เชียงใหม่ยกระดับกรณีป่าแหว่ง-ผลักดันป่าชุมชน ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมจัดการป่า

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีเวทีเสวนาเรื่อง “การจัดการป่าอย่างยั่งยืน ปฏิบัติการของพลเมือง” โดยมีชาวบ้าน ผู้นำองค์กรท้องถิ่น (อปท.) นักวิชาการ กว่า 60 คนเข้าร่วม ซึ่งนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ที่ปรึกษาเครือข่ายขอคืนผืนป่าดอยสุเทพ กล่าวว่า กรณีป่าแหว่งบนดอยสุเทพได้มีการเปิดสภาพลเมืองเชียงใหม่และประชาชนทั่วประเทศต่างคุยกันเรื่องทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพ ขณะที่ประเด็นเรื่องป่าชุมชนเป็นประเด็นที่ค้างในใจ เพราะชุมชนจำนวนมากอยู่มาก่อนป่าอนุรักษณ์นานเป็นร้อยปี สะท้อนให้เห็นถึงกฎหมายและนโยบายที่กดทับชุมชน ซึ่งภาคเหนือได้รับผลกระทบสูงเพราะเป็นเขตต้นน้ำลำธาร แหล่งเกษตรบนที่สูงและเกษตรหมุนเวียน อยู่กันมานานแต่กฎหมายไม่รองรับ

นายชัชวาลย์กล่าวว่า หากสังเกตการเคลื่อนไหวทวงคืนป่าแหว่งดูเหมือนเป็นเรื่องของคนในเมือง เพราะดอยสุเทพเป็นชัยภูมิการตั้งเมืองเชียงใหม่ ทำให้คนในเมืองสู้กันหนักขณะที่คนในชนบทยังรู้สึกลังเล

“การตัดไม้ในป่าเต็งรังซึ่งถือว่าเป็นป่าเก่าแก่แห่งหนึ่ง กลายเป็นเรื่องเดียวกับการจัดการป่าที่รัฐเป็นผู้ทำให้เกิดความไม่ยั่งยืน จึงถึงเวลาพูดคุยเรื่องการจัดการป่าอย่างยั่งยืน ซึ่งจากบทเรียนของป่าแหว่งเราจะเชื่อมโยงกับคนชนบท เพื่อพัฒนาความคิดให้เป็นป่าพลเมือง การจัดการป่าโดยรัฐอย่างเดียวไม่ยั่งยืนและป่าลดลงเรื่อยๆ” นายชัชวาลย์กล่าว

นายกฤษฎา บุญชัย รองเลขาธิการชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า เราต้องยกระดับการเคลื่อนไหวขบวนป่าชุมชน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีบทบาทและมีพื้นที่พอสมควรสามารถเชื่อมเครือข่ายไปทั่วประเทศ แต่ได้เสื่อมถอยไปตามการเปลี่ยนแปลง ประเด็นในการสู้เรื่องป่าชุมชนในพื้นที่ทางสังคม เราอยู่ในเชิงรับมากๆ เพราะถูกจับบ้าง เดี๋ยวกฎหมายใหม่จะออกบ้าง คนจำนวนมากไม่สนใจว่าชาวบ้านอยู่กับป่าอนุรักษ์อย่างไร เราจะตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างไร พลังของเราไม่เด่นชัดเหมือนสมัยก่อน ตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นแล้ว ทุกวันนี้กระแสเรื่องป่าไม้เปลี่ยนไปพอสมควร จุดที่อยากนำมาสู่การเดินไปข้างหน้า 1.ป่าชุมชนถดถอย หมดบทบาททางสังคม การจัดการป่าเป็นเรื่องของภาครัฐ ถ้ากระบวนการป่าชุมชนยังไม่สามารถขยายเครือข่ายก็จะถดถอยบทบาททางสังคม กลายเป็นบทบาทของภาครัฐที่เข้ามาจัดการทั้หมด 2 เกิดระบบการจัดการป่าที่รองรับหลายแบบ ทั้งป่าแบบรัฐ ป่าชุมชน ป่าจัดการโดยสาธารณะ ป่าเอกชน 3. รัฐยอมรับสิทธิชุมชนมากขึ้น เกิดระบบการจัดการร่วมที่หนุนชุมชนอย่างกว้างขวาง ความสัมพนธ์ระหว่างรัฐกับชุมชนมุ่งไปสู่ความรวมมือมากขึ้น

Advertisement

ศ.อรรคจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า แม้ป่าแหว่งจะเป็นชัยชนะที่สำคัญของชาวเชียวใหม่ แต่ที่กังวลคือเป็นการเคลื่อนของชนชั้นกลางในเขตเมืองที่มีต่อป่าเขา สิ่งสำคัญคือที่ต้องคิดคือป่าแหว่งต้องทำ แต่ต้องระวังป่าที่ไม่แหว่งด้วย เพราะชาวบ้านกำลังเดือดร้อนแต่ไม่มีชนชั้นกลางร่วมสนับสนุน อย่าให้เกิดความรู้สึกว่าชาวบ้านอยู่ในป่าไม่ได้ เพราะจะทำให้ป่าแหว่ง และปัญหาของรัฐไทยคือคิดแค่กรรมสิทธิ์ของรัฐกับปัจเจกเท่านั้น แต่พอพูดถึงสิทธิชุมชนจึงไม่สำเร็จ ทำอย่างไรลองคิดว่าป่าเป็นสิทธิของ อปท.ซึ่งญี่ปุ่นรักษาป่าชุมชนไว้ได้มากเพราะวิธีนี้

นายประภาส ปิ่นตกแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาเราคุยเรื่องนี้กันมากขึ้น ถึงเวลาต้องทบทวนกันอย่างจริงจัง กรณีป่าแหว่งที่ยกระดับให้เป็นป่าพลเมือง การมีกฎหมายและนโยบายเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้แต่มันอาจเป็นเชิงเดี่ยวและเกี่ยวข้องกับพลังของส่วนอื่น ดังนั้นเราจึงต้องผลักดันให้เกิดการแก้ไข ทำให้พื้นที่รูปธรรมถูกนำไปถกเถียงเชิงนโยบาย บทเรียนที่ผ่านมาเราอาศัยการล็อบบี้โดยความสัมพันธ์ส่วนตัวมันคงไม่พอ ควรสร้างขบวนกันใหม่ ซึ่งต้องการการจัดการอีกมาก

“ผมเห็นด้วยว่าขบวนการจัดการทรัพยากร มันต้องมีประสบการณ์ ความเชื่อ ฐานคิด ซึ่งอาจแตกต่างกัน เป็นหน้าที่ต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำอย่างไรให้อุดมการณ์ไปด้วยกันได้ การเชื่อมปัญหาของชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับปากท้องที่คนชั้นกลางมอง อาจต้องแลกเปลี่ยนกันมาก และเรื่องการสื่อสารทางสังคมสำคัญมาก เพราะพลังของพวกเราคือทำให้ทุกคนเห็นด้วย เห็นว่าเป็นป่าพลเมืองเป็นทางเลือกของชีวิตของผู้คนในสังคม” นายประภาสกล่าว

Advertisement

นายนิกร วีสเพ็ญ ประธานสมาคมเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สสส.) กล่าวว่า ป่าแหว่งไม่ได้เป็นกรณีสุดท้ายเพราะมีอีกหลายกรณีทั่วประเทศเกิดขึ้น เราอย่าฝันว่าสร้างกฎหมายแล้วสังคมจะสงบสุข เพราะกฎหมายสามารถตัดต่อเปลี่ยนแปลงได้ เราเห็นภาพนายกรัฐมนตรี 3 คนมีผู้บริหารซีพียืนอยู่ข้างหลัง ทำให้เห็นว่าใครกำลังใช้อำนาจรัฐ คนที่อยู่ด้านหลังนายกฯไม่ใช่ชาวบ้าน จะเกิดปัญหาขึ้นทุกแห่งหากไม่คุยเรื่องป่าชุมชนให้ชัดเจน และใครจะเป็นเจ้าภาพ ใครจะเป็นคนดูและตรวจสอบ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นป่าชุมชนมีเขตชัดเจนหรือยัง กลไกต่างๆ มีการเดินสำรวจปักหมุดหรือยัง เพราะหากไม่ทำเวลาขึ้นศาลท่านแพ้ตลอด เพราะสิ่งที่ท่านกำลังพูดคือจิตวิญญาณ แต่สิ่งที่อยู่ในโรงศาลคือเอกสารเขาตัดสินโดยข้อกฎหมายและเอกสารที่มีอยู่เท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่แปลกใจทำไมคนจนถึงถูกจับ

“ป่าแหว่ง ทำไมคนชั้นกลาง คน กทม.ถึงสนับสนุน เพราะดอยสุเทพเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์และครูบาศรีวิชัย มันสะกิดใจเราไม่ให้อยู่เฉยๆ แม้อีกฝ่ายหนึ่งจะบอกว่าถูกกฎหมายทุกขั้นตอนก็ตาม กรณีป่าชุมชนท่านได้ปลุกเสกป่าชุมชนให้เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์แล้วหรือยัง กำหนดเขตกำหนดกติกาหรือยัง ต่อไปถ้าเป็นกระแสเปลี่ยนได้ อย่าลืมว่าคนที่ยืนหลังนายกฯไม่ใข่ชาวบ้านแต่เป็นทุนใหญ่มากๆ ที่พร้อมจะเปลี่ยนพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เขาไม่คำนึงถึงว่าเป็นป่าชุมชนหรืออะไร เราต้องปลุกเสกพื้นที่รวมกันเพื่อเหลือไว้ให้ลูกหลานต่อไป” นายนิกรกล่าว

ทั้งนี้ในวันที่ 26 สิงหาคม ชาวเชียงใหม่และภาคประชาชนจากจังหวัดต่างๆ ได้นัดชุมนุมเพื่อคัดค้านการสร้างบ้านพักบนดอยสุเทพหรือป่าแหว่ง โดยขบวนแม่น้ำ 4 สายนัดกันที่ประตูท่าแพตั้งแต่เวลา 08.00 น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image