คอลัมน์ People In Focus: โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี้ นักแสดงตลกสู่ประธานาธิบดียูเครน

“โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี้” ผู้ที่เคยมีประสบการณ์เฉพาะการแสดงเป็น “ประธานาธิบดี” ในซีรีส์ตลกชื่อดัง สามารถคว้าเก้าอี้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครน ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา เอาชนะประธานาธิบดียูเครนอย่าง “เปโดร โปโรเชนโก้” ไปได้ด้วยคะแนนถล่มทลายถึง 73 เปอร์เซ็นต์ ต่อ 25 เปอร์เซ็นต์

เซเลนสกี้ ผู้ที่กำลังจะกลายเป็นประธานาธิบดียูเครนคนที่ 6 และเป็นประธานาธิบดีเชื้อสายยิวคนแรกของประเทศ จบการศึกษาวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัยในเมืองควีวิริค บ้านเกิดในยูเครน อย่างไรก็ตามเซเลนสกี้ ไม่เคยทำงานด้านกฎหมายเป็นอาชีพแต่อย่างใด

เซเลนสกี้ เริ่มคณะตลก ตั้งแต่อายุ 17 ปี ก่อนเข้าแข่งขันแสดงตลกได้ตำแหน่งชนะเลิศในปี 1997

หลังจากนั้น เซเลนสกี้ ได้ก่อตั้งคณะตลกที่มีชื่อว่า Kvatal 95 ซึ่งต่อมาก็ได้กลายมาเป็นบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์และสื่อบันเทิงป้อนให้สถานีโทรทัศน์ทั้งในรัสเซียและในยูเครนเอง

Advertisement

เซเลนสกี้ เริ่มแสดงภาพยนตร์ในปี 2008 มากมายหลายเรื่อง และร่วมแสดงนำในซีรีส์ล่าสุดที่มีชื่อว่า “Servant of The People” หรือ “ข้ารับใช้ประชาชน” ออกฉายเมื่อปี 2015

เซเลนสกี้ แสดงเป็นครูประวัติศาสตร์ที่โด่งดังจากคลิปวิดีโอ “ด่าการทุจริตของรัฐบาล” จนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในที่สุด

บทบาทของ เซเลนสกี้ ในด้านการเมืองเริ่มต้นขึ้นหลัง พรรคการเมือง “Servant of The People” ตั้งขึ้นโดยพนักงานของ Kvatal 95 เมื่อปี 2018

Advertisement

เซเลนสกี้ นับเป็นหนึ่งในผู้มีคะแนนนิยมนำในผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนหลายสำนัก และนั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่นักแสดงตลกมากฝีมือผู้นี้ตัดสินใจลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2018

ในการหาเสียง เซเลนสกี้ เลือกที่จะใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊ก รวมถึง ยูทูบ ในการสื่อสารนโยบายไปยังประชาชนของประเทศ

แน่นอนว่า เซเลนสกี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคู่แข่งทั้งเรื่องการขาดประสบการณ์ทางการเมือง รวมไปถึงความเชื่อมโยงกับ “อิฮอร์ โคโลโมยสกี้” ศัตรูทางการเมืองของโปโรเชนโก้ และเป็นนักธุรกิจทรงอำนาจเจ้าของช่องทีวีที่ รายการของ เซเลนสกี้ ออกอากาศอยู่ อย่างไรก็ตาม เซเลนสกี้ นั้นปฏิเสธข้อกล่าวหาโจมตีดังกล่าว

นโยบายต่างประเทศของ เซเลนสกี้ นั้นไม่ชัดเจนนักนอกจากแนวทางฝักใฝ่ตะวันตก โดยต้องการให้ยูเครน เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) และจะขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ ซึ่งก็เป็นจุดยืนซึ่งไม่แตกต่างจากประธานธิบดีโปโรเชนโก้มากนัก

หลังจากนี้แน่นอนว่า เซเลนสกี้ จะต้องเจอกับความท้าทายของประเทศที่ยากจนที่สุดในยุโรป ประเทศที่ยังคงต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากนานาชาติ อีกมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความรุนแรงจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางตะวันออกของประเทศ ปัญหาซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 13,000 ราย นับตั้งแต่ปี 2014 ปัญหาซึ่งกระทบต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

รวมไปถึงความท้าทายในการต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเก่าที่ยังครองอำนาจในสภาผู้แทนราษฎร

ที่นับว่าเป็น “ของจริง” ไม่ใช่การเมืองที่มีการเขียนบทอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image