‘หมอประเวศ’ แนะลักษณะ 10 ประการของระบบการศึกษาที่ดี

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาในหัวข้อ “กระบวนทัศน์ใหม่ในการปฏิรูปการศึกษา” ในงานเวทีภาคีเพื่อการศึกษาไทย TEP 2018 จัดโดย TEP (Thailand Education Partnership) หรือภาคีเพื่อการศึกษาไทย ว่า ระบบการศึกษาที่ดี ควรส่งเสริมการเรียนรู้ของทุกคน ให้สามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์อย่างหลากหลาย ไม่ใช่เป็นเรื่องของการท่องวิชา ที่ลดทอน และจำกัดศักยภาพของความเป็นมนุษย์ลง แนวคิดการศึกษาปัจจุบันเป็นแนวคิดแบบแยกส่วน ที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง การศึกษาเป็นเพียงการท่องวิชา ซึ่งเรียนยากไม่สนุก จำไม่ค่อยได้ ทำอะไรไม่เป็น และขาดการพัฒนาชีวิตรอบด้าน เนื่องจากครูเป็นเพียงผู้ถ่ายทอดเนื้อหาวิชา ครูจึงล้าสมัยโดยเร็ว ที่ผ่านมาระบบการศึกษาไทยยังเป็นแท่งตายตัว จากประถมสู่มัธยม อุดมศึกษา และสร้างค่านิยมด้วยปริญญาบัตร ทำให้ระบบการศึกษาแบบท่องวิชา ตรึงคนทั้งแผ่นดินไว้ในระบบที่บั่นทอนศักยภาพอย่างยากที่จะแก้ไข

ศ.นพ.ประเวศกล่าวอีกว่า การศึกษาไทยยังคงตั้งอยู่ในระบบราชการ รวมศูนย์อำนาจ ที่ทำมากว่า 100 ปี จึงหนาแน่นไปด้วยความเชื่อ ความเคยชิน อำนาจ ผลประโยชน์ มายาคติ ที่เชื่อมโยงกันอย่างหนาแน่น ยากต่อการแก้ไข ทำให้ความพยายามปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาหลายครั้งไม่ประสบความสำเร็จ ระบบการศึกษาในอุดมคติ ควรจะเป็นระบบที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของคนทั้งมวล เพื่อพัฒนาคนให้เต็มตามศักยภาพของความเป็นมนุษย์อย่างหลากหลาย ทุกภาคส่วน ควรจะแสวงหา และพัฒนาระบบการศึกษาในอุดมคติ ช่วยกันลองทำ เรียนรู้ และพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

ศ.นพ.ประเวศกล่าวอีกว่า ลักษณะของระบบการศึกษาที่ดี 10 ประการ ตามความคิดของตน ที่ไม่อาจเรียกได้ว่าดีที่สุด แต่ทดลองรวบรวมไว้เป็นฐานคิด มีดังนี้ 1.เป็นระบบส่งเสริมการเรียนรู้โดยเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง 2.ควรมีทางเลือกที่หลากหลายตามฉันทะ และความถนัด ทำให้ทุกคน ทำได้ดี และมีความสุข ทุกคนเป็นคนเก่งในทางที่ต่างกัน 3.เน้นการลงมือทำ เพื่อพัฒนาทักษะชีวิต และการประกอบสัมมาชีพไปด้วยในตัว 4.พัฒนาบุคลิดอันดีงาม เช่น ความสุจริต การมีจิตสำนึกสาธารณะ ความอดทน ความรับผิดชอบ ความเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ หรือการเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ 5.สร้างสมรรถนะในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ ให้เข้าใจความจริงที่ลึก และรอบด้าน เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจทึ่ดีขึ้น 6.เข้าถึงความงามที่ดำรงอยู่ในสรรพสิ่ง และการงาน หรือสุนทรียธรรม 7.ส่งเสริมให้มีจินตนาการที่กว้างใหญ่ไพศาล 8.เจริญสติ เจริญปัญญา เพื่อเข้าถึงความจริง ความดี ความงามและความสุข 9.มีการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ ในสถานการณ์จริง เพื่อสร้างปัญญาร่วม นวัตกรรม อัจฉริยภาพกลุ่ม ทำให้สามารถทำเรื่องยากๆ ได้สำเร็จ เกิดความสุขประดุจบรรลุนิพพาน และเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตัวตน องค์กร และสังคม และ 10.ในระบบการศึกษาที่ดี ครูคือกัลยาณมิตรผู้ส่งเสริมการเรียนรู้ ร่วมเรียนรู้ ครูเป็นคุรุประดุจปราชญ์ผู้ทรงศีล ครูคือเมล็ดพันธุ์แห่งความดี ที่ทำให้ความดีงอกงามทั่วไปในแผ่นดิน

“ปัจจุบันระบบการศึกษาไทยยังคงเป็นระบบปิดพื้นที่ หลักสูตรในโรงเรียนทั่วประเทศถูกควบคุมโดยส่วนกลาง คือกระทรวง ด้วยกฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่ง และหน่วยงานที่ทำการควบคุมมากมายหลายชั้น ทำให้โรงเรียนไม่สามารถมีนวัตกรรมการเรียนรู้พื้นที่ ความพยายามปฏิรูปภายในระบบปิดเช่นนี้ จึงยากลำบาก และไม่ได้ผล ฉะนั้นหัวใจของการปฏิรูปคือ เปิดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยรัฐบาลต้องส่งเสริมสนับสนุนให้พื้นที่ในระดับจังหวัดที่เปิดพื้นที่ให้โรงเรียน ชุมชน ท้องถิ่น ผู้ปกครอง ประชาคม ภาคธุรกิจ ฯลฯ เข้ามามีส่วนร่วมในนวัตกรรมการเรียนรู้ โดยส่วนกลางปรับบทบาทจากการควบคุมมาเป็นสนับสนุนเชิงนโยบาย บุคคล และองค์กรการศึกษาในจังหวัด ควรรวมตัวกันเป็นภาคีปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งสิ่งที่ต้องพัฒนาขึ้นคือกลไกที่ไม่เป็นทางการในการประสานพลังภาคีในพื้นที่” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image