ความผิดพลาด 3 ประการ ในการสร้าง “คน” ที่ “ล้มเหลว”

ผู้เขียนนั้นนับว่ามีประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตน้อย ถึงแม้ว่าอายุจะไม่น้อยแล้ว (เกิดปี พ.ศ.2512) เพื่อนรุ่นผู้เขียนส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ใช้ชีวิตอยู่ในกรอบของขนบสังคม คือเมื่อยังมีอายุน้อยๆ ก็เรียนหนังสือ (ตามระบบ) อย่างตั้งอกตั้งใจ ไม่เถลไถลไปทางไหน ด้วยความเข้าใจในขณะนั้นว่า คุณพ่อคุณแม่ (ซึ่งก็เป็นลูกชาวนามาก่อน และขวนขวายจนได้ทำงานรับราชการในกรุงเทพฯ) อดทนทำงานเพื่อหาเงินเก็บโดยไม่บ่น (ซึ่งเงินทองนับว่าหาได้ยากในสมัยนั้น) เพื่อให้ลูกได้เรียนหนังสือ

เมื่อลูกจะไปเรียนพิเศษ (กวดวิชา) หรือจะทำกิจกรรมเสริมอย่างอื่น เช่น ดนตรี กีฬา กิจกรรมเสริมทักษะ ฯลฯ เพื่อให้ลูกได้เท่าเทียมกับเพื่อนในโรงเรียน เพื่อนในสังคม โดยบางทีลูกก็ไม่รู้ว่ากว่าจะได้เงินทองเพื่อมาทำกิจกรรมเหล่านั้น มีความยากลำบากแค่ไหน บางครั้งก็อาจจะทำให้ลูกลืมตัวไปได้

นับเป็นความผิดพลาดประการที่ 1 ที่มองเห็น คือ ความผิดพลาดจากครอบครัว และการเลี้ยงดู เพราะความรักที่เกินไป กลัวลูกจะไม่ทันเพื่อน ไม่ทันสังคม จึงยอมลำบากหาเงินส่งลูกเรียนสูงๆ ด้วยหวังว่าการศึกษาสูงๆ จะทำให้ลูกมีโอกาสในสังคมที่มากขึ้น จะได้ย้อนกลับมาช่วยพ่อแม่ในภายหลัง

แล้วเราจึงพบความผิดพลาดประการที่ 2 และ 3 คือ สังคม และระบบการศึกษา ที่ไม่ค่อยจะเอื้อให้เราได้มีทรัพยากรมนุษย์ที่ดี มีคุณภาพ คุณธรรม เรามีสังคมที่นับวันแต่จะโหดร้าย และบีบรัด สังคมที่สร้างคนที่สุดท้ายแล้วหากไม่สามารถที่จะวิ่งไปตามกระแสสังคมโลกได้ทัน ก็จะกลายเป็นคนแปลกแยก โดดเดี่ยว ขาดความสุข ไม่รู้ว่าความสุขในชีวิตคืออะไร เป็นโรคจิต โรคประสาทไปต่างๆ นานา และหากเขาเป็นบุคคลที่วิ่งตามกระแสได้ทัน ก็มักจะเป็นบุคคลที่เผาผลาญทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวไปเป็นจำนวนมาก คือใช้ input (เงิน ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม) ไปมากกว่า output (ผลงาน) ที่เขาผลิตให้สังคม

Advertisement

เรามีระบบการศึกษาส่วนใหญ่ที่แข็งกระด้าง เพราะผลิตคนออกมาส่วนใหญ่ เป็นคนแข็งกระด้าง ไม่อ่อนโยนต่อผู้คน ต่อสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติรอบตัว เราเรียนรู้แต่โครงสร้างข้างนอก แต่เราไม่ได้เรียนรู้สิ่งที่อยู่ข้างใน คือก่อนเรียน ระหว่างเรียน หลังเรียน นักเรียน นักศึกษาไม่รู้เป้าหมายว่าเรียนไปทำไม และนักเรียน นักศึกษาจะนำความรู้ หรือสร้างความรู้จากสิ่งที่เรียนเพื่อนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างไร

เรามีระบบการศึกษาที่แยกส่วน ไม่บูรณาการ และสุดท้าย คือพยายามที่จะอัดความรู้ทุกอย่างไว้ที่การศึกษาส่วนปลาย หรือมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษามีความรู้รอบด้าน รู้รอบตัว ก่อนที่จะออกไปสู่สนามการทำงาน

ทั้งที่จริงๆ แล้ว การที่จะทำให้บุคคลสามารถเป็นคนที่รู้รอบตัว สามารถใช้ความรู้ในตัวที่มีอยู่แก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องเตรียมพื้นฐานมาตั้งแต่เด็ก เด็กควรจะได้อยู่กับครอบครัว รับรู้ต่อปัญหาของครอบครัว และสังคมตามวัยของตน จะทำให้ไม่เป็นคนหลงผิด และเป็นผู้มีทักษะต่อชีวิตตามวัย การทำให้เด็กร่วมรับรู้ปัญหา และมีส่วนร่วมในการแก้ไข จะทำให้เขารู้สึกว่าตนมีความสำคัญ และมีคุณค่าในสังคมนั้นๆ
หากหน่วยย่อยในสังคม คือ ครอบครัวอ่อนแอ หรือล้มเหลว ควรจะมีหน่วยอื่นในสังคม เช่น ชุมชน หรือองค์กร (เช่น โรงเรียน สถาบันต่างๆ) ที่สามารถให้เด็กได้แสดงออก และรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เพราะการทำให้คนรู้สึกว่าตนเองมีค่าในทางบวก มีประโยชน์ต่อชุมชน สังคม ก็จะเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้ไม่หลงไปทำในทางผิด

Advertisement

หากเรายังไม่เห็นว่าสังคมที่กำลังดำเนินอยู่ เป็นอยู่นี้ เป็นปัญหา ต้องหาทางเยียวยาแก้ไข เราก็จะมีประชากรที่ล้มเหลว เพราะมีความรู้ แต่ไม่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้จริงในชีวิต ประเทศเราอาจจะมี GDP สูง แต่เราก็จะมีสังคมที่ล้มเหลว เพราะมีแต่ความแปลกแยก และแตกแยกไปตามกลุ่ม ตามผลประโยชน์ของตน โดยมองไม่เห็นเนื้อแท้ของการที่มนุษย์ต้องมีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมว่าคืออะไร สุดท้ายก็จะนำไปสู่ความล้มเหลวของการเป็นสังคม การเป็นชาติ และเป็นโลกใบเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image