‘สตูล’ต่อยอด อุทยานธรณีโลก นักท่องเที่ยวเติบโต

เป็นที่ปลาบปลื้มของชาวสตูลและชาวไทยทั่วประเทศ การประกาศให้อุทยานธรณีสตูลเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geopark)

เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย จัดเป็นประเทศในลำดับที่ 38 ของโลก และเป็นประเทศที่ 4 ของอาเซียน ต่อจากเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย จากทั้งหมด 8 แห่ง

ล่าสุดวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับมอบเกียรติบัตรอุทยานธรณีสตูล จาก Dr.Benno Boer ผู้แทนสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะมอบต่อให้กับ นายภัทรพนธ์ รัตนพิเชฏฐชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

Advertisement

นายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ ผู้อำนวยการอุทยานธรณีสตูล ที่ได้เข้ารับมอบเกียรติบัตรอุทยานธรณีสตูลในคราวนี้ด้วย ระบุว่า ขอบคุณทุกคนและขอให้ช่วยกันดูแลรักษา เพราะอีก 4 ปีจะมีการเข้ามาประเมินอีกครั้งของยูเนสโก หลังจากนี้จะมีการประชุมร่วมกันทุกฝ่ายถึงการเตรียมการในการประเมินครั้งต่อไป พร้อมทั้งวางแผนในการจัดงานเฉลิมฉลองกับรางวัลมาตรฐานทางอุทยานธรณีนานาชาติที่ได้รับ โดยพร้อมจัดเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมเส้นทางอุทยานธรณีในพื้นที่ อ.เมือง ละงู มะนัง และทุ่งหว้า เข้าด้วยกันเป็นแพคเกจ 2 วัน 1 คืน หรือ 3 วัน 2 คืน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเส้นทางอุทยานธรณี จากเมื่อก่อนที่ต่างคนต่างทำ สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี พร้อมการขับเคลื่อนส่งเสริมความรู้ให้ประชาชน การจัดทำผลิตภัณฑ์ที่มีความเชื่อมโยงจีโอปาร์ค โดยเน้นการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรทางธรณีที่มีอยู่เป็นตัวขับเคลื่อน

นายภัทรพนธ์ รัตนพิเชฏฐชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า ยินดีที่อุทยานธรณีสตูล ประชาชนชาวสตูลและชาวไทยที่ได้ก้าวขึ้นสู่อุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย ความโดดเด่นที่หลากหลายทางธรณีที่มีการค้นพบซากฟอสซิลครบทั้ง 6 ยุค การได้เป็นอุทยานธรณีโลกไม่สำคัญเท่ากับได้แล้วคนสตูลจะได้อะไร จะมีการพูดคุยกับทุกฝ่ายในเรื่องยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวในทุกมิติว่าชุมชนจะมีรายได้เพิ่มจากการประกาศเป็นอุทยานธรณีโลกได้อย่างไร โดยให้สอดคล้องไปกับการอนุรักษ์

Advertisement

ขณะที่ ดร.บรรจง ทองสร้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มองว่าหลังยูเนสโกได้ประกาศให้พื้นที่ จ.สตูลเป็นแหล่งอุทยานธรณีโลก องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน (อพท.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้วางแผนในการจัดหาองค์ความรู้เพิ่มโดยใช้กระบวนการวิจัยออกมาให้ได้ว่ายังมีพื้นที่ หรือส่วนไหนบ้างที่ยังไม่รู้ในพื้นที่แหล่งนี้ เพื่อนำเอาความรู้เหล่านี้ส่งมอบกลับให้กับพื้นที่ เพื่อนำมาเป็นทรัพยากรส่งเสริมการท่องเที่ยว ในการบอกกล่าวให้กับนักท่องเที่ยวให้รู้และเห็นประโยชน์ของพื้นที่แหล่งนี้ จากความสำเร็จของพื้นที่ จ.สตูล ที่มีความหลากหลาย ทั้งทางพหุวัฒนธรรม ด้านศาสนา วัฒนธรรม รวมทั้งมีชนพื้นเมืองมานิและชาวเลอูรักลาโว้ย อยู่กันอย่างสงบสุข การค้นพบฟอสซิลครบทั้ง 6 ยุค และการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจชุมชน เกษตร ประมง และการท่องเที่ยว ภายในเงื่อนไขทรัพยากรส่งเสริมชุมชน จนเป็นที่มาของการประกาศรับรองให้ จ.สตูล เป็นพื้นที่อุทยานทางธรณีโลก

“จะต้องมีการถอดแบบองค์ความรู้ วิธีจัดการ และแนวทางการขับเคลื่อนเป็นชุดความรู้ เพื่อเป็นแบบให้พื้นที่อื่นที่กำลังขับเคลื่อนได้มีแนวทาง อาทิ ที่ จ.กระบี่ ที่พบว่ามีน้ำตกร้อน พื้นที่น่าสนใจ 1 ใน 3 ของโลก แต่กระบี่กลับเป็นการขับเคลื่อนจากกลุ่มบริษัททัวร์และนายทุนมากกว่าชาวบ้านที่มีความยั่งยืนของพื้นที่อย่างที่ จ.สตูล ที่สามารถเป็นโมเดลจำลองในการก้าวสู่มรดกโลกได้ การก้าวมายืนจุดนี้ได้เกิดจากการรวมกลุ่มของคนสตูลอย่างแท้จริง ทุนจากภายนอกเข้าแต่ก็น้อย ทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันเองของคนในพื้นที่ ทรัพยากรคงสภาพเดิม จนเป็นความโดดเด่น โดยมีชาวบ้านจัดการกันเองอย่างยั่งยืนมากรับนโยบายจากภาครัฐจนเกิดความสำเร็จในพื้นที่” ดร.บรรจงกล่าวทิ้งท้าย

การต่อยอดในด้านการท่องเที่ยวหลังเป็นพื้นที่อุทยานทางธรณีโลกนั้น นางอัจรินทร์ เมืองจันทร์ ผอ.สนง.การท่องเที่ยวและกีฬา จ.สตูล กล่าวว่า หลังจากนี้ทางจังหวัดจะมีโครงการเข้ามารองรับหลากหลายโครงการ อาทิ โครงการอบรมด้านความปลอดภัยให้กลุ่มไรซ์การ์ด ที่หมู่เกาะหลีเป๊ะ เขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา เพื่อรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยวที่จมน้ำ และเป็นยามดูแลฝั่งบริการนักท่องเที่ยว พื้นที่ตามเกาะแก่ง เป็นส่วนหนึ่งของเขตอุทยานธรณีสตูลสู่ธรณีโลกอยู่แล้ว นอกจากนี้สิ่งมีเพิ่มขึ้นมาคือจีโอปาร์ค โดยมีชุมชนเข้ามาเกี่ยวข้องหลังก้าวสู่มรดกโลกที่จะต้องผลักดันส่งเสริมในเรื่องของแหล่งผลิตอาหาร ของฝาก ที่เป็นกลุ่มอยู่แล้วด้วยการส่งเสริมให้มีความเข้มแข็งไปพร้อมกับการอบรมชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ให้มีความรู้และถ่ายทอดสู่นักท่องเที่ยวให้ช่วยกันอนุรักษ์ไว้ด้วยการท่องเที่ยว จ.สตูลมีตัวเลขที่เติบโตมาโดยตลอด หลังจากนี้เชื่อว่าจะเติบโตมายิ่งขึ้น การท่องเที่ยวของจังหวัดสตูลมีความแตกต่างไปจากการท่องเที่ยวทุกครั้งที่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวทะเลเพียงอย่างเดียว จะเพิ่มมาเป็นการท่องเที่ยวเชิงวิชาการมากยิ่งขึ้น

“โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเห็นได้จากที่ผ่านมามีการติดต่อเข้ามาทั้งในพื้นที่ภาคใต้จังหวัดข้างเคียง และภาคอื่นๆ ทยอยติดต่อเข้ามาศึกษาดูงานที่นี่ นับเป็นการท่องเที่ยวกลุ่มศึกษาหาความรู้เชิงธรณี ทางจังหวัดจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำหนดตัวชี้วัด ศึกษารายได้เศรษฐกิจที่เป็นไปตามมาตรฐานกำหนดของยูเนสโกด้วยต่อไป” นางอัจรินทร์กล่าว

นางอัจรินทร์ระบุด้วยว่า ภาพรวมของนักท่องเที่ยวในจังหวัดสตูลเพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุดช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวปี 2560 ตุลาคม-ธันวาคม มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.12 สร้างรายได้สูงถึง 1,686 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขการจัดเก็บรายได้จากนักท่องเที่ยวผ่านเข้าสัมผัสความงดงามของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา หนึ่งในมรดกของโลก ในห้วงวันหยุดยาวการท่องเที่ยวสงกรานต์ที่ผ่านมา วันที่ 1-20 เมษายน 2561 มีนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติมาเยือน 33,812 คน จัดเก็บรายได้ 2,794,665 ล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image