รมว.เกษตร ชี้ ปัญหาเกษตรกรไทย 3 เรื่อง “ขาดต้นทุน-ขาดความรู้-ขาดตลาด”

“กฤษฎา” ชี้ ปัญหาเกษตรกรไทย 3 เรื่อง คือ ขาดต้นทุน-ขาดความรู้-ขาดการตลาด ยัน รบ.ไม่มีนโยบายสั่งโค่นต้นยางเพื่ออัพราคา เผย ประสานคมนาคม-มหาดไทย รับซื้อน้ำยางไปทำถนน พร้อมร่วมมือเวียดนามมาเป็นสมาชิกภาคียางพารา

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 26 เมษายน ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าวในงาน Meet the Press หัวข้อ “ปฏิรูปภาคการเกษตร” ว่า ตลอด 5 เดือนที่เข้ามาทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการอีก 2 คน คือ นายลักษณ์ วจนานวัช และนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ตนได้ค้นทั้งบทวิจัย ลงพื้นที่และอาศัยประสบการณ์ที่ทำงานในท้องที่ภูมิภาคมา 38 ปี พบปัญหาของเกษตรกรไทยมี 3 เรื่องหลัก คือ

1.ทุน เกษตรกรไทยขาดต้นทุน ทั้งเงินสดและเครื่องไม้เครื่องมือ รวมถึงที่ดินและทรัพย์สินที่จะมาใช้ในการผลิต
2.ความรู้เกี่ยวกับการเกษตร ในอดีตอาจมีการใช้ความรู้ทางการเกษตรแบบเดิมๆ ใช้วิธีที่คุ้นเคย ในขณะที่สถานการณ์ของโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป แรงงานในภาคเกษตรน้อยลง แต่เกษตรกรไทยยังใช้ความรู้เดิม จึงไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของตลาด
3. เรื่องการตลาด ตนยืนยันว่าเกษตรกรไทยเป็นเกษตรกรที่มีความขยันที่สุด ตื่นตั้งแต่ตี 4 ตี 5 แต่ปรากฏว่ากลับขายของได้น้อยหรือขายได้ราคาไม่คุ้มกับทุน ทั้งหมดนี้คือโจทย์ที่ตนและรัฐมนตรีช่วยว่าการต้องคุยกับข้าราชการในกระทรวงเพื่อขับเคลื่อนแก้ปัญหา

นายกฤษฎา กล่าวว่า รมว.เกษตรฯคนก่อน คือ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน ซึ่งได้ทำโครงการสำคัญ 15 โครงการที่ถือเป็นเกษตรนวัตกรรมใหม่ เช่น โครงการเกษตรแปลงใหญ่เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในการไปซื้อปัจจัยการผลิต ทำให้ต้นทุนลดน้อยลง และเมื่อผลผลิตออกมาแล้วพ่อค้าก็สามารถมาดูผลิตผลได้ในจุดเดียว หรือโครงการเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ทัศน์ของอดีตรมว.เกษตรฯที่ก้าวทันกับโลกและผู้บริโภคในตลาดปัจจุบันซึ่งต้องการผลิตภัณฑ์การเกษตรที่ดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้ สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือตนได้บอกไปยังข้าราชการของกระทรวงว่าเมื่อไปแนะนำให้ประชาชนปลูกหรือเลี้ยงอะไรก็ตาม ต้องขายได้และมีตลาดรับซื้อ หรือที่เรียกว่า การตลาดนำการผลิต

Advertisement

ส่วนประเด็นสำคัญอย่างแนวทางแก้ไขสินค้าเกษตรตกต่ำนั้น นายกฤษฎายอมรับว่า ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเพราะ ปริมาณของมีมากหรือที่เรียกว่า Over Supply แต่ความต้องการมีน้อย โดยยังไม่ต้องพูดถึงว่าของที่มีนั้นมีคุณภาพหรือไม่ ดังนั้นวิธีการแก้ไขคือ พยายามเปลี่ยนแปลงจากการทำสิ่งที่มากเกินไป ไปทำอย่างอื่นที่ตลาดยังต้องการอยู่

“ยางพาราก็เช่นเดียวกัน จากประสบการณ์ที่อยู่ในภาคใต้มาก่อน เคยมีคนแนะนำ และผมก็เกือบทำ เกือบโดนตำหนิคือ คำแนะนำที่ว่าหากต้องการให้ราคายางสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 60-70 บาท ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่สั่งโค่นยางสัก 1 ล้านไร่ ตอนแรกฟังก็รู้สึกเข้าท่า แต่เมื่อพิจารณาว่ารัฐบาลกำลังรณรงค์ให้ประชาชนปลูกต้นไม้ ถ้ารัฐมนตรีเกษตรฯกลับสั่งล้มสวนยาง มันจะยิ่งไปกันใหญ่ จึงขอยืนยันกับสื่อมวลชนว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายตัดต้นยางพาราทิ้งแต่อย่างใด ยกเว้นในกรณีที่ต้นยางนั้นมีอายุเกิน 25 ถึง 30 ปีขึ้นไป” นายกฤษฎากล่าว

เมื่อถามถึงแนวทางในการดูแลเสถียรภาพของราคายางพารา นายกฤษฎากล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตยางมากที่สุดในโลก และราคาถูกกำหนดโดยการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยส่งออกยางพารา จำนวนกว่าล้านตัน แต่เพราะตลาดต่างประเทศค่อนข้างผันแปร เพราะมีทั้งการซื้อขายจริงและการซื้อขายในตลาดล่วงหน้า ซึ่งไทยเสียเปรียบเพราะการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าทำขึ้นใน 3 ตลาด คือ ที่ตลาดเซี่ยงไฮ้ โตเกียว และสิงคโปร์ โดยใช้ค่าเงิน US Dollar ราคายางไทยจึงไปอิงกับราคา US Dollar ซึ่งปีนี้ค่อนข้างโชคร้าย เพราะค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้น ส่วนวิธีการแก้ไขนั้น จากที่ทราบจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) คือจะให้ส่วนราชการของรัฐหันมาใช้ยาง ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรฯก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่พยายามประสานกับส่วนที่มีการใช้ยางเยอะ เช่น กระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย ในส่วนกระทรวงมหาดไทยคือกรมทางหลวงชนบท ซึ่งขณะนี้ได้บอกแล้วว่าให้กำหนดสเปคของถนนระหว่างเมือง ถนนระหว่างตำบลให้มีส่วนผสมของยางพารา ส่วนกระทรวงมหาดไทย ได้ประสานให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เชิญอบต. เทศบาลหรืออบจ. ให้ใช้ยางพาราไปทำถนน

“โครงการนี้เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ต้องยอมรับว่าในช่วงต้นมีความขรุขระในการดำเนินโครงการ แต่เมื่อถึงเดือนมีนาคมและเมษายน ได้ปรับให้กระทรวงคมนาคมออกสเปคใหม่ว่าน้ำยาที่ไปผสมทำถนนนั้นสามารถใช้น้ำยาข้นได้ไม่ต้องรอผสมเป็นน้ำยางข้น ทั้งนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรที่กยท. รับรองได้ จะเห็นได้ว่าในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ มีการรับซื้อน้ำยางเพียง 800 ตันเท่านั้น ถือว่าน้อยมาก เพราะ เป้าหมายเราต้องการ 2 แสนตัน แต่เมื่อมาถึงวันนี้ หมดไปแล้ว 3 หมื่นตัน ตัวเลขล่าสุดคาดว่าในเดือนพฤษภาและมิถุนายน มั่นใจว่าตัวเลขจะขยับขึ้นไปเป็นแสนตัน และเมื่อสิ้นเดือนกันยายนคาดว่าจะถึง 2 แสนตัน ตามที่กำหนดไว้ ซึ่งมีโอกาสให้ราคายางปรับขึ้นกิโลกรัมละ 60-70 บาท” นายกฤษฎากล่าว

นายกฤษฎากล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้ประสานกับเวียดนามมาเป็นสมาชิกภาคียางพารา ที่ประกอบด้วยไทย อินโดนีเซียและมาเลเซียด้วย อีกทั้งจะมีการตั้งคณะกรรมการกำหนดราคายาง โดยจะชัดเจนในเดือนพ.ค.นี้ เพื่อกำหนดมาตรฐานราคายางร่วมกัน ส่วนที่มีการระบุว่ามาตรการลดส่งออกยางของไทย เป็นการเปิดโอกาสให้เวียดนามส่งออกมากขึ้นนั้น ยอมรับว่ามาตรการครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นครั้งที่ 5 ไม่ประสงความสำเร็จเหมือนครั้งก่อนๆ แต่อย่าลืมว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงินบาทที่แข็งตัวด้วย

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามแม้บางส่วนมองว่าขณะนี้ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้นเพียงไม่กี่ชนิดนั้น แต่ตนพูดได้เต็มปากว่ารายได้เกษตรกรจะไม่ลดลง ซึ่งเป็นฝีมือของรัฐบาลในมาตรการต่างๆ รวมถึงไม่ทำให้ราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพสูงขึ้น และจากนี้จะมีเงินเข้ากระเป๋าเกษตรกรมากขึ้นประมาณ 1,200 บาท จากโครงการไทยนิยมของรัฐบาล นอกจากนี้สำหรับการทำเกษตรแปลงใหญ่ ขณะนี้มี 3800 แปลง ตั้งเป้าปีนี้เพิ่มอีกร้อยละ 20 ยอมรับว่าการจัดโซนนิ่งเกษตรไม่มีความคืบหน้าเพราะเกษตรกรยังติดวิถีชีวิตทำการเกษตรแบบเดิม จึงจะใช้เกษตรแปลงใหญ่ เป็นตัวอย่างให้ปรับเปลี่ยน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image