สรรพคุณ “บิ๊กดาต้า” ห้ามเลือด “ผลผลิตล้น-ราคาตกต่ำ”ได้?

ทุกครั้งที่มีเสียงร้องจากเกษตรกร ขอให้รัฐบาลช่วยด้วยช่วยด่วน เพราะกำลังเดือดร้อนจากผลผลิตพืชนั้นๆปริมาณล้นเกินความต้องการ จนกดดันราคารับซื้อตกต่ำ

เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นกับชาวไร่สับปะรดในขณะนี้ ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อนบินเยือนสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐฝรั่งเศส สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงกระทรวงมหาดไทย ระดมสมองว่าจะช่วยเหลือกันอย่างไร โดยให้เป็นโมเดลต้นแบบในการดูแลและป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำซากกับพืชต่างๆ ที่มักจะวนเวียนผลผลิตล้น ราคาตกต่ำ หรือ ไม่ก็ผลผลิตไม่เพียงพอ จนประชาชนเดือดร้อนต้องกินต้องใช้ของแพง

จึงเป็นจุดตั้งต้นในการเรียกประชุมนัดแรกของหน่วยงานที่ได้รับคำสั่งมา ในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ !!

หากย้อนหลังไป ปัญหาผลผลิตล้น ราคาตกต่ำ ดูเหมือนจะเกิดขึ้นทุกปี เพียงแต่ชนิดพืชอาจสลับไปมา บางปีหนักสุด คือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา บางปีหนักที่ข้าวโพดเลี้่ยงสัตว์ ผลไม้ และทุกครั้งที่เกิดปัญหา ทางการก็จะให้เหตุผลเพราะพื้นที่ปลูกแยะขึ้น เกษตรกรหันปลูกพืชชนิดนี้แทน เพราะกำลังขายได้ราคาดีกว่าพืชที่ปลูกอยู่ หรือไม่ก็ปลูกเป็นพืชผสมหลายชนิด เพราะหวังเป็นการลดความเสี่ยงหากราคาพืชนั้นราคาตก พืชนี้ก็ยังขายได้ราคา จนเมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต ด้วยเป็นของสดเมื่ออายุพืชได้ตามกำหนด ต้องเก็บเกี่ยวออกมาพร้อมกัน จึงเป็นปกติเมื่อของแยะราคาย่อมถูกลง

Advertisement

เป็นที่รับรู้ถึงสิ่งเหล่านี้ รู้ว่าเป็นจุดก่อปัญหา และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างมีข้อมูลในมือ รู้ว่ารอบปี 365 วันนั้น พืชใดปลูกและเก็บเกี่ยวเวลาใด อีกทั้งมีการสำรวจผลผลิตและคาดการณ์ไว้แล้วว่าพืชแต่ละชนิดมีผลผลิตเท่าไหร่ ในระยะไม่กี่ปีมานี้ ก็เพิ่มแรงจูงใจต่างๆเพื่อให้เกษตรกรเข้าระบบเพื่อรัฐจะได้รู้ข้อมูลโดยรวม ยิ่งรัฐบาลชุดนี้ประกาศให้ความสำคัญการใช้”บิ๊กดาต้า”หรือบูรณาการข้อมูลร่วม 3 ฝ่าย ภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร

เมื่อถามหน่วยงานรัฐ ก็จะโชว์ตัวเลขประมาณการณ์ประจำปี พร้อมให้คำมั่นว่า “ไม่ได้นิ่งนอนใจ” “ดูแลอย่างใกล้ชิด” และ “ไม่มีปัญหาแน่นอน ”

แล้วทำไมสับปะรดปีนี้ล้นตลาด ราคาเหลือเพียงกิโลกรัมละบาท หลังจากราคาดีมาตลอด 3 ปี และตัวเลขประเมินของกระทรวงเกษตรฯถึงผลผลิตปีนี้ ใกล้เคียงกับดาต้า ว่าต้องการใช้เพื่อบริโภคและส่งออกไม่เกิน 2.2 ล้านตัน ที่สำคัญถูกเลือกเป็นพืชนำร่องใช้”บิ๊กดาต้า” ตามขั้นตอน คือ ออกกฎหมายให้เกษตรกรเพาะปลูกขึ้นทะเบียน เพื่อคุมปริมาณผลิตให้ตรงกับความต้องการจริง โดยใช้ดาวเทียมถ่ายภาพพื้นที่ปลูก 22 จังหวัด ปีละ 2 ช่วง 2 ครั้ง และนำข้อมูลนั้นมาเชื่อมกับแผนผลิตและจำหน่ายของภาคเอกชน

แต่ความเป็นจริง!! รอบปลูกสับปะรดใช้เวลา 18 เดือน กับการเก็บภาพทางอากาศเพียงครั้งเดียว ทางทฤษฎีนั้นดีแต่ทางปฎิบัติยังมีช่องโหว่ เพราะพืชเติบโตจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยดินฟ้าอากาศด้วย เมื่อปีนี้ฝนดีตรงกับช่วงสับปะรดติดดอก ผลผลิตจึงเกินคาด บวกกับแม้มีกฎหมายให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนแต่ให้สมัครใจไม่มีการบังคับใช้กับทุกราย บวกกับอีกเรื่องเมื่อราคาช่วง2-3ปีก่อนราคาแพงกิโลกรัมละ 8-10 บาท จึงแห่ปลูกและไม่ขึ้นทะเบียนเข้าระบบบิ๊กดาต้า เพราะการระบบต้องทำสัญญาขายเข้าโรงงานและถูกกำหนดราคาต่ำกว่าราคาตลาด

อีกเรื่องคือคงลืมไปว่า ต้องชี้แจงผู้ปลูกให้เข้าใจด้วยว่า สับปะรดที่ปลูกๆกันนั้น สัดส่วนซื้อบริโภคสดกันในประเทศเพียง 10% อีก 90% มีพันธะสัญญาปลูกป้อนโรงงานผลิต 21 แห่งจาก 19 บริษัท ส่วนที่ปลูกเกินพันธะสัญญาเกษตรกรต้องแบกรับความเสี่ยงเอง

เมื่อถูกกดดันเพิ่มเติมจากปัจจัยภายนอกประเทศ จนส่งออกไม่ได้ สถานการณ์ผลผลิตล้นและราคาตกต่ำยิ่งเลวร้ายลงอีก สับปะรดส่วนเกินที่ควรป้อนโรงงานแปรรูป ก็ต้องส่งเข้าโรงเลี้ยงวัว และเปิดขายแบบขว้างทิ้ง

ถึงตอนนี้เอกชนและเกษตรยุค4.0 เห็นด้วยการนำบิ๊กดาต้ามาใช้แก้ปัญหาซ้ำซาก แต่ไม่ใช่แค่ดึงตัวเลขจากบนกระดาษ มาอยู่บนอุปกรณ์ไฮเทคเท่านั้น ควรเป็น”บิ๊กดาต้า” ที่เกิดจากความถี่เข้าถึงแหล่งข้อมูล และนำมาใช้แก้ปัญหาทันท่วงทีด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image