สมุนไพรหมอแสง เยียวยาจิตใจ ไม่ยับยั้งมะเร็ง

หลังจากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาประกาศผลการตรวจสอบสารสำคัญในสมุนไพรสูตร นายแสงชัย แหเลิศตระกูล หรือ หมอแสง หมอพื้นบ้าน ที่ผ่านการรับรองจากกรมการแพทย์แผนไทยฯว่าไม่มีผลต่อการยับยั้งมะเร็ง โดยสูตรดังกล่าวหมอแสงระบุว่า ประกอบด้วย ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ ดอกพิลังกาสา เห็ดกระถินพิมาน รำข้าวนาปี เป็นต้น

ทันทีที่ประกาศผลตรวจสอบ ปรากฏว่าหมอแสงได้ตั้งเงื่อนไขในการแจกว่า อาจแจกแคปซูลสมุนไพรให้ผู้ป่วยอีก 1-2 เดือน หลังจากนั้นจะไม่แจกแล้ว จนกว่าประชาชนผู้ป่วยจะไปขออนุญาตจากสถาบันมะเร็งฯ หรือกรมการแพทย์ เพื่อนำรายชื่อที่ได้รับการอนุญาตมารับสมุนไพรสูตรนี้ จึงแจกต่อให้ เพราะยังมองว่าสูตรสมุนไพรของตนเป็นความหวังของผู้ป่วย แต่ก็ไม่อยากขัดต่อกระแสสังคมบางส่วนที่ออกมาโจมตี

ล่าสุดทางเพจ หมอแสง ปราจีนบุรี จะมีการเปิดเผยผลศึกษาของทางศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ว่า มีส่วนในการยับยั้งมะเร็งก็ตาม

เกิดคำถามว่า สุดท้ายประชาชนควรเชื่อสิ่งไหน หรือต้องเดินไปทิศทางใด เพราะอย่าลืมว่า ผู้ป่วยมะเร็ง ยิ่งผู้ป่วยระยะสุดท้าย ต่างต้องการความหวังในการหล่อเลี้ยงชีวิต แล้วจริงหรือไม่ว่า สมุนไพรสูตรหมอแสง จะมีผลต่อการดำเนินชีวิตในแง่สร้างกำลังใจ หรืออาจมีสรรพคุณบางอย่างที่ส่งผลดีต่อร่างกาย ที่ไม่ใช่การยับยั้งมะเร็ง ซึ่งอาจต้องมีการศึกษาวิจัยในมุมอื่นหรือไม่

Advertisement

รวมไปถึงคำถามว่า หากผู้ป่วยมีสภาพจิตใจดีแล้ว กำลังใจจะช่วยฟื้นร่างกายให้ดีตามด้วย จริงเท็จอย่างไร

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต สธ. ให้ข้อมูลว่า เป็นไปได้ 2 อย่าง คือ ช่วยทั้งเรื่องกำลังใจ และอาจมีส่วนช่วยให้ร่างกายบางระบบดีขึ้น เช่น มีความอยากอาหารมากขึ้น กินได้ นอนหลับ รวมทั้งอาจช่วยเรื่องระดับเม็ดเลือด แต่ทั้งหมดก็ต้องมีการศึกษาว่าจริงหรือไม่ ซึ่งก็ต้องออกแบบงานวิจัยในการศึกษาเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม การที่ร่างกายคนไข้จะดีขึ้นจากผลของเรื่องจิตใจนั้น อาจไม่ใช่เป็นผลมาจากฤทธิ์ของยาโดยตรง แต่เป็นเรื่องของความเชื่อ ซึ่งผลที่ได้รับก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ไม่เหมือนกัน

เรื่องของทางเลือกการรักษา ทั้งการกินสมุนไพรบางอย่าง หรือการกินอะไรเสริมเข้าไปนอกเหนือจากยาแพทย์แผนปัจจุบันนั้น อาจส่งผลจากสรรพคุณอื่นๆ ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เช่น อาจทำให้กินอาหารได้ ทำให้เม็ดเลือดขาวดี แต่เรื่องนี้ก็ต้องมีการศึกษาวิจัย แต่กรณีดังกล่าวไม่ได้ตอบคำถามว่า ฆ่าเซลล์มะเร็งได้ เหมือนตาชั่ง 2 ด้าน โดยด้านหนึ่งเป็นยาหลักของแพทย์แผนปัจจุบันก็ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็ง หรือลดหรือฆ่าเซลล์มะเร็ง แต่ตาชั่งอีกด้าน จะเป็นการเสริมบวก เช่น ช่วยเรื่องกินอาหารได้มากขึ้น เป็นต้น นพ.ยงยุทธกล่าว

Advertisement
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์

ส่วนเรื่องของกำลังใจนั้น จะมีผลแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ไม่เหมือนกัน และขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งด้วย อย่างบางคนกำลังใจดี แต่เป็นมะเร็งชนิดที่ลุกลามแล้ว ก็ต้องดำเนินไปตามระยะของโรค ซึ่งกำลังใจก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญต้องไม่ละทิ้งการรักษาปัจจุบันด้วย

ขณะที่ นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ โฆษกกรมสุขภาพจิต มองว่า หากมีกำลังใจดี การรักษาโรคก็จะดีตาม คล้ายผู้ป่วยโรคความดัน หากมีความเครียดมากๆ ก็ส่งผลต่อความดันสูงขึ้นได้ แต่อย่าลืมว่าตัวโรคก็ยังคงต้องดำเนินต่อ แต่หากเราป่วยอยู่และมีคนดูแลให้กำลังใจก็จะทำให้ฮอร์โมนความเครียดน้อยลงได้ เรียกว่าอะไรที่เป็นทางเลือกในด้านกำลังใจก็เหมือนเป็นตัวเสริม แต่ไม่ใช่ว่าจะทิ้งการรักษาหลัก แบบนั้นก็ไม่ถูกต้อง

จริงๆ แล้วคนที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง โรคต่างๆ หรือโรคมะเร็ง คนกลุ่มนี้จะมีความเครียดมากกว่าคนทั่วไป โดยสมองก็จะสั่งให้หลั่งฮอร์โมนความเครียดจากต่อมหมวกไตออกมามากขึ้น ซึ่งหลายคนเครียดระยะสั้นก็จะไม่เท่าไหร่ แต่หากเครียดสะสม จนกลายเป็นความเครียดเรื้อรัง แบบนี้อันตราย ยิ่งคนป่วยก็จะยิ่งได้รับผลกระทบตรงจุดนี้ แต่ก็ไม่อยากให้กังวลไป เพราะฮอร์โมนความเครียด เป็นเรื่องธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ยิ่งมนุษย์แล้วยิ่งต้องเจอ แต่เมื่อเกิดความเครียด เราจะทำอย่างไรให้เราไม่ยิ่งทุกข์หนัก ไม่สบายใจ เพื่อให้เราสามารถจัดการปัญหาและดำรงชีวิตต่อไปได้ นพ.อภิชาติกล่าว

นพ.อภิชาติยังแนะนำวิธีผ่อนคลายความเครียดว่า ต้องรู้จักจัดการปัญหาเพื่อป้องกันก่อนเกิดโรค เพราะความเครียดส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ได้ โดยหลักคือ 1.สำรวจตัวเองบ่อยๆ ว่า เรามีปัญหาอะไร และสาเหตุของปัญหาคืออะไร ใช้เวลาสัก 5 นาทีต่อวัน สำรวจและทบทวนตัวเองว่าอารมณ์เราเป็นอย่างไร มีอะไรกระตุ้นให้เกิดขึ้น เช่น เครียดจากงาน เราจะวางแผนการจัดการเพื่อป้องกันปัญหาเกิดซ้ำได้หรือไม่ 2.หมั่นออกกำลังกายให้เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ รู้จักหาวิธีผ่อนคลายความเครียดของตัวเอง 3.ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อป้องกันการเกิดโรค หรือทราบโรคก่อนตั้งแต่แรกๆ เพื่อการรักษาที่เหมาะสม และ 4.สำคัญมาก ต้องรู้จักมองโลกในแง่ร้ายให้น้อยลง เพราะการบอกว่าให้มองโลกในแง่บวกเลย คงทำได้ยากในปัจจุบัน แต่มองร้ายให้น้อยลง และมองตามความเป็นจริงอย่างมีสติน่าจะดีกว่า

ในกรณีความเครียดที่เกิดจากปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ หรือจากคนอื่น เราก็ต้องรู้จักการรับมือ หากเกิดปัญหาจากคนอื่น ก็พยายามหลีกเลี่ยงการปะทะ เป็นต้น ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หากมีปัญหาต้องมีคนใกล้ชิด หรือหาคนปรึกษา หรือปรึกษาได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต โทรสายด่วน 1323

นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ

กรณีผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง หรือโรคมะเร็ง สิ่งสำคัญในการดูแลตัวเอง และจัดการความเครียด เพิ่มกำลังใจให้ตนเองอาจไม่ต้องกินอะไรเสริมก็ได้ สิ่งที่ต้องทำ คือ 1.ตั้งสติก่อนว่าทุกโรค ณ ปัจจุบันทางการแพทย์มีพัฒนาการมากขึ้น ดังนั้น อย่ากังวล หรืออมทุกข์ 2.สามารถปรึกษาแพทย์ สอบถามถึงแนวทางการรักษาต่างๆ และต้องรู้จักหาข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ที่สำคัญต้องทำตามที่แพทย์แนะนำดีที่สุด 3.อย่าตื่นตระหนกหรือกังวลจนกลายเป็นความเครียด และมองทุกอย่างในแง่ร้าย เราควรมองโลกจากความเป็นจริง และมองร้ายให้น้อยลง เพื่อตัวเราเอง แต่สิ่งสำคัญคือคนรอบข้าง อย่างผู้ป่วยมะเร็ง สิ่งสำคัญนอกจากการรักษาแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว ในเรื่องกำลังใจจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนใกล้ชิดสำคัญมาก ต้องเข้าใจเรื่องนี้ด้วย นพ.อภิชาติกล่าวทิ้งท้าย

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญอย่าทิ้งการรักษาหลักน่าจะดีที่สุด…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image