‘ลูกจ้าง’ จี้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องด้านแรงงาน เผยที่นายกฯบอกทำแล้ว6ข้อ เป็นของเก่า

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตอนหนึ่งในระหว่างเป็นประธานเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2561 ว่า ข้อเรียกร้อง 10 ข้อของผู้ใช้แรงงาน ได้ทำไปแล้ว 6 ข้อ เหลืออีก 4 ข้อต้องหารือกันต่อไป ว่า ทั้ง 10 ข้อที่นายกฯ กล่าวถึงเป็นข้อเรียกร้องเมื่อปี 2560 แต่อีก 10 ข้อเรียกร้องใหม่ ส่วนใหญ่รัฐบาลยังไม่ดำเนินการ

“มีเพียงข้อเดียวที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รายงานว่าได้ทำแล้วคือ การออกกฎหมายให้ผู้ใช้แรงงานเกษียณอายุจาก 55 ปี เป็น 60 ปี แต่ที่เราอยากได้เพิ่มคือ ต้องประกาศให้ผู้ใช้แรงงานทุกคนได้สิทธินี้ เช่น คนที่อายุมากกว่า 55 ปี แต่ยังไม่ถึง 60 ปี ก็ควรจะได้สิทธิด้วย หรือหากใครต้องการเกษียณอายุ 55 ปี ก็สามารถทำได้เช่นกัน นอกจากนี้สิ่งที่ผู้ใช้แรงงานทุกคนต้องการคือ เงินบำนาญจากประกันสังคมต้องได้ไม่น้อยกว่า 5,000 บาท อีกทั้งขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 ให้เป็นภาคบังคับและมีโทษอาญา และให้รัฐบาลสั่งการให้กระทรวงแรงงานปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 74 อย่างเคร่งครัดโดยให้นายจ้าง ลูกจ้าง และตัวแทนรัฐบาลร่วมดำเนินการในลักษณะไตรภาคี เพื่อสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ ไม่ใช่เหมือนที่เป็นอยู่อย่างในปัจจุบันที่เน้นมาจากภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว” นายพนัส กล่าว

ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล็กน้อย ขณะที่เรื่องใหญ่ๆ รัฐบาลยังไม่ขยับ หรือทำได้ช้ามาก เช่น การปรับโครงสร้างประกันสังคม การลงนามรับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิการรวมตัวกัน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการสิทธิในการรวมตัว และการร่วมเจรจาต่อรอง เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ ระบุว่า ถ้าทำตามข้อเรียกร้องอย่างเดียว ระบบแรงงานจะอันตรายและล้มเหลว นายสาวิทย์ กล่าวว่า ถ้าไม่ทำยิ่งอันตราย และจะล้มเหลวแน่นอน เพราะหลายข้อเรียกร้องที่รัฐบาลทำให้ไม่ได้ เนื่องจากเกรงกลัวว่าจะกระทบกับนายจ้าง

“ผู้ใช้แรงงานเข้าใจเรื่องนี้ดี โดยเฉพาะกรณีการเรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ หากทำก็จะทำให้นายจ้างได้กำไรลดน้อยลง แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่านายจ้างได้กำไรน้อยลงจริง แต่ไม่ได้ขาดทุน และลูกจ้างจะอยู่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทุกวันนี้ รัฐบาลเอื้อกลุ่มนายทุนมากเกินไป การเปิดอีอีซี การทำให้ประเทศเข้าสู่ยุค 4.0 วันนี้ก็มีผลการศึกษาออกมาแล้วว่า ผู้ใช้แรงงานจะเจอกับอะไรบ้าง ขณะนี้ตัวเลขคนตกงานมากขึ้น มีแรงงานนอกระบบมากขึ้น เพราะถูกให้ออกจากงาน ก็ชัดเจนแล้วว่าเราคาดหวังอะไรกับรัฐบาลไม่ได้เลย สิ่งเดียวที่ผู้ใช้แรงงานจะทำได้คือ ต้องสร้างกระบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง” นายสาวิทย์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image