เครือข่ายขอคืนพื้นที่ดอยสุเทพพอใจ ‘บิ๊กตู่’ เปรยไม่ให้ใครเข้าอยู่บ้านพักตุลาการ

ทวงคืน – เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพและประชาชนชาว จ. เชียงใหม่ ใส่เสื้อเขียวและผูกริบบิ้นสีเขียว เข้าร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวใหญ่ คัดค้านการก่อสร้างบ้านพักตุลาการ ทวงคืนพื้นป่าดอยสุเทพ บริเวณลานประตูท่าแพ ก่อนเคลื่อนขบวนไปปฏิญาณตนร่วมปกป้องดอยสุเทพ เมื่อวันที่ 29 เมษายน (ภาพและคำบรรยายภาพจาก มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 30 เมษายน 2561 หน้า 1)

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ปาดอยสุเทพพอใจนายกฯเปรยไม่ให้ใครเข้าอยู่บ้านพักตุลาการ หน่วยวิจัยฟื้นฟูป่ามช.ชี้ป่าไม่อาจคืนสภาพเดิมภายในชั่วอายุคน

เมื่อเวลา 13.20 น. วันที่ 5 พฤษภาคม 2561 ที่วัดล่ามช้าง อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จัดเสวนาเชิงวิชาการเรื่อง ‘ผลกระทบบ้านป่าแหว่งต่อระบบนิเวศน์ ชุมชน และสังคม’ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาร่วมให้ข้อมูล ท่ามกลางความสนใจของประชาชนชาวเชียงใหม่ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และความมั่นคงให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

โดยนายเฉลิมพล แซมเพชร จากภาคีฮักเชียงใหม่ กล่าวเปิดเวทีว่า เชียงใหม่ถูกย่ำยีมาตลอดเวลา จนผู้ใหญ่ที่เคลื่อนไหวต่อสู้กันมานานนับ 40-50 ปี เหนื่อยล้า แต่วันนี้ดอยสุเทพสัญลักษณ์สำคัญของเชียงใหม่กลับถูกกระทำซ้ำอีกครั้ง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่ให้ความสำคัญแต่เรื่องวัตถุ เน้นการพัฒนาที่มุ่งแต่เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยหลงลืมที่จะดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน พบการทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม จึงอยากฝากลูกหลานให้ช่วยกันดูแล โดยเฉพาะการก่อสร้างบ้านพักตุลาการจนทำให้เกิดภาพป่าแหว่ง ลูกหลานต้องรับไม้ต่อเพื่อช่วยกันกำหนดทิศทางการพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องชอบธรรมด้วย

ในขณะที่นายจตุภูมิ มีเสนา หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงการฟื้นฟูป่าบ้านพักตุลาการว่า หากจะต้องฟื้นฟูต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 20,000-25,000 บาทต่อไร่ พื้นที่ป่าบริเวณนั้นไปต่ำกว่า 58 ไร่ เฉลี่ยค่าใช้จ่ายประมาณ 1,450,000 บาท แต่ทั้งหมดยังไม่รวมค่าเสียหายอื่นๆ ทั้งแร่ธาตุอาหาร เพราะป่าผืนนี้ใช้เวลาในการฟื้นฟูตัวเองมากว่า 80 ปี พื้นที่ดังกล่าวมีต้นไม้ต่อไร่กว่า 400 ต้น เรียกว่าเป็นป่าทึบมากจากที่เคยเข้าไปสำรวจก่อนหน้าที่จะถูกทำลาย เพราะปกติทางกรมป่าไม้จะตีสภาพป่าเสื่อมโทรมว่าจะมีต้นไม้เพียง 25-40 ต้นต่อไร่เท่านั้น แต่ที่นี่ไม่ใช่ เวลาหน้าแล้งจะผลัดใบทำใหคนคิดว่ามันโล่ง

Advertisement

“ในความเห็นส่วนตัวของผมเองคนเดียวนะครับ สมมติว่าถ้าตอนนี้เราเป็นมะเร็งอยู่ แล้วกินยาพาราฯ รักษาไปเรื่อยๆ ไม่รู้ชาติไหนจะหาย เพราะว่าการฟื้นฟูป่า ในการที่จะให้กลับให้มาเป็นป่าอย่างเดิม หรือว่าสภาพพื้นที่ฟังก์ชันของหน้าที่ของการเป็นป่าจริงๆ มันใช้เวลานานมาก เรียกว่าชั่วชีวิตของเรายังไม่ทันเลย คือไม่ต่ำกว่า 100 ปี และอาจไม่กลับมาแบบเดิม เพราะพื้นที่ถูกทำลาย พืชหน้าดิน แร่ธาตุสารอาหารอื่นๆ คำนวนไม่ถูกเลยว่ามูลค่าความเสียหายมากแค่ไหน ผมขอให้รีบฟื้นฟูทันที และยินดีให้ความร่วมมือในแง่เทคนิคและการฟื้นฟูพันธุ์ไม้ต่างๆ หากเรื่องลงตัวแล้ว เรื่องที่เกิดขึ้นนี้อาจทำให้การขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางด้านวัฒนธรรมของเชียงใหม่ยากมากขึ้นไปอีก ใจหายมากที่เห็นภาพป่าแหว่ง ไม่ใช่แค่พื้นที่หายไปเพียง 50 ไร่ แต่ยังรวมไปถึงหน้าดินและผลกระทบที่กว้างกว่านั้น ยังไม่รวมถึงจิตวิญญาณหรือสังคมด้วยซ้ำ” นายจตุภูมิกล่าว

ส่วนนายธีรศักดิ์ รูปสุวรรณ ประธานชมรมร่มบิน ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ กล่าวว่า ได้ฟัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดผ่านรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว รู้สึกเป็นบวก และคาดว่าในการเจรจาน่าจะเป็นผลดี ในประเด็นที่จะไม่มีใครไปใช้ที่ตรงนั้นแล้ว ทั้งตอนนี้และตลอดไป รู้สึกพอใจ ขอพูดสั้นๆ เพียงเท่านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image