‘สพฐ.’ สั่งร.ร. ‘ยืดหยุ่น’ รับม.1 พื้นที่บริการเข้าเรียนไม่จำกัด

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม  นายบุญรักษ์  ยอดเพชร  เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า  จากกรณีที่ผู้ปกครองนักเรียน เข้าร้องเรียนต่อนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการกำหนดให้โรงเรียนรับนักเรียนขั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2561 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  40 คนต่อห้อง ทำให้มีเด็กในพื้นที่บริการบางส่วน ไม่มีโอกาสในการเข้าเรียนต่อนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนเสนอให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พิจารณา แนวทาง แก้ไขปัญหา การรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการที่ยังไม่มีที่เรียน และนักเรียนที่มีที่เรียนแล้ว แต่ต้องเดินทางไปเรียนนอกเขตพื้นที่ซึ่งไกล เดินทางลำบาก  ซึ่งกพฐ. เห็นชอบ ให้คณะกรรมการสถานศึกษา และคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) พิจารณายืดหยุ่นจำนวนนักเรียนต่อห้อง และจำนวนห้องเรียน ได้ตามความเหมาะสม และตามสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ โดยคำนึงถึงคุณภาพของนักเรียน และดูว่าประชาชนเดือนร้อนในเรื่องใด ที่เกี่ยวข้องกับการรับนักเรียนครั้งนี้  ทั้งนี้สพฐ. จะมีหนังสือแจ้งแนวทางดังกล่าว ไปยังกศจ. ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)ทั่วประเทศ เพื่อแจ้งไปยังโรงเรียนในพื้นที่ให้ ได้รับทราบแนวทางดังกล่าว ภายในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้

“การยืดหยุ่นครั้งนี้ถือเป็นการดูแลสิทธิการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย  โดยให้โรงเรียนพิจารณารับเด็กในเขตพื้นที่บริการของตนเองที่ยังไม่มีที่เรียน  หรือเด็กในพื้นที่บริการที่มีที่เรียนแล้ว แต่ต้องเดินทางไปด้วยความยากลำบากเข้าเรียน  ทั้งนี้ผู้ปกครองนักเรียนที่ได้รับผลกระทบ ขอให้มาแจ้งความประสงค์ได้ที่โรงเรียนในพื้นที่  จากนั้นโรงเรียนจะพิจารณาเสนอ กศจ.เห็นชอบตามขั้นตอน  เชื่อว่า เด็กจะไม่แห่ไปเข้าโรงเรียนดังในพื้นที่แน่นอน เพราะบางเขตอาจจะมีโรงเรียน 3 แห่ง หากเด็กในพื้นที่บริการประสงค์จะย้ายมาเฉพาะโรงเรียนดัง  โรงเรียนก็ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม เรื่องนี้มอบหมายให้คณะกรรมการสถานศึกษา และกศจ.พิจารณาเป็นรายๆ ไป   การยืดหยุ่นครั้งนี้ไม่ได้เป็นการเปิดช่องให้ใคร เพราะถ้าสพฐ. ดึงดัน ไม่ยืดหยุ่น  เด็กก็ไม่มีที่เรียน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน  ไม่มีประโยชน์”นายบุญรักษ์กล่าว  และว่า เท่าที่ทราบมีคนให้ข้อมูลว่า มีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้จำนวนหนึ่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด บางคนต้องเดินทางไปเรียนต่างอำเภอ  คิดว่าจะทราบจำนวนที่แน่นอนประมาณ วันที่ 10 มิถุนายน  หลังจากผู้ปกครองได้แจ้งความประสงค์มายังโรงเรียน และโรงเรียนได้พิจารณารับเด็กตามความเหมาะสมแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องกำหนดหรือไม่ว่านักเรียนต่อห้องไม่ควรเกินเท่าไร นายบุญรักษ์ กล่าวว่า ไม่ได้กำหนด แต่ให้อยู่ในดุลยพินิจของโรงเรียน โดยให้คำนึงถึงคุณภาพ ซึ่งสพฐ.ไม่สามารถบอกได้ว่า จำนวนที่เหมาะสมต่อห้องจะอยู่ที่เท่าไร หากตัวเลขวันที่ 10 มิถุนายนนิ่งแล้วโรงเรียนใดมีนักเรียนมากเกินไป ก็จะต้องมาพิจารณาอัตราครูใหม่ รวมถึงขยายห้องเรียนให้มีความเหมาะสมกับจำนวนนักเรียนต่อห้อง  การยืดหยุ่นดังกล่าวไม่ได้ให้โรงเรียนพิจารณาตามศักยภาพตัวเอง ว่าสามารถรับนักเรียนได้เท่าไร แต่ดูตามข้อกฎหมาย ที่ให้เด็กได้มีสิทธิการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีการประกาศเขตพื้นที่บริการ  ดังนั้นถ้าเด็กในพื้นที่บริการไม่มีที่เรียนก็ต้องรับไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image