งพรรคสามัญชนเเล้ว เพราะตั้งแต่สถานการณ์ทางการเมืองบิดเบี้ยว คนที่มีสิทธิมีเสียงไม่สามารถลงคะแนนเสียง หรือเรียกร้องให้มีนโยบายของพวกเขาได้ พรรคสามัญชนจึงอยากเป็นสะพานที่ส่งเสียงของสามัญชนเข้าถึงสภา โดยคำว่า “สามัญชน” คือการอยากทำให้สิ่งที่คนทั่วไปคิดให้เป็นรูปธรรม รวมถึงคนที่มีอำนาจไม่เท่ากัน สามารถคิดเรื่องนโยบายของประชาชนได้

Advertisement

“จะเห็นว่า มีกฎหมายประชาสัมคมเกิดขึ้น แต่เราผลักดันไม่ได้ เพราะกฎหมายอาจไม่ยืดหยุ่นมากพอ หรือติดหล่มอยู่ในสภาที่สุดท้ายเเล้วถูกย่อยจนเป็นกฎหมายที่ไม่มีสิทธิมีเสียง หรือเกิดรัฐประหารจนทำให้กระบวนการที่ต่อเนื่องดำเนินการต่อไม่ได้ อยากเป็นสะพานที่ให้เสียงของสามัญชนเข้าถึงสภา เราต้องการความเปลี่ยนแปลง ต้องการสิ่งใหม่ เชื่อว่าผู้มีอำนาจกลุ่มเดิม นักการเมืองเก่า และทหารกลุ่มเดิมได้ปรับเปลี่ยนหรือออกไป เชื่อว่าประชาชนที่ต้องการจะปรับพลวัตการเมืองเป็นแบบที่ต้องการได้ มีคนถามหลายคนว่า ทำไมพรรคเกรียน พรรคสามัญชน และพรรคอนาคตใหม่ไม่รวมกัน อย่างไรก็ตาม แต่ละพรรคมีจุดมุ่งหมายและเป้าหมายที่ต่างกัน สิ่งที่พรรคสามัญชนกำลังจะทำคือ คาราวานสามัญชนที่ร่วมกันดึงนโยบายจากชาวบ้านมารวมกัน เน้นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ซึ่งมีหลายกลุ่ม เราสนใจเด็กไทยบ้าน เด็กราชภัฏ ขณะที่พรรคอนาคตใหม่สนใจ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น เป็นต้น แค่นี้ก็ต่างกันเเล้ว” นางสาวชุมาพรกล่าว

นายสมบัติกล่าวว่า ประชาชนมีความคาดหวังที่จะมีนักการเมืองที่มีคุณภาพ แต่เมื่อมีโอกาสพูดคุยกับนักการเมืองจำนวนหนึ่ง จะมีคำอธิบายว่า โลกแห่งความเป็นจริงไม่ง่ายขนาดนั้น ทำให้เกิดคำถามว่า 1.ประชาชนสามารถตั้งพรรคการเมืองในแบบของประชาชนได้หรือไม่ โดยไม่ต้องใช้ทุนได้หรือไม่ 2.นโยบายพรรคสามารถทำร่วมกับประชาชน หรือทำนโยบายสาธารณะได้หรือไม่ เนื่องจากต้องการพิสูจน์ว่า ประชาชนธรรมดาสามารถทำพรรคการเมืองเเละกำหนดนโยบายสาธารณะได้ จึงเป็นแรงบันดาลใจในการตั้งพรรคเกรียน

“ทุกครั้งที่เกิดการเลือกตั้งจะเกิดปราฏการณ์ใหม่เสมอ แม้ท้ายที่สุดอาจจะวนจนถึงเกิดการรัฐประหารใหม่ก็ตาม แต่การเลือกตั้งครั้งหน้าก็ไม่เหมือนเดิม และตอนนี้มีปรากฏการณ์น่าสนใจคือ 1.มีปรากฏการณ์ทางสังคมที่ไม่เหมือนเดิม 2.ระบบการสื่อสารของสังคมสามารถสื่อสารในระดับระนาบ และการสื่อสารขององค์กรทางการเมืองสามารถตรงไปถึงประชาชนโดยไม่ผ่านสื่อของรัฐ ทำให้การสื่อสารโดยตรงของพรรคการเมืองตรงไปถึงปัจเจกชนผ่านช่องทางต่างๆ โดยปรากฏการณ์เหล่านี้จะทดสอบอิทธิพลของนักการเมืองเดิมที่ยังหาฐานเสียงแบบเดิม หัวคะเเนนแบบเดิมว่าจะสามารถรักษาฐานเสียงเดิมได้หรือไม่” นายสมบัติกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image