ล่าขบวนการโกง  ‘กองทุนเสมาฯ’ 77 ล้านบาท

งวดเข้ามาทุกขณะกับการคลี่คลายปมการทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ที่โกงตั้งแต่ปี 2548-2561 ยาวนานกว่า 10 ปี!!

ก่อนนี้คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(อ.ก.พ. สป.ศธ.) สั่งลงโทษ “ไล่ออกจากราชการ” นางรจนา สินที อดีตนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ระดับ 8 สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา สป.ศธ. อดีตผู้ดูแลกองทุนเสมาฯ พร้อมส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) รับไม้ต่อ
พร้อมกันนั้นส่งพยานหลักฐานเอกสาร พยานวัตถุ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ยึดได้จากโต๊ะทำงานของนางรจนา และรายชื่อผู้เกี่ยวข้อง 44 ราย ให้ป.ป.ท.

ทั้ง 44 ราย จำแนกเป็น 1.กลุ่มที่มีความถี่ในการโอนเงินกองทุนเสมาฯ คือ นางรจนา และเครือญาติ 2.กลุ่มเพื่อนสมัยเรียนปริญญาโทของนางรจนา 3.กลุ่มนักเรียนทุนที่ใกล้ชิดนางรจนา และนางรจนาอาศัยพึ่งพา มีการหยิบยืมเงิน และยอมให้บัญชีตัวเองกับนางรจนาเพื่อทำธุรกรรม และ 4 .กลุ่มที่มีความเชื่อมโยงกับมูลนิธิบางแห่ง เงินที่โอนเข้าบัญชีเจ้าของมูลนิธิ และจากข้อมูลปี 2558 พบเป็นมูลนิธิที่เคยไปทำกิจกรรมกับศธ.ด้วย

ล่าสุด คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงชุดนายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการศธ. เป็นประธาน ได้สรุปผลสอบซึ่งคืบหน้าไปกว่า 99%

Advertisement

รายละเอียดพบว่าระหว่างปี 2548-2561 มีหลักฐานการโอนเงินกว่า 1,000 รายการ เป็นเงินรวม 240,173,163 บาท ในจำนวนนี้เป็นเงินที่โอนถูกต้องตรงกับผู้มีสิทธิ 134,425,281 บาท คิดเป็น 56% ของจำนวนเงินทั้งหมด แบ่งเป็นโอนให้โรงเรียนราชประชานุเคราะห์และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) รวม 41 แห่ง เป็นเงิน 70,387,423 บาท สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด(กศน.จังหวัด) 3 แห่ง เป็นเงิน 7,572,588 บาท และวิทยาลัยพยาบาล 26 แห่ง เป็นเงิน 56,465,270 บาท

นอกนั้นเป็นการโอนที่ไม่ถูกต้อง และเป็นการโอนอ้อมหรือการหมุนเงิน ตัวเลขความเสียหายล่าสุดอยู่ที่ 77,340,907 บาท โดยกองทุนเสมาฯ ต้องเยียวยานักเรียนนักศึกษารวม 19,573,869 บาท แบ่งเป็น โรงเรียนสังกัดสพฐ. 7,990,197 บาท และวิทยาลัยพยาบาล 12,245,000 บาท* แต่นั่นหมายความว่าวิทยาลัยพยาบาลและโรงเรียนสังกัดสพฐ.ทุกแห่งจะต้องส่งสเตตเมนต์หลักฐานการรับโอนเงินทั้งจากกองทุนเสมาฯ และจากบัญชีบุคคลอื่น มาให้ศธ.อย่างครบถ้วน เนื่องจากขณะนี้ยังมีสถานศึกษาหลายอย่างที่ไม่ส่งสเตตเมนต์มาให้ตามที่ศธ.ร้องขอ

ทั้งนี้เท่ากับว่า ตัวเลขความเสียหายที่ก่อนหน้านี้แจ้งว่า 41 กว่าล้านนั้น ไม่ใช่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นมาเป็น 77 ล้าน ใกล้เคียงกับวันแรกที่ศธ.เปิดประเด็น 88 กว่าล้านบาท!!

Advertisement

ความน่าสนใจอยู่ที่เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่นายสุชาติ เดชอิทธิรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เข้าพบนายอรรถพล นั้น มีการพูดคุยกันว่าบัญชีผู้รับโอนและผู้โอนในช่วง 10 ปีกว่า 1,000 รายการนั้น ในจำนวนนี้มี 68 บัญชีที่ยังไม่สามารถสืบค้นได้ว่าเป็นบัญชีของใคร ธนาคารแจ้งว่าติดขัดด้านกฎหมายจึงไม่สามารถส่งมอบข้อมูลให้ศธ.ได้ ซึ่งศธ.ไม่ติดใจที่ธนาคารจะแจ้งข้อมูลให้ป.ป.ท.โดยตรง แต่ติดใจตรงที่

“ตั้งแต่ปี 2548-2559 การโอนเงินไม่ได้พิมพ์ชื่อบัญชี พิมพ์เฉพาะเลขที่บัญชีอย่างเดียวมาตลอด ซึ่งทางธนาคารก็โอนเงินเข้าบัญชีได้ตามปกติ เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่า เป็นบัญชีของจริงหรือของปลอม แต่ปี 2560 มีการโอนจากศธ. 2 ครั้งมีการพิมพ์ชื่อบัญชี และเลขที่บัญชีครบถ้วน เพียงแต่เลขที่บัญชีที่ส่งให้ทั้ง 2 ครั้ง เป็นบัญชีปลอมหลายรายการ แต่ทางธนาคารกรุงไทยซึ่งใช้ระบบจีโร่ในการโอนเงิน ก็ยังอนุมัติการโอนเลขที่บัญชีปลอมไปเช่นเดิม”

ธนาคารกรุงไทย ตอบรับจะรับเรื่องนี้ไปตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น และมีใครเกี่ยวข้องบ้าง แต่เบื้องต้นอาจจะมีเจ้าหน้าที่ของธนาคารกรุงไทยรู้เห็นเป็นใจด้วย ขณะที่ธนาคารกรุงไทยออกมาแถลงการณ์ชี้แจงว่า “ธนาคารกรุงไทยยืนยันว่ายึดมั่นในนโยบายต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ นอกจากนี้ได้แสดงเจตนารมณ์ว่าธนาคารมีความพร้อมอย่างยิ่งในการให้ความร่วมมือ เพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ ภายใต้กรอบของหลักเกณฑ์และกฎหมายที่กำหนด ภายหลังจากการหารือ ที่ประชุมได้รับทราบความตั้งใจและเข้าใจในบทบาทของธนาคารเป็นอย่างดี พร้อมได้กำหนดแนวทางการดำเนินการร่วมกัน เพื่อให้การสืบสวนเป็นไปอย่างราบรื่น โดยไม่มีประเด็นที่เกี่ยวโยงธนาคารในเรื่องการทุจริตแต่อย่างใด”

ก็คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของป.ป.ท.ในการสืบสาวต่อไปว่าธนาคารกรุงไทย จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร หรือไม่!! 

สำหรับความคืบหน้าขณะนี้ คณะกรรมการสืบสวนฯ พบว่า รูปแบบทุจริตมีรูปแบบเดียว คือการปลอมและสอดแทรกเลขที่บัญชีธนาคารที่ไม่เกี่ยวข้อง โดยการปลอมเลขที่บัญชีธนาคารแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน เช่น นำเลขที่บัญชีบุคคลภายนอกแทรกเข้าไป นำบัญชีของสถานศึกษามาสลับเพื่อให้เงินหมุนวน การเบิกเงินซ้ำซ้อน และเบิกก่อนกำหนดโดยไม่มีเหตุผล

ซึ่งทุกครั้งมีการโกงเกิดขึ้น!!

ปัญหาที่ทำให้เกิดการทุจริต คือการทำงานแบบลัดวงจร หลายจุดไม่ทำตามระบบ และมีประเด็นที่ควรหาคำตอบเพิ่มเติม เช่น ปี 2547 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เคยจ่ายเช็ค เลขที่ 0097627 จำนวน 31 ล้านบาท เข้ากองทุนฯ ซึ่งต้องไปตรวจสอบว่าเงินจำนวนนี้ นำเข้าสมทบกองทุนหรือไม่ ถ้าไม่เข้า มีการนำไปใช้เพื่อการใด

โดยคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงฯ ตรวจพบข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 10 คน โดยจะเสนอนพ.ธีระเกียรติ ใช้ดุลยพินิจตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อไป ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลคณะกรรมการสืบสวนฯ ตั้งใจจะสรุปผลการสืบสวนฯ ให้แล้วเสร็จในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้

เป็นอีกคดีที่ใกล้ปิดฉากหลังจากมีการโกงเงินเด็กยากจน มายาวนานถึง 10!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image