ปวดข้อ ข้อเสื่อม ในผู้สูงอายุ : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

หากติดตามเรื่อง “ประชากรกับการพัฒนา” จะพบว่าโครงสร้างประชากรทั่วโลก อันหมายรวมถึงประเทศไทย แนวโน้มจะเป็นครอบครัวเล็ก เด็กคลอดน้อยลง วัยทำงานมากขึ้น รวมถึง “ผู้สูงอายุ” จะมากขึ้น เป็นโสดมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย ในประเด็นเรื่องอาชีพ จากเดิมมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เมื่อบ้านเมืองรุ่งเรือง ความเจริญก้าวหน้า เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ผนวกกับความเจริญทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สิ่งที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพร่างกาย ทั้งเรื่อง “ความสูงวัย” รวมถึง “พฤติกรรม” การดำเนินกิจกรรมประจำวัน วิถีชีวิตตามวัฒนธรรมประเพณี และความตระหนักใส่ใจในการดูแลสุขภาพ ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ สุขภาพของคนเราทุกคนหนีไม่พ้นในเรื่องของ ความเจ็บป่วย

โดยเฉพาะในผู้สูงอายุหรือผู้สูงวัย ย่อมเผชิญกับ “ความเสื่อม” โดยเฉพาะเรื่อง “ข้อเสื่อม” พบได้ว่าเป็นสาเหตุอันดับแรกของอาการปวดข้อในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป หรือหลังวัยหมดประจำเดือน หรือที่เรียกว่า “วัยทอง” และจะพบมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึงประมาณ 3 เท่า ถือเป็นโรคไม่ติดต่อ (NCD) และเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ค่อยมีโรคแทรกซ้อนที่อันตรายร้ายแรงแต่จะมีอันตรายที่เกิดจากการ “ใช้ยาแก้ปวดข้อ” และ “ยาสเตอรอยด์” อย่างพร่ำเพรื่อ

อาการ เกิดจากข้อเสื่อมตามวัย หรือข้อรับน้ำหนักมากเกินไป หรือมีการบาดเจ็บทำให้กระดูกอ่อนตรงผิวข้อต่อสึกกร่อน และมีกระดูกงอก (หินปูนเกาะ) ขรุขระเวลาเคลื่อนไหวข้อจึงทำให้เกิดอาการปวดขัดในข้อ อาจมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ อายุมาก ความอ้วน (น้ำหนักมาก) หรือพวกกลุ่มที่มีอาชีพต้องใช้ข้อมากๆ (เช่น ขี่สามล้อ แบกกระสอบ ยกข้อหนักๆ นักวิ่ง ชาวนา ชาวไร่ หรืออาชีพที่ต้องยืนนานๆ) เป็นต้น ข้อที่เป็นได้บ่อยมักเป็นข้อที่รับน้ำหนักมาก ได้แก่ ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อกระดูกสันหลัง ข้อกระดูกคอ เป็นต้น บางรายอาจจะเป็นตามข้อนิ้วมือ (ปลายนิ้วมือ และกลางนิ้วมือ) ได้ ผู้ป่วยอาจมีภาวะเสื่อมของข้อหลายแห่งพร้อมกัน แต่มักจะมีอาการแสดงเพียง 1-2 ข้อเท่านั้น

Advertisement

อาการแสดง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดขัดในข้อ (เช่น ปวดเข่า ปวดสะโพก ปวดหลัง ปวดต้นคอ) เรื้อรังเป็นแรมเดือน แรมปี ผู้ป่วยที่ปวดข้อเข่า มักจะปวดมากเวลาเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นท่ายืน หรืออยู่ในท่างอเข่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ หรือนั่งขัดสมาธินานๆ หรือเดินขึ้นลงบันได หรือยกของหนัก

อาการปวดข้อมักจะเป็นตอนกลางคืน หรือเวลาอากาศเย็นขึ้น หรืออาการเปลี่ยนแปลง ข้อที่ปวดมักจะมีอาการบวมแดงร้อน แต่ถ้าเป็นมากๆ อาจมีการบวมและมีน้ำขังอยู่ในข้อ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการทั่วไปเป็นปกติทุกอย่าง

สิ่งตรวจพบ เมื่อใช้มือจับข้อเข่า หรือข้อสะโพกที่ปวด โยกไปโยกมาจะมีเสียงดับกรอบแกรบ

อาการแทรกซ้อน ถ้าเป็นรุนแรงอาจมีอาการเคลื่อนไหว้ข้อไม่สะดวก เช่น เดินไม่สะดวก ปวดบวมได้

การรักษา 1.ถ้ามีอาการปวดให้พักข้อที่ปวด (เช่น อย่าเดินมาก ยืนมาก หรือเดินขึ้นลงบันได) และใช้น้ำร้อนประคบ และกินยาแก้ปวดพาราเซตามอล บรรเทาเป็นครั้งคราว ถ้ามีอาการปวดมากอาจให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ 3-5 วัน ไม่ควรกินติดต่อกันนานๆ และควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ (ถ้าจำเป็นต้องกินยากลุ่มนี้ควรให้ยาป้องกันโรคกระเพาะ เช่น ยกลดกรด ครั้งละ 30 ซีซี วันละ 7 ครั้ง)

2.พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้อาการปวดกำเริบ เช่น ห้ามยกของหนัก หรือหาบน้ำ หิ้วน้ำ อย่ายืนนาน อย่านั่งคุกเข่า (นั่งถูพื้น หรือซักผ้า) นั่งพับเพียบ หรือขัดสมาธิ พยายามนั่งในท่าเหยียดเข่าตรง หลีกเลี่ยงการเดินขึ้นลงบันได เพราะข้อเข่าจะกระแทกเสียดสีกันได้ เป็นต้น ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เช่น หลักจากนั่งทำงานนาน 1 ชั่วโมง ควรพักและลุกขึ้นเดินสัก 2-3 นาที เป็นต้น ถ้าน้ำหนักมาก ควรพยายามลดน้ำหนัก ซึ่งจะช่วยให้อาการปวดทุเลาได้มาก

3.พยายามบริหารกล้ามเนื้อที่เคลื่อนไหวข้อให้แข็งแรง เช่น ถ้าปวดหลังก็ให้บริหารกล้ามเนื้อหลัง ถ้าปวดเข่าก็บริหารกล้ามเนื้อต้นขาส่วนหน้า การฝึกกล้ามเนื้อควรเริ่มทำเมื่ออาการปวดทุเลาลงแล้ว ระยะแรกฝึกวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 5-10 นาที จนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อแข็งแรงไม่เมื่อยง่าย จึงเพิ่มเป็นวันละ 3-5 ครั้ง การบริหารกล้ามเนื้อเข่า : เริ่มแรกไม่ต้องถ่วงด้วยน้ำหนัก ต่อไปค่อยๆ ถ่วงน้ำหนัก (เช่น ใส่ถุงทราย) ที่ข้อเข่าทีละน้อยจาก 0.3 กิโลกรัม เป็น 0.5, 0.7 และ 1 กิโลกรัม โดยเพิ่มไปเรื่อยๆ ทุก 2-3 สัปดาห์ จนยกได้ 2-3 กิโลกรัม ข้อเข่าก็จะแข็งแรงและลดอาการปวด

4.ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 3-4 สัปดาห์ หรือบวมตามข้อ หรือมีอาการปวดร้าวหรือชาตามแขน (ร่วมกับปวดคอ) หรือขา (ร่วมกับปวดหลัง) ควรแนะนำไปโรงพยาบาล อาจต้องตรวจโดยการเอกซเรย์ ดูการเปลี่ยนแปลงของข้อ หรือถ้าบวมตามข้ออาจต้องเจาะน้ำในข้อออก ตรวจพิสูจน์และรักษาด้วยการให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ ถ้าเป็นมากอาจฉีดสเตอรอยด์เข้าในข้อเป็นครั้งคราว (ไม่ควรเกินปีละ 2-3 ครั้ง อาจทำให้กระดูเสื่อม หรือสลายตัวเร็วขึ้น) และให้การรักษาทางกายภาพบำบัด ในบางรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุไม่มาก หรือจำเป็นต้องเดินมากๆ (ในการทำงานหรือประกอบอาชีพ) แพทย์อาจจะฝึกการทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเสื่อม) สำหรับข้อเข่าหรือสะโพก)

ข้อแนะนำ 1.ภาวะข้อเสื่อมมักจะเป็นอยู่ตลอดไปไม่หายขาด จึงมักจะมีอาการปวดเรื้อรัง และบางรายอาจรู้สึกปวดทรมานหรือเคลื่อนไหวไม่สะดวก ควรหาทางบรรเทาการปวดข้อด้วยการปฏิบัติตัวให้เหมาะสมเป็นสำคัญ ได้แก่ รู้จักฝึกบริหารกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อที่ปวดให้แข็งแรง ลดน้ำหนัก (ถ้าอ้วน) และหลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ทำให้อาการปวดกำเริบ 2.ยาแก้ปวด ควรเลือกใช้พาราเซตามอล บรรเทาเวลามีอาการปวด แต่ไม่ควรกินยาแก้ปวดประจำ และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์

3.ควรแนะนำผู้ป่วยอย่าซื้อยาชุด ยาแก้ปวดข้อ ยาแก้ปวดเส้น หรือยาลูกกลอนมากินเอง ยาเหล่านี้มักมียาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ และ/หรือ ยาสเตอรอยด์ผสมอยู่ซึ่งช่วยบรรเทาอาการปวดข้อได้ผลดี แต่หากกินประจำอาจเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้ เช่น เลือดออกในกระเพาะ กระเพาะทะลุ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง กระดูกผุ ภูมิคุ้มกันต่ำ ต่อมหมวกไตฝ่อ เป็นต้น

โรคปวดข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)

โรคปวดข้อรูมาตอยด์ เป็นโรคที่เรื้อรังชนิดพึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 1-3 ของคนทั่วไป พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ประมาณ 4-5 เท่า และมักพบในช่วงอายุ 20-50 ปี แต่ก็พบได้ในทุกเพศทุกวัย

สาเหตุ โรคนี้พบว่ามีการอักเสบเรื้อรังของ “เยื่อบุข้อเกือบทุกแห่งทั่วร่างกาย” พร้อมๆ กัน ร่วมกับมีการอักเสบของพังผืดหุ้มข้อเส้นเอ็น และกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อ เชื่อว่าเป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองอย่างผิดปกติต่อเชื้อโรค หรือสารเคมีบางอย่าง (ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน) ทำให้สร้าง antibody ที่มีปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อในบริเวณข้อของตัวเอง เรียกว่า “ปฏิกิริยาภูมิต้านทานตัวเอง หรือออโตอิมมูน (Autoimmune)”

อาการ ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป เริ่มด้วยอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ และกระดูกนำมาก่อนนานเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน แล้วต่อมาจึงมีอาการอักเสบของข้อปรากฏให้เห็น ส่วนน้อยอาจมีอาการอักเสบก่อนอันดับแรกๆ ได้แก่ ข้อนิ้วมือนิ้วเท้า ข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ต่อมาจะเป็นที่ข้อไหล่ ข้อศอก ผู้ป่วยจะมีลักษณะจำเพาะ คือ มีอาการปวดข้อ “พร้อมกันและคล้ายคลึงกันทั้งสองข้าง” และข้อจะบวม แดงร้อน นิ้วมือนิ้วเท้าจะบวมเหมือนรูป “กระสวย” ต่อมาอาการอักเสบจะลุกลามไปทั่วทุกข้อทั่วร่างกายตั้งแต่ขากรรไกรลงมาที่ต้นคอ ไหปลาร้า ข้อไหล่ ข้อศอก ข้อมือ ข้อนิ้วมือลงมาจนถึงข้อเท้าและข้อนิ้วเท้า

บางรายอาจมีอาการอักเสบของข้อเพียง 1 ข้อ หรือไม่กี่ข้อและอาจเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย (ไม่เกิดพร้อมกันทั้งสองข้างของร่างกาย) ก็ได้อาการปวดข้อและข้อแข็ง (ขยับลำบาก) มักจะเป็นมากในช่วงตื่นนอนหรือตอนเช้า ทำให้รู้สึกขี้เกียจ หรือไม่อยากตื่นนอน พอสายๆ หรือหลังมีการเคลื่อนไหวของร่างกายจะทุเลา บางรายอาจมีอาการปวดข้อตอนกลางคืน จนนอนไม่หลับ อาการปวดข้อจะเป็นอยู่ทุกวัน และมากขึ้นทุกขณะนานเป็นแรมเดือนแรมปี โดยมีบางรายอาจะทุเลาไปได้เอง แต่จะกลับมากำเริบรุนแรงขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่มีความเครียดหรือขณะตั้งครรภ์ ถ้าข้ออักเสบเรื้อรังอยู่หลายปี ข้ออาจจะแข็งและพิการได้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายยังอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะโลหิตจาง ฝ่ามือแดง มีผื่นหรือตุ่มขึ้นตามตัว อาการปวดชาปลายมือจากภาวะเส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น อาการนิ้วมือนิ้วเท้าซีดขาว และเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำเวลาถูกความเย็น (Raynaud’s phenomenon) ต่อมน้ำเหลืองโต ม้ามโต ตาอักเสบ หัวใจอักเสบ หลอดเลือดแดงอักเสบ ปอดอักเสบ ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ไข้ต่ำๆ น้ำหนักลด เป็นต้น

สิ่งตรวจพบ ในระยะแรกอาจตรวจพบอาการชัดเจน ในระยะที่เป็นมากอาจพบข้อนิ้วมือนิ้วเท้าบวมเหมือนรูปกระสวย

อาการแทรกซ้อน ถ้าเป็นรุนแรงและเรื้อรังอาจทำให้ข้อพิการผิดรูปผิดร่าง ใช้การไม่ได้ บางรายอาจมีการผุกร่อนของกระดูกในบ้านเราพบว่ามีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีอาการแทรกซ้อนดังกล่าว

การรักษา หากสงสัยควรแนะนำให้ไปโรงพยาบาล การตรวจเลือดจะพบค่าอีเอสอาร์ (ESR) สูง และมักจะพบรูมาตอยด์แฟคเตอร์ (Rheumatoid factor) เอกซเรย์ข้อจะพบมีการสึกกร่อนของกระดูกและความปกติของข้อ การรักษาให้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ต้องที่ใช้ได้ผลดีและราคาถูก ได้แก่ แอสไพริน

ผู้ใหญ่ให้วันละ 4-6 กรัม (12-20 เม็ด) เด็กให้ ขนาด 60-80 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3-4 ครั้งหลังอาหารและกินร่วมกับยาลดกรด เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคกระเพาะ ยานี้ต้องกินติดต่อกันทุกวัน นานเป็นเดือนๆ หรือปีๆ จนกว่าอาการจะทุเลา (โดยทั่วไปต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 เดือน) ขณะเดียวกันก็จะให้การรักษาทางกายภาพบำบัดร่วมไปด้วย เช่น การใช้น้ำร้อนประคบ การแช่หรืออาบน้ำอุ่น ซึ่งมักจะแนะนำให้ทำในตอนเช้านาน 15 นาที

ผู้ป่วยควรขยับข้อต่างๆ อย่างช้าๆ ท่าละ 10 ครั้ง ทำซ้ำทุก 1-2 ชั่วโมง จะช่วยลดอาการเจ็บปวดลงได้ หลังให้กินยาแอสไพรินได้ 1 สัปดาห์ ควรแนะนำให้ผู้ป่วยฝึกการบริหารในท่าต่างๆ ซึ่งควรทำเป็นประจำทุกวัน จะช่วยให้ข้อทุเลาความฝืดและเคลื่อนไหวได้ดี

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรหาเวลาพักผ่อน สลับกับการทำงาน หรือออกกำลังกายเป็นพักๆ

ในรายที่เป็นรุนแรง อาจต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน และอาจต้องเข้าเฝือกเพื่อให้ข้อที่ปวดได้พักอย่างเต็มที่

ในรายที่ใช้ยาแอสไพรินไม่ได้ผล : อาจใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ตัวอื่นๆ ในบางรายอาจต้องให้สเตอรอยด์เพื่อลดการอักเสบ แต่จะให้กินเป็นระยะเวลานั้น หรือให้ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressive) เช่น เมโธเทรกเซท (methotrexate) เป็นต้น

ข้อแนะนำ 1.โรคนี้พบในบ้านเรากว่าร้อยละ 70 ไม่มีอาการรุนแรง รักษาด้วยแอสไพริน กายภาพบำบัด พักผ่อน ออกกำลังกายพอเหมาะ ผู้ป่วยสามารถทำงานได้ตามปกติ หรืออาจหายขาดได้ มีเพียงร้อยละ 20-30 ที่อาจมีอาการรุนแรงที่ต้องใช้ยาอื่นๆ รักษา 2.หัวใจการรักษาอยู่ที่การปฏิบัติตัวของ “ผู้ป่วย” เป็นสำคัญ กล่าวคือ ต้องพยายามเคลื่อนไหวข้อและฝึกกายบริหารเป็นประจำทุกวัน อย่านั่งอยู่เฉยๆ จะทำให้ข้อติดหรือข้อแข็งได้ 3.ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยากินเอง ควรพบแพทย์เฉพาะทางรักษา (Rheumatism) ซึ่งหมายถึงภาวะต่างๆ ที่ทำให้มีการเจ็บปวด ปวดมือ ปวดเท้าของข้อ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ดังนั้น จึงเป็นคำที่ใช้เรียกโรคปวดข้อ ปวดเส้นเอ็นและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยรวม ซึ่งแยกสาเหตุได้มากมาย

ดังนั้น รูมาติซั่ม โรคปวดข้อ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากข้อเสื่อม โรคปวดข้อรูมาตอยด์ ไข้รูมาติก โรคเกาต์ และอื่นๆ ได้ด้วยไงเล่าครับ แต่…อย่าไปเข้าใจผิดว่า “รูมาติซั่ม” หมายถึง “โรครูมาตอยด์” อย่างเดียวด้วยนะครับ เดี๋ยวจะเครียด วิตกกังวลได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image