องค์กรครูจี้ศธ.เร่งแก้คำสั่งคสช. หย่าศึก’สพท.-ศธจ.’

เมื่อวันที่ 30 เมษายน นายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)ชัยภูมิ เขต 1 ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศ(ชร.ผอ.สพท.) และเลขาธิการสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย(ส.บ.พ.ท.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหาร ส.บ.พ.ท. เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ประชุมมีมติให้ 1.เสนอให้ผู้มีอำนาจแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ที่ส่งพร้อมหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.4/ว24 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 เนื่องจากยังมีบางประเด็นที่ไม่เป็นธรรมกับผู้อำนวยการสถานศึกษาที่มีประสบการณ์การบริหารสถานศึกษาขนาดเดียวกันในต่างจังหวัด ที่จะย้ายเข้ามาในสถานศึกษาที่มีขนาดเดียวกันในจังหวัด ที่แต่ละคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) พิจารณา ซึ่งหลักเกณฑ์นี้ ได้กำหนดให้พิจารณาจากสถานศึกษาที่มีขนาดเดียวกันภายในจังหวัดก่อน ถ้าไม่มีผู้อำนวยการสถานศึกษาขนาดเดียวกันหรือมีเพียงรายเดียว ให้นำผู้อำนวยการสถานศึกษาที่มีขนาดใกล้เคียงกันภายในจังหวัดก่อน จึงจะพิจารณาผู้ยื่นคำร้องขอย้ายที่มีสถานศึกษาขนาดเดียวกันจากต่างจังหวัด ซึ่งเป็นการขัดกับหลักการความเท่าเทียมกันอย่างเสมอภาค และการมีประสบการณ์ในการบริหารสถานศึกษาที่มีขนาดเดียวกันย่อมมีประสบการณ์ในการบริหารมากกว่าผู้บริหารที่มีขนาดใกล้เคียงกันที่เล็กกว่า การแก้ไขในครั้งนี้ควรสามารถนำมาใช้ในการยื่นคำร้องขอย้ายในระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2561 โดยไม่ต้องรอฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในระหว่างนี้ก็ให้แต่ละกศจ. รีบย้ายผู้บริหารสถานศึกษาตามหลักเกณฑ์ฯ ว 24 นี้ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสรรหาผู้บริหารสถานศึกษาที่ว่างอยู่ขณะนี้โดยเร็ว

ชร.ผอ.สพท. กล่าวต่อว่า 2.เสนอให้ ก.ค.ศ. รีบประเมินวิทยฐานะของครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามหลักเกณฑ์ วิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้มีผลงานดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์มีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญทุกตำแหน่ง(ว13) ซึ่งมีความล่าช้า ก.ค.ศ.ควรเร่งดำเนินการเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ และ 3.ให้ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่19/2560 โดยเฉพาะข้อ 13 และประเด็นอื่น จนมีผลกระทบกับการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ในภูมิภาค ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน กศจ.หลายแห่งยังเสียเวลากับการพิจารณาการบริหารงานบุคคล ทำให้การบริหารราชการเชิงยุทธศาสตร์และที่เกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัด ยังดำเนินการได้ไม่เต็มที่ ถึงแม้จะมีอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ก็ตาม เนื่องจากข้อจำกัดการประชุม กศจ. ซึ่งจะมีการประชุมเดือนละครั้ง กศจ.จึงไม่มีเวลาขับเคลื่อนการบริหารราชการเชิงยุทธศาสตร์ และที่เกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษา นอกจากนั้นเขตพื้นที่ฯ ยังต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายงบดำเนินงานที่เกี่ยวกับค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เบี้ยเลี้ยง พาหนะเพิ่มขึ้นอีกกับการเดินทางไปราชการที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพื่อนำคำสั่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้อำนาจตามมาตรา 53 คือ ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่19/2560 ข้อ 13

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image