จองคูปอง2วัน’9แสนครั้ง6หมื่นที่นั่ง’ เริ่มเลือกคอร์สก.ค.-อบรม ‘ส.ค.-16ก.ย.’ 

เมื่อวันที่ 26 เมษายน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพค.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร หรือโครงการคูปองพัฒนาครู ประจำปีงบประมาณ 2561 ว่า หลังจากที่สพฐ.โดยคณะกรรมการประเมินและคัดเลือกหลักสูตร และคณะกรรมการประเมินความเหมาะสมราคาค่าลงทะเบียนหลักสูตร ได้ประกาศให้หลักสูตรผ่านการรับรองจาก สพฐ. จำนวน 787 หลักสูตร จาก 205 หน่วยพัฒนาครู เพื่อให้ครูเลือกหลักสูตรเพื่อพัฒนาตนเองและนำความรู้ไปพัฒนานักเรียนต่อ โดยกำหนดวงเงินการช็อปปิงหลักสูตรคนละ 10,000 บาทต่อปี นั้น ปรากฏมี 2 หลักสูตรที่ถอนตัวออกไปเนื่องจากระบุตัวเลขราคาผิดพลาด โดยหลักสูตรแรก กำหนดราคาผิดเป็น 800 บาท จากที่ต้องการกำหนดราคา 8,000 บาท ขณะที่อีกหลักสูตร กำหนดราคา 0 บาท ทั้งที่้ไม่ได้ต้องการจัดหลักสูตรฟรี โดยหลักการของสพค.คือ ถ้ามีการประกาศหลักสูตรที่ผ่านการรับรองไปแล้ว จะไม่อนุญาตให้มีการแก้ไขราคาอีก ฉะนั้นจึงได้ขอให้หน่วยจัดอบรมดังกล่าว ถอนหลักสูตรไป ทำให้ตอนนี้เหลือ 785 หลักสูตร โดยจำนวนนี้เป็นหลักสูตร 0 บาท 6 หลักสูตร จากเดิมมี 7 หลักสูตร

นางเกศทิพย์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สพฐ. ได้เปิดให้ครูเข้าสู่ระบบออนไลน์เพื่อจองหลักสูตรแล้ว เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน – 2 พฤษภาคม ปรากฏว่า 2 วันแรก ระหว่างวันที่ 25-26 เมษายน จนถึงเวลา 11.00 น. มีครูเข้ามาในระบบจำนวน 940,851 ครั้ง จองลงทะเบียน 60,795 ที่นั่ง ใน 737 หลักสูตร และเนื่องจากมีครูเข้าใช้งานวันแรกจำนวนมาก ทำให้ซีพียูเซิร์ฟเวอร์ที่เตรียมไว้ทำงานหนักเกือบ 100% ทำให้การเข้าถึงบริการของระบบเกิดความล่าช้า ดังนั้น ทาง สพค. จึงประสานสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) เพิ่มประสิทธิภาพซีพียูจากเดิม 8 core เป็น 32 core เพื่อการบุ๊กกิ้งหลักสูตรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสะดวกต่อการลงทะเบียนของครู

ผู้อำนวยการ สพค. กล่าวต่อว่า สำหรับปฏิทินการดำเนินการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)จะดาวน์โหลดข้อมูลครูที่ต้องการพัฒนาตนเอง ก่อนจะประสานงานกับหน่วยพัฒนาครู เพื่อกำหนดวัน สถานที่ในการจัดอบรม หน่วยพัฒนาครูขออนุมัติเปิดรุ่นจากสถาบันคุรุพัฒนา และหน่วยพัฒนาครูแจ้งผลการขออนุมัติเปิดรุ่นให้สพท.รับทราบ ระหว่างวันที่ 7-18 พฤษภาคม, สพท.ส่งข้อมูลการอบรมให้สพฐ.รับทราบ ระหว่างวันที่ 21-23 พฤษภาคม, ครูเข้าระบบเพื่อยืนยันหลักสูตรหรือเลือกหลักสูตร(ช็อปปิ้ง)พร้อมขออนุมัติไปราชการและส่งเอกสารการยืมเงินทดรองราชการ ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม -3 มิถุนายน, สพท.สรุปงบประมาณและขออนุมัติงบประมาณจากสพฐ. วันที่ 4-8 มิถุนายน และเริ่มอบรม ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน-16 กันยายน
นางเกศทิพย์ กล่าวด้วยว่า หลังการเปิดอบรมรอบแรก สพฐ.จะเปิดอบรมรอบที่ 2 ซึ่งเป็นรอบสุดท้าย โดยจนถึงขณะนี้สถาบันคุรุพัฒนา ได้จัดส่งหลักสูตรมาให้สพฐ.พิจารณาแล้วจำนวน 787 หลักสูตร จาก 202 หน่วยพัฒนาครู โดย กรรมการทั้ง 2 ชุด ของสพฐ. จะต้องประเมินความเหมาะสมของหลักสูตรทางด้านวิชาการ ระหว่างวันที่ 25-30 เมษายน จากนั้นกำหนดให้หน่วยพัฒนาครู กำหนดราคาหลักสูตร วันที่ 2-4 พฤษภาคม ตามด้วยสพฐ.ประเมินความเหมาะสมด้านหลักสูตร ระหว่างวันที่ 5-11 พฤษภาคม จากนั้นสพฐ.ประกาศรายชื่อหลักสูตรที่ผ่านการประเมิน วันที่ 13 พฤษภาคม กรณีต้องปรับปรุงราคา สพฐ.จะแจ้งให้หน่วยพัฒนาครูรับทราบระหว่างวันที่ 14-16 พฤษภาคม จากนั้นจึงประกาศรายชื่อหลักสูตรที่ผ่านการประเมินที่ปรับปรุงราคาแล้ว ในวันที่ 18 พฤษภาคม แล้วจึงเปิดให้ครูเข้าสู่ระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 5-12 มิถุนายน ตามด้วยครูยืนยัน/เลือกหลักสูตรหรือช็อปปิ้งหลักสูตรในเดือนกรกฎาคม และเริ่มอบรมในเดือนสิงหาคม -16 กันยายน 2561

ผู้อำนวยการสพค. กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีที่มีข่าวว่า มีครูเสียสิทธิในการเข้ารับการอบรมในปีงบประมาณ 2560 เนื่องจากระบบสพฐ.ล่มนั้น ขอชี้แจงให้ทราบว่าสพฐ.มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาครูเพื่อให้ครูนำความรู้ไปพัฒนากับนักเรียนต่อ แต่การเชื่อมโยงกับการมีหรือเลื่อนวิทยฐานะนั้น เป็นเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)กำหนดขึ้น ซึ่งเป็นคนละหน่วยงานกับสพฐ.อย่างไรก็ตามถ้าครูเสียสิทธิในการเข้ารับการพัฒนาโดยที่ไม่ได้เกิดจากความผิดของครู สพฐ.จะหารือร่วมกับก.ค.ศ.เพื่อให้สิทธินั้นยังคงอยู่ แต่ก่อนที่สพฐ.จะหารือกับก.ค.ศ. จะต้องมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ก่อนว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดจากครู โดยเร็วๆ นี้ สพค.จะหาช่องทางให้ครูที่ลงทะเบียนและช็อปปิ้งหลักสูตรในปีงบประมาณ 2560 เรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้รับการอบรม เข้ามาให้ข้อมูล ส่วนจะเป็นช่องทางใดนั้น จะแจ้งให้ทราบเร็วๆ นี้ จากนั้นสพฐ.จะตรวจสอบเป็นรายบุคคลว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เกิดจากอะไรหรือหน่วยงานใด ซึ่งตนมีข้อมูลครูที่ลงทะเบียนในระบบครบทุกคน สามารถตรวจสอบได้ ส่วนที่ถามว่าถ้าครูเสียสิทธิจากการที่หน่วยพัฒนาครู ยกเลิกหลักสูตรนั้น กรณีนี้ต้องตรวจสอบก่อนว่า การแจ้งยกเลิก ได้ให้เวลาเพียงพอที่ครูสามารถไปเลือกช็อปปิ้งหลักสูตรอื่นหรือไม่ ซึ่งตนไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ว่ากรณีไหนบ้างที่เข้าข่ายไม่ใช่ความผิดของครู เพราะต้องตรวจสอบเป็นรายกรณีก่อน

Advertisement

“สำหรับครูที่ไม่ได้ลงทะเบียนแต่ต้น แต่จะมาร้องเรียนด้วยนั้น สพฐ.คงไม่สามารถดำเนินการใดๆ ให้ได้ เพราะขั้นแรกนี้ ขอดำเนินการช่วยเฉพาะครูที่ลงทะเบียนและช็อปปิ้งหลักสูตรเรียบร้อยก่อน อย่างไรก็ตามต้องชี้แจงด้วยว่าถึงสพฐ.จะหารือร่วมกับก.ค.ศ. เพื่อคงสิทธิให้กับครู แต่การพิจารณาใดๆ ก็อยู่ที่ดุลพินิจของก.ค.ศ. ไม่ใช่สพฐ.” ผู้อำนวยการ สพค. กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image