การเลือกตั้งในฐานะเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมของเผด็จการ : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

มักจะมีความเข้าใจง่ายๆ ว่า การเลือกตั้งนั้นเป็นเรื่องของประชาธิปไตย และเผด็จการคือระบอบการปกครองที่ไม่มีการเลือกตั้ง

แต่สังคมไทยดูจะก้าวล้ำทางทฤษฎีไปมากอยู่ เพราะมีผู้นำทางความคิดจำนวนหนึ่ง และฝ่ายปฏิบัติการจิตวิทยาของรัฐบาลทหาร (Information Operation)ที่ออกมาสร้างคำอธิบายว่า ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งก็คือ เผด็จการรูปแบบหนึ่ง

คำอธิบายเช่นนี้นับว่ามีประเด็นที่ควรรับฟัง เพราะในการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบในปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่องของระบบประชาธิปไตยคุณภาพต่ำเหล่านั้น ที่บรรดาผู้มีอำนาจพยายามรักษาอำนาจเอาไว้ด้วยทุกวิถีทาง แม้กระทั่งการเปิดให้มีการเลือกตั้ง แต่เข้าควบคุมเงื่อนไขแวดล้อมอีกมากที่จะไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจไปจากกลุ่มพวกตน

อย่างไรก็ตาม มีความแตกต่างระหว่างแนวทางการศึกษาเรื่องการกลายรูปของประชาธิปไตยเลือกตั้งไปเป็นเผด็จการเลือกตั้ง กับสิ่งที่ผู้นำทางความคิดและฝ่าย IO ที่ออกมาอธิบายว่าระบอบประชาธิปไตยเลือกตั้งคือเผด็จการรูปแบบหนึ่ง ได้แก่ การศึกษาการกลายรูปประชาธิปไตยเหล่านั้น พยายามปรับปรุงพัฒนาระบบประชาธิปไตยให้ดีขึ้น ให้มิติด้านเผด็จการลดลง โดยการพัฒนาปรับปรุงสถาบันทางการเมืองต่างๆ รวมทั้งไม่พยายามอธิบายว่าประชาชนในประเทศนั้นโง่เง่าถึงหลงเชื่อนักเลือกตั้งด้วยผลประโยชน์เฉพาะหน้า ขณะที่พวกผู้นำทางความคิดในโลกอินเตอร์เน็ต และ IO พยายามสนับสนุนการดำรงอยู่ของเผด็จการทหาร และสร้างคำอธิบายที่ว่า “ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ (ในแง่ของความเป็นไปได้) และประชาชนยังไม่ค่อยพร้อมนักกับประชาธิปไตย”

Advertisement

สรุปคร่าวๆ ว่า ในวันนี้เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า การเลือกตั้งโดยตัวของมันเองไม่ได้เป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนที่เราจะฟันธงได้ว่าเป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตย หรือเผด็จการ หากแต่เรื่องที่เขาสนใจกันก็คือ การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละครั้งนั้นเข้าองค์ประกอบเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตยที่มีคุณภาพหรือไม่

ตัวอย่างเงื่อนไขที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเลือกตั้งที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพก็คือ การเลือกตั้งนั้นจะต้องเสรี (free) เป็นธรรม หรือเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ต่อสู้กัน (fair) มีการจัดการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ (regular) และเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่มีความหมายต่อพลเมืองในประเทศนั้นว่าเขาสามารถเลือกผู้นำและเปลี่ยนแปลงประเทศได้จากการเลือกตั้ง (meaningful)

อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงนั้น อุตสาหกรรมการวัดประเมินและตรวจสอบการเลือกตั้งทั้งจากคณะกรรมการเลือกตั้งในแต่ละประเทศ และจากคณะตรวจสอบการเลือกตั้งจากต่างประเทศ ดูจะไม่ค่อยที่จะฟันธงได้เท่าไหร่ว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งนั้นถึงกับเป็นโมฆะ หรือไม่ตรงตามเงื่อนไขของการเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ยิ่งโดยเฉพาะชุมชนการเมืองระหว่างประเทศเอง ก็ดูจะไม่ค่อยสร้างเงื่อนไขกดดันประเทศเผด็จการ และประเทศประชาธิปไตยคุณภาพต่ำมากนัก แถมยังรับรองเข้าสู่ที่ประชุมประเทศในระดับนานาชาติอีกต่างหาก

Advertisement

อีกประเด็นที่ต้องกล่าวถึงก็คือ การศึกษาที่ผ่านมาเรื่องการเลือกตั้งที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพนั้น ขาดการทำความเข้าใจแรงจูงใจของเผด็จการที่จะใช้การเลือกตั้งในฐานะเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมของเผด็จการเองที่จะอยู่ในอำนาจต่อ

กล่าวในแง่นี้ การเลือกตั้งนั้นไม่ได้มีความหมายแต่กับประชาชนพลเมืองเท่านั้น แต่ยังมีความหมายกับเผด็จการบางกลุ่มด้วย

เมื่ออธิบายเช่นนี้แล้ว นอกจากเราจะต้องทำความเข้าใจว่า การเลือกตั้งนั้นไม่ใช่ตัวแบ่งระบอบประชาธิปไตย ออกจากเผด็จการ เรายังจะต้องเข้าใจต่อไปอีกว่า การที่เผด็จการปล่อยให้มีการเลือกตั้งนั้นไม่ใช่กระบวนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตยอีกต่างหาก

และด้วยวิธีการวัดประเมินการเลือกตั้งที่ไม่ค่อยทำได้จริง การฟันธงและไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งจากชุมชนนานาชาติ และองค์กรกลางของแต่ละประเทศก็เกิดขึ้นได้ยาก

ในการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบในวันนี้ มีแนวทางการศึกษาอีกแนวหนึ่งที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ก็คือเรื่องของการพยายามทำความเข้าใจว่าทำไมเผด็จการยอมให้มีการเลือกตั้ง หรือในหลายกรณี กระตือรือร้นที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งอีกต่างหาก

คำตอบสำคัญในการที่เผด็จการนั้นเปิดให้มีการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการเลือกตั้งแบบที่ไม่ได้ค้านสายตาชาวโลกมากนัก เช่น เปิดให้มีคู่แข่งทางการเมือง มีกติกาที่ชัดเจนในการเลือกตั้งที่นานาชาติยอมรับได้ (แม้ว่าในความเป็นจริงเมื่อเผด็จการอยู่ในอำนาจ เผด็จการก็จะได้เปรียบอยู่แล้วในเงื่อนไขนี้) การเลือกตั้งจะมีขึ้นอย่างสม่ำเสมอไม่ใช่สิบปีมีครั้ง และประชาชนก็อยากเลือกตั้ง

เงื่อนไขสำคัญที่นักวิชาการค้นพบจากตัวอย่างทั่วโลก ก็คือ การเลือกตั้งนั้นมีความสำคัญกับเผด็จการ (ไม่ว่าเผด็จการทหาร หรือแม้กระทั่งประชาธิปไตยที่มีลักษณะเผด็จการ) เพราะเป็นการ “ต่อชีวิตให้เผด็จการ” ด้วยเงื่อนไขสำคัญสามประการ

หนึ่งคือ การเลือกตั้งเป็นกระบวนการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กับเผด็จการ ทั้งความชอบธรรมทางการเมืองในประเทศ และจากการยอมรับในสายตาของนานาชาติ

การเลือกตั้งถูกนำมาใช้เป็นกระบวนการสร้างความชอบธรรมให้กับเผด็จการ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก กล่าวคือ เมื่อเผด็จการยึดอำนาจ เผด็จการมักจะวางเงื่อนไขว่าเขาจะคืนอำนาจให้กับประชาชนภายใต้เงื่อนเวลาหนึ่งๆ

โดยภาพรวมแล้ว เผด็จการนั้นมักจะมีการสร้างและอ้างความชอบธรรมอยู่หกประการ

1.อ้างความชอบธรรมผ่านมายาคติของการเกิดสังคมการเมืองของประเทศ (foundational myth) อาทิ การใช้เงื่อนไขในการสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ ทั้งนี้เงื่อนไขเช่นนี้มักผูกโยงกับประเทศที่ผ่านการต่อสู้ในสงครามปลดแอก เรียกร้องเอกราช หรือสงครามกลางเมือง เงื่อนไขดังกล่าวนี้ยังผูกโยงไปด้วยเรื่องของความมั่นคงของชาติในการสร้างศัตรูร่วมบางอย่าง หรือศัตรูแห่งชาติ ไม่ว่าจะศัตรูจากภายนอกหรือจากภายในประเทศ งานศึกษาพบว่าเผด็จการที่เป็นการที่ปิดกั้นเสรีภาพมากๆ นั้นชื่นชอบที่จะใช้เงื่อนไขข้อนี้ในการอยู่ในอำนาจ

2.อ้างความชอบธรรมผ่านอุดมการณ์ (ideology) และอุดมการณ์ที่สำคัญในการที่เผด็จการอ้างในการปกครองเป็นพิเศษก็คือ อุดมการณ์ชาตินิยม ซึ่งหน้าที่ของการอ้างอุดมการณ์ดังกล่าวนั้นก็คือการนำเอาอุดมการณ์ดังกล่าวนั้นมาวัดประเมินว่ารัฐบาล หรือบุคคลไหนในสังคมนั้นทำตัวแปลกแยก เบี่ยงเบนไปจากอุดมการณ์ดังกล่าวหรือไม่

3.อ้างความชอบธรรมในการปกครองผ่านบุคลิกภาพและภาวะผู้นำของตัวผู้นำเอง (personalism) เพื่อให้บุคลิกภาพของตัวผู้นำนั้นถูกสร้างให้เป็นเงื่อนไขที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่ความเป็นเอกภาพ ความมั่งคั่ง และความมั่นคง

4.อ้างความชอบธรรมผ่านกระบวนการทางการเมือง (procedures) ทั้งนี้ เผด็จการจะอ้างว่าเขาจะทำหน้าที่ในการดำเนินการให้เกิดการเลือกตั้งสักวันหนึ่ง รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อถ่ายโอนอำนาจกลับสู่ประชาชน รวมทั้งสร้างกระบวนการทางนโยบาย อาทิ การกำหนดยุทธศาสตร์แห่งชาติและแผนการพัฒนาต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย และเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยในระยะยาว

5.อ้างความชอบธรรมผ่านสมรรถภาพของรัฐบาล (performance) กล่าวคือ เผด็จการนั้นอยู่ได้เพราะได้ทำตามความต้องการของประชาชน ในเรื่องความต้องการด้านวัตถุ/สวัสดิการสังคม อาทิ ระบบการศึกษา การสาธารณสุข และผลการพัฒนาในด้านอื่นๆ รวมทั้งเป็นหลักประกันในด้านการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ รักษาความมั่นคงตามแนวชายแดน และการพัฒนาเศรษฐกิจ

6.อ้างการยอมรับจากนานาชาติ (international engagement) ในความหมายนี้ ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่านานาชาติยอมรับจริงหรือไม่ แต่เงื่อนไขสำคัญอยู่ที่ว่าประชาชนในประเทศเชื่อว่า รัฐบาลของประเทศเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ หรือแม้กระทั่งการอ้างว่าต้องปกป้องประเทศจากการรุกรานของต่างชาตินั้น ความจริงอาจจะไม่ใช่เรื่องของสงครามที่จะเกิดขึ้น แต่ข้ออ้างดังกล่าวทำให้ประชาชนเชื่อมั่นและเชื่อฟังรัฐบาลในหลายกรณี

จะเห็นว่าการเลือกตั้งนั้นทำหน้าที่สำคัญในการอ้างความชอบธรรมผ่านกระบวนการทางการเมือง และ ถ้าเราพิจารณาว่าเผด็จการนั้นใช้การอ้างความชอบธรรมหลายแบบ เราจึงไม่ควรจะแปลกใจมากนักว่าทำไมอาการอยากเลือกตั้งไม่ใช่เงื่อนไขเดียวที่จะทำให้รัฐบาลนั้นสะเทือนได้ แถมรัฐบาลอาจจะจัดการเลือกตั้งให้อีกต่างหาก แล้วรัฐบาลก็อาจจะชนะอย่างท่วมท้นในหลายกรณี โดยไม่ได้ใช้กลไกการกดขี่อะไรมากนักอีกต่างหาก (แต่หลายกรณีมักใช้กลไกโกงเนียนๆ ก็ไม่ใช่น้อย)

การเลือกตั้งยังทำหน้าที่สำคัญในเงื่อนไขที่สอง ที่ทำให้เผด็จการอยู่ในอำนาจได้ เพราะเป็นการลดบทบาทของฝ่ายต่อต้านลง ทั้งลดเงื่อนไขของการทำรัฐประหารซ้อนในหลายกรณี และลดบทบาทของฝ่ายต่อต้านนอกสภา (เช่น อยากเลือกตั้ง เดี๋ยวก็จะจัดให้ รออีกนิดนะ อย่าออกมาวุ่นวาย ปุดโธ่ เดี๋ยวไม่จัดซะเลย) และที่สำคัญคือ ลดอิทธิพลของพรรคฝ่ายค้าน ทั้งในแง่ที่ว่าหลอกให้ฝ่ายค้านมีหวังว่าจะได้เข้ามาอยู่ในเกมส์การเลือกตั้ง แทนที่จะไปเคลื่อนไหวบนท้องถนน

ที่ออกจะเศร้าอยู่บ้างก็คือ การเลือกตั้งที่ดูเหมือนกับว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านออกจากเผด็จการ แต่เผด็จการยังอยู่ในอำนาจ แถมลงมาเล่นเกมส์ “ตามครรลอง” ด้วยนั้น บ่อยครั้งยังทำหน้าที่สร้างความแตกแยกกันเองให้กับบรรดาพรรคการเมืองที่มีจุดยืนต่อต้านรัฐบาล แต่ดันไม่อยากจะร่วมมือกัน ขณะที่พรรคฝ่ายค้านบางกลุ่มยังเข้าไปสวามิภักดิ์กับฝ่ายเผด็จการอีกต่างหาก โดยเฉพาะเมื่อเผด็จการเลือกจะเปลี่ยนผ่านระบอบของตนเองไม่ใช่ไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้ทรู แต่ต้องการเปลี่ยนผ่านเผด็จการแบบบุคคล หรือคณะทหารไปสู่เผด็จการที่มีพรรคขนาดใหญ่ของตัวเองเป็นฐานอำนาจในการครองอำนาจต่อ

อนึ่ง เงื่อนไขการเลือกตั้งที่ทำหน้าที่ลดทอนพลังทางสังคมที่จะต่อต้านเผด็จการนี้ ไม่ใช่เงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้เสียทีเดียว ในความเป็นจริงหลายกรณี เมื่อสังคมสะสมจนเกินกว่าความเชื่อว่า การเลือกตั้งแบบปลอมๆ หรือการเลือกตั้งที่เผด็จการได้เปรียบนั้นจะเป็นทางออกของสังคมได้ ประชาชนอาจจะพร้อมใจกันลุกฮือ หรือพร้อมใจกันเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านการเทคะแนนให้กับฝ่ายค้านก็เป็นได้ อย่างในกรณีของพม่า หรือลุกฮือไม่เอาเผด็จการแบบมูบารัคในอียิปต์ อีกต่อไป

เงื่อนไขที่สามในการที่ทำให้การเลือกตั้งนั้นทำให้เผด็จการไปต่อได้ก็คือ การเลือกตั้งในช่วงที่เผด็จการปรับตัวนั้น อาจทำหน้าที่บริหารจัดการและปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างบรรดาชนชั้นนำด้วยกัน โดยเป็นการเปิดโอกาสอย่างเป็นระบบให้มีการรับสมัครและดึงดูด (คือทั้งดึง ทั้งดูด) เอานักการเมืองและชนชั้นนำทางอำนาจหลายกลุ่มเข้ามาอยู่ในฝ่ายตัวเอง โดยมีการแปรสภาพการสร้างเครือข่ายอำนาจดังกล่าวออกมาเป็นพรรคการเมืองที่สนับสนุนให้เผด็จการเหล่านั้นอยู่ต่อนั่นเอง

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น แสดงให้เห็นว่าอย่าเพิ่งตื่นเต้นว่าการเลือกตั้งเป็นทุกอย่างที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตย โดยเฉพาะประชาธิปไตยที่มีคุณภาพโดยอัตโนมัติ แต่เราก็ยังต้องเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง (เพราะการเลือกตั้งยังสร้างความเป็นไปได้ในการใช้เสรีภาพทางการเมืองมากกว่าในระบอบเผด็จการปกติ และทำให้เรามีความหวังใหม่ๆ มากขึ้น) ยังต้องเรียกร้องให้มีการบริหารจัดการเลือกตั้งที่ดี และต้องเรียกร้องให้ช่วยกันทำความเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งของเผด็จการด้วยว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนั้นจะก่อให้เกิดประชาธิปไตยที่ยั่งยืนและมีคุณภาพ หรือจะก่อให้เกิดการสืบสานอำนาจต่อไปของเผด็จการครับ

—————

หมายเหตุ – ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก K.Juma. “Elections and Legitimacy in Authoritarian Regimes: A Comparative Study of Egypt and Sudan”. International Journal of Politics and Good Governance. 6:6.1. 2015, C. von Soest and J. Grauogel. “Identity, Procedures and Performance: How Authoritarian Regimes Legitimize their Rule”. Contemporary Politics. 23:3. 2017, L. Blaydes. Authoritarian Elections and Elite Management: Theory and Evidence from Egypt. Paper delivered at Conference on Dictatorships, Princeton University, 2008. และ B. Magaloni. Voting for Autocracy: Hegemonic Party Survival and Its Demise in Mexico. Cambridge: CUP. 2008

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ([email protected])

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image