ผวา “ฝรั่ง” ทิ้งหุ้นหอบเงินหนีกลับบ้าน จะเซียนหรือหมู..ไม่แคล้วอยู่รูทั้งคู่

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนหุ้นใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ต้องมอนิเตอร์แบบเรียลไทม์ เมื่อ “ฝรั่ง” เทขายอย่างต่อเนื่อง  ปัจจัยหลักมาจากยักษ์โลก 2 ทวีป อินทรีเอมริกากับมังกรจีน ประกาศสงครามการค้า เริ่มที่ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 25% ขณะที่จีนตอบโต้กลับด้วยการประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากอเมริกาเช่นกัน สร้างความกังวลว่าศึกนี้น่าจะไม่จบโดยง่าย และไม่แน่จะลามเป็นเหตุใหญ่โตหรือไม่ ผสมโรงกับธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าคาด ดึงดูดใจให้นักลงทุนโยกเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่ให้ดอกเบี้ยงามกว่า

กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเลยเทตลาดหุ้นในเอเชีย ไม่เว้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) โดนเทด้วยเช่นกัน ตัวเลขล่าสุดจากตลท.ตั้งแต่ต้นปีถึงมิถุนายนโดนเทกระจาดแล้ว 176,617.13 ล้านบาท
ดัชนีรูดหลุดแนวรับสำคัญ 1,700 จุด ปิดที่ 1,634.98 จุด หักปากกาเซียนที่คาดการณ์ว่าจะเห็นดัชนี 1,800 จุด บางโบรกเกอร์มองไปถึง 1,900 จุดเลยทีเดียว

เฉพาะช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ต่างชาติขายแทบจะทุกวัน หนักหน่วงสุดในวันที่ 19 มิถุนายน ดัชนีหัวทิ่ม ลดลง 40.14 จุด เสียงแมลงเม่าร้องถามหาเซอร์กิต เบรเกอร์ (Circuit Breaker) แต่สุดท้ายซื้อขายเป็นปกติจนถึงเวลาปิดตลาด

เมื่อไรตลท.ถึงใช้มาตรการเซอร์กิต เบรกเกอร์? ตลท.ได้ประกาศใช้มาตรการเซอร์กิต เบรกเกอร์ เมื่อปี 2542 เพื่อหยุดการซื้อขายหุ้นเป็นการชั่วคราว เป็นมาตรการทางจิตวิทยาเมื่อนักลงทุนเกิดการตื่นตระหนก หรือ Panic ก็จะเทขาย การหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราวเพื่อให้นักลงทุนมีเวลาตั้งสติคิดไตร่ตรองรอบคอบก่อนตัดสินใจขาย

Advertisement

มาตรการนี้มีหลักเกณฑ์ ดังนี้

ใช้ครั้งที่1 เมื่อดัชนีลดลงถึง 10% ของค่าดัชนีปิดในวันทำการก่อนหน้า ตลท.จะพักการซื้อขายเป็นเวลา 30 นาที

ใช้ครั้งที่2 เมื่อเปิดซื้อขายหลังใช้มาตรการแล้วดัชนียังลงต่ออีก 10% รวมเป็น 20% ตลท.จะพักการซื้อขายเป็นเวลา 1 ชั่วโมง

Advertisement

หลังจากนั้นจะเปิดให้ซื้อขายต่อจนถึงเวลาปิดทำการโดยไม่มีการหยุดพักการซื้อขายอีก

ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ไทยเคยใช้มาตรการนี้มาแล้ว ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประกาศใช้มาตรการสำรอง 30% สำหรับการนำเข้าเงินทุนระยะสั้น ในเย็นวันที่ 18 ธันวาคม 2549 เพื่อหวังใช้เป็นมาตรการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาทจากเงินบาทแข็งค่า ทันทีที่เปิดการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์เช้าวันที่ 19 ธันวาคม ดัชนีร่วงลงทันทีกว่า 100 จุด ดัชนีรูดลง 10% ต้องใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์หยุดการซื้อขาย 30 นาที แต่ฝรั่งยังไล่ทุบไม่ยั้ง กระทั่งปิดเวลาซื้อขาย ตลาดหุ้นอ่วม ลดลง 108.41 จุด

10 ตุลาคม 2551 ตลท.ต้องใช้เซอร์กิต เบรกเกอร์เป็นครั้งที่สอง ผลกระทบจากความวิตกภาวะเศรษฐกิจถดถอย เมื่อเกิดวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐ และใช้เซอร์กิต เบรกเกอร์เป็นครั้งที่สามถัดมาเพียง 17 วัน ในวันที่ 27 ตุลาคม 2551 เมื่อความเลวร้ายทางเศรษฐกิจของสหรัฐก่อตัวเด่นชัด กลายเป็นวิกฤตการณ์ “แฮมเบอร์เกอร์” ภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์แตกโพละ คล้ายวิกฤตต้มยำกุ้งของไทย กดดันตลาดหุ้นทั่วโลกแดงเถือก

การลงทุนมีความเสี่ยง เพราะมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยที่ไม่คาดคิด จนตอนนี้กูรูหุ้นทั้งหลายไม่กล้าฟันธงว่าดัชนีปีนี้จะอยู่ที่เท่าไร แต่คงไม่รูดเหมือนคนท้องเสียเพราะ “ต้มยำกุ้ง” ที่ดัชนีเคยขึ้นสูงสุด 1,410.33 จุด เมื่อปี 2539 เหลือเพียง 207 จุด ในปี 2541

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image