กฎ 30/30 & คำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงจากฟ้าผ่า : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

เมื่อเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง อันตรายที่พึงระวังคือ ฟ้าผ่า บทความนี้สรุปกฎและคำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงจากอันตรายที่เกิดจากฟ้าผ่า คำแนะนำแต่ละข้อมีหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับ และบางส่วนเคยอธิบายไว้แล้วในบทความ “ฟ้าผ่าทำร้ายเราได้ทางใดบ้าง?” อ่านได้ที่ www.matichon.co.th/news/663800
ในที่นี้ขอแนะนำกฎที่ต้องรู้ และการปฏิบัติตัวในสถานการณ์ต่างๆ ได้แก่ อยู่ในรถยนต์ อยู่ในที่โล่งแจ้ง และอยู่ในอาคาร ดังนี้ครับ

กฎ 30/30 หรือที่ฝรั่งเรียกว่า The 30/30 Rule มีความหมายดังนี้

เลข 30 ตัวแรก คือ 30 วินาที หมายความว่าหากเห็นฟ้าแลบแล้วได้ยินเสียงฟ้าร้องตามมาภายในเวลาไม่เกิน 30 วินาที ก็แสดงว่าเมฆฝนฟ้าคะนองอยู่ใกล้เพียงพอที่ฟ้าผ่าจะทำอันตรายคุณได้ ให้หาสถานที่ปลอดภัยทันที

ตัวเลข 30 วินาทีมาจากการที่เสียงในอากาศเดินทางเร็วประมาณ 346 เมตรต่อวินาที (ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส) ดังนั้น ระยะเวลาต่ำกว่า 30 วินาที จึงแปลว่าเมฆฝนฟ้าคะนองอยู่ห่างคุณไม่ถึง 10.5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่ฟ้าผ่าแบบบวก (positive lightning) ทำอันตรายคุณได้ (ภาพที่ 1)

Advertisement

เลข 30 ตัวหลัง คือ 30 นาที หมายความว่า หลังจากที่ฝนหยุดตกและไม่มีเสียงฟ้าร้องแล้ว คุณควรรออยู่ในสถานที่ปลอดภัยอีกอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้มั่นใจว่าเมฆฝนฟ้าคะนองได้ผ่านไปหรือสลายตัวไปแล้ว

ภาพที่ 1 : ฟ้าผ่าแบบบวก
ที่มาของภาพ > http://game-hay.us/pictures-of-lightning-bolts/#

กรณีที่คุณอยู่ในรถยนต์
รถยนต์เป็นสถานที่ค่อนข้างปลอดภัยหากทำตามคำแนะนำดังนี้
☐ ปิดกระจกให้สนิททุกบาน (หมายเหตุ : รถที่ไม่มีหน้าต่างให้ปิด เช่น รถกอล์ฟ ไม่ปลอดภัยจากฟ้าผ่า)
☐ อย่าใช้โทรศัพท์มือถือที่กำลังพ่วงต่อกับที่ชาร์จไฟของรถ
☐ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับวิทยุในรถ (คำอธิบาย : วิทยุเชื่อมต่อกับเสาอากาศที่อยู่บริเวณหลังคารถ หากฟ้าผ่าลงบนหลังคารถและคุณกำลังหมุนปุ่มหาคลื่นวิทยุ กระแสไฟฟ้าก็จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางวิทยุได้)

กรณีที่คุณอยู่ในที่โล่งแจ้ง
☐ รีบหาสถานที่ที่ปลอดภัย ได้แก่ รถยนต์ หรืออาคารขนาดใหญ่
☐ ห้ามอยู่ใกล้ต้นไม้สูงใหญ่ หรือโครงสร้างที่มีลักษณะสูง
☐ ถ้าอยู่กันหลายคน อย่าอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม (คำอธิบาย: หากอยู่ใกล้กัน แล้วคนใดคนหนึ่งถูกกระแสไฟฟ้าจากฟ้าผ่าทำร้าย กระแสไฟฟ้าอาจจะกระโดดออกจากคนคนนั้นไปหาคนที่อยู่ใกล้ๆ ได้ เรียกว่า side flash)
☐ ถ้าหาที่หลบภัยที่ปลอดภัยไม่ได้และจำเป็นต้องอยู่ในที่โล่งแจ้ง ให้ “นั่งยองๆ เท้าชิด มือปิดหู” เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายอันเนื่องจากฟ้าผ่า ท่านี้เรียกว่า lightning crouch หรือ lightning safety position (ภาพที่ 2)
☐ ห้าม นอนราบลงกับพื้น เพราะหากฟ้าผ่าบริเวณใกล้ๆ กระแสไฟฟ้าจะไหลมาตามพื้น (เรียกว่า ground current) และเข้าสู่ร่างกายของคุณได้ในปริมาณมาก (ภาพที่ 3)

Advertisement
ภาพที่ 2 : ท่านั่งหมอบเพื่อลดความเสี่ยงอันตรายจากฟ้าผ่า
ใช้ในกรณีที่หาที่ปลอดภัยไม่ได้
ภาพที่ 3 : ท่านอนราบ (ที่เคยสอนกันมานาน)
ไม่ปลอดภัยจากกระแสไฟฟ้าที่ไหลมาตามพื้น

กรณีที่คุณอยู่ในบ้านหรืออาคาร
☐ อย่าใช้โทรศัพท์บ้านแบบมีสาย (หมายเหตุ: สามารถใช้โทรศัพท์มือถือ หรือโทรศัพท์บ้านแบบไร้สายได้)
☐ ถอดสายไฟอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ที่ไม่จำเป็น และควรทำก่อนเกิดฝนฟ้าคะนอง
☐ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ยังไม่ได้ถอดสาย
☐ อยู่ห่างจากหน้าต่าง
☐ อย่านอนบนพื้นคอนกรีต และอย่าพิงผนังคอนกรีต
☐ นำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในที่ปลอดภัย เช่น ภายในตัวบ้าน

ข้อมูลที่ให้ไว้นี้เป็นประเด็นหลักๆ ที่ต้องรู้เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายจากฟ้าผ่า ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยจะหาโอกาสนำเสนอเพิ่มเติมครับ


ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ขอแนะนำ http://www.lightningsafety.noaa.gov/safety.shtml
แล้วเลือกเมนู Lightning Safety สำหรับคำแนะนำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image