‘สกสค.’ถก’ออมสิน’เคลียร์หักเงินกองทุนหมื่นล.หลังเอ็มโอยูแก้หนี้ครู 7 พ.ค.

นายพินิจศักดิ์  สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารออมสินและสำนักงานสกสค.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยูแก้ไขปัญหาหนี้สินครู วันที่ 7 พฤษภาคมนี้นั้น จะส่งผลให้ธนาคารออมสินยุติการส่งเงินค่าบริหารจัดการ 0.5-1% ตามข้อตกลงแต่ละโครงการ ที่ธนาคารออมสินเคยเข้ากองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา(ช.พ.ค.) ลงและส่งคืนให้กับครูโดยตรงทั้งหมด และจะมีผลให้ธนาคารต้องหยุดหักเงินจากกองทุนเงินสนับสนุนฯ เพื่อชำระหนี้แทนครูที่ค้างชำระเกิน 3 งวดขึ้นไปด้วย หลังจากนั้นตนจะสอบถามกรณีที่ธนาคารออมสินหักเงินจากกองทุนเงินสนับสนุนฯ เพื่อชำระหนี้แทนครู ซึ่งมียอดรวม 1 หมื่นกว่าล้านบาท เพื่อขอให้ชี้แจงรายละเอียดและขอให้คืนให้กับสำนักงานสกสค.อีกครั้ง

ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสกสค. กล่าวต่อว่า การทวงถามเงิน 1 หมื่นกว่าล้านบาทที่ธนาคารออมสินหักไปจากกองทุนเงินสนับสนุนฯนั้น ต้องย้อนกลับไปดูข้อตกลงเดิมด้วยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านตั้งแต่ช่วงที่ตนเข้ามารรับตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสกสค. รอบแรกในปี 2558 ได้ทำหนังสือไปสอบถามธนาคารออมสินแล้ว 6-7 รอบ  ว่า ก่อนหักเงิน ธนาคารได้ทำตามข้อตกลงหรือไม่ เช่น กรณีผิดนัดชำระหนี้งวดที่1 ธนาคารทำอย่างไรและสกสค.ทำอย่างไร ผิดนัดชำระหนี้งวดที่ 2 ทำอย่างไรและผิดนัดชำระหนี้งวดที่ 3 ทำอย่างไรบ้างก่อนที่จะมีการหักเงินจากกองทุนเงินสนับสนุนฯแต่จนถึงปัจจุบันธนาคารออมสินก็ไม่มีการชี้แจงใดๆ กลับมา

“ขั้นตอนการดำเนินงานที่สกสค.สอบถามธนาคารออมสินไป ทางธนาคารอาจจะทำแล้ว แต่ไม่ได้แจ้งให้สำนักงานสกสค.รับทราบก็เป็นได้ แต่จากการสอบถามไปสำนักงานสกสค.บางจังหวัด พบว่าไม่ได้รับการแจ้งเตือนจากธนาคาร เราก็ต้องรับฟัง แต่จะนำคำบอกเล่าไปฟ้องร้องตามกฎหมายไม่ได้ หลังจากเอ็มโอยูเรียบร้อยแล้ว ตั้งใจจะคุยกับธนาคารออมสินอีกครั้ง เพราะการหักเงินผู้ที่ค้างชำระเกิน 3 งวดขึ้นไปถือว่าธนาคารทำได้ ตามข้อตกลงเดิม แต่ก่อนที่จะครบ 3 งวดเราอยากรู้ว่า ธนาคารได้ทำตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในรายละเอียดด้วยหรือไม่ก่อนพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้ธนาคารออมสินและสำนักงานสกสค.เป็นหน่วยงานรัฐทั้งคู่ หากเรื่องใดพอที่จะจับมือแก้ปัญหาได้ ก็ควรที่จะจับมือกัน ส่วนจำนวนเงินจะเพิ่มมากขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาทหรือไม่นั้น ตนยังไม่ได้เช็กยอดล่าสุด ส่วนการปรับแก้การทำประกันชีวิตของผู้กู้นั้น ต้องการให้ผู้กู้ได้มีโอกาสเลือกทำประกันด้วยความสมัครใจ  อาจมีหลายแนวทาง เช่นการทำประกันปีต่อปี เบี้ยประกันถูก แต่ก็ผลเสียคือ ถ้าปีถัดไป เป็นโรคร้ายแรงบริษัทอาจไม่รับทำประกันต่อ ทั้งนี้สกสค.จะพยายามหาข้อมูลเพื่อให้ครูตัดสินใจรวมถึงต้องมีบริษัทประกันที่มากกว่า 1 แห่งให้ได้เลือก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image