เอาอะไรคิด?? ‘ร.ร.ดัง’ รับเขตพื้นที่บริการ 100%

ฟังเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นายบุญรักษ์ ยอดเพชร ให้สัมภาษณ์เรื่องที่กำลังศึกษาแนวทางการรับนักเรียนชั้น ม.1 และชั้น ม.4 ในปีการศึกษา 2562 ใหม่

โดยเฉพาะมีแนวโน้มจะให้ “โรงเรียนดัง” หรือโรงเรียนยอดนิยมทั่วประเทศ รับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ 100% แล้ว รู้สึกตะหงิดๆ ขึ้นในใจแทบจะทันทีว่า “ใครคิด?”, “เอาอะไรคิด?” และ “คิดกันได้อย่างไร?”

ที่ผ่านมา แนวทางการรับนักเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แบ่งเป็น การรับเด็กในเขตพื้นที่บริการ ซึ่งโรงเรียนทั่วๆ ไป ที่ไม่ใช่โรงเรียนดี เด่น ดัง จะใช้แนวทางนี้กันอยู่แล้ว

ส่วนโรงเรียนดังๆ จะแบ่งการรับนักเรียนหลากหลายรูปแบบ ทั้งการสอบคัดเลือก การรับบุตรหลานของผู้มีอุปการคุณ การรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ

Advertisement

หรือการรับโดยเงื่อนไขพิเศษอื่นๆ ซึ่งแต่ละวิธีจะใช้สัดส่วนเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับการตกลงกัน และประกาศให้ทราบล่วงหน้า

ซึ่งบางโรงอาจใช้วิธีการสอบคัดเลือก 100% แต่บางโรงอาจใช้วิธีสอบคัดเลือก และเงื่อนไขพิเศษ ขณะที่บางโรงอาจใช้หลากหลายวิธีรวมกัน

ถ้าถามว่า โรงเรียนดังยังจำเป็นต้องคัดเลือกนักเรียนโดยเปิดกว้างให้เด็กทั้งประเทศหรือไม่?

Advertisement

ก็คงต้องบอกว่า “จำเป็น” อย่างยิ่ง

ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า โรงเรียนทั่วประเทศในสังกัด สพฐ.กว่า 3 หมื่นโรง คุณภาพมาตรฐาน “ไม่” เท่าเทียมกัน!!

โดยโรงเรียนที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพมาตรฐานสูง และเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กหัวกะทิของประเทศในสังกัด สพฐ.มี 200 กว่าโรงเท่านั้น

ถ้า สพฐ.หรือกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายให้โรงเรียนเหล่านี้หันมารับนักเรียนโดยใช้วิธีรับเด็กในเขตพื้นที่บริการ 100%

จะทำให้เด็กเก่ง หรือเด็กที่มีปัญญาเป็นเลิศ อาจไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพเท่าที่ควร หากต้องไปเรียนในโรงเรียนทั่วๆ ไป

เพราะแม้การเปิดให้โรงเรียนดังรับเด็กในเขตพื้นที่บริการ 100% จะแก้ปัญหาความ “เหลื่อมล้ำ” อย่างที่ผู้บริหาร ศธ.หรือ สพฐ.พยายามยกมาเป็น “ข้ออ้าง” ได้ก็จริง

แต่ “ข้อเสีย” ที่ตามมาอย่างเห็นได้ชัดเจนคือ คุณภาพของโรงเรียนเหล่านี้ ลด “ต่ำ” ลงอย่างแน่นอน

น่ากังวลว่าเมื่อคุณภาพโรงเรียนสังกัด สพฐ.ต่ำเท่ากันทั้งประเทศ แล้วเราจะเอาอะไรไป “แข่งขัน” กับประเทศเพื่อนบ้าน หรือชาวโลกเขา

เรื่องนี้ เท่าที่ซาวด์เสียงผู้บริหารโรงเรียนดัง นักวิชาการ และผู้ปกครอง ส่วนใหญ่คัดค้าน เพราะมองว่า “ผลกระทบ” หรือ “ผลเสีย” ที่ตามมา มีมากมายกว่าผลดีแน่นอน

ยังไม่รวมถึงผลกระทบที่ “โรงเรียนเอกชน” จะได้รับอีกด้วย

ฉะนั้น แทนที่ ศธ.จะดึงโรงเรียนที่มีมาตรฐานสูงอยู่แล้วให้ต่ำลง สู้สนับสนุนให้โรงเรียนที่มีคุณภาพปานกลาง ขยับคุณภาพให้สูงขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของนักเรียน และผู้ปกครอง

เมื่อโรงเรียนมีคุณภาพสูงเท่ากันทั้งประเทศ แล้ว ศธ.จะมีนโยบายให้รับเด็กในเขตพื้นที่บริการ 100% ก็ไม่มีใครว่า!!

แต่ดูเหมือนผู้บริหาร ศธ.และ สพฐ.จะยังไม่เข้าใจ ว่าทำไมแนวคิดนี้จึงถูก “คัดค้าน”

เพราะจากที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ออกอาการไม่พออกพอใจกับข่าวนี้ ถึงขั้นให้สัมภาษณ์ว่า ได้ “ต่อว่า” คนให้ข่าวเรื่องนี้ผ่านเลขาธิการ กพฐ.ไปแล้ว

ขณะที่มีกระแสข่าวว่า ผู้บริหารโรงเรียนดังทั้งหลาย ถูกผู้บริหาร สพฐ.สั่ง “ปิดปาก” ห้ามไม่ให้พูดเรื่องนี้อีก

แต่ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ เพราะล่าสุดมีหนังสือด่วนที่สุดจาก สพฐ.ส่งถึงโรงเรียนในสังกัดเรื่องแนวทางการกำหนดเขตพื้นที่บริการโรงเรียนสังกัด สพฐ.ปีการศึกษา 2562

ถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ระบุว่าเป็นการดำเนินการตามนโยบาย ศธ.สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล

ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันหนักแน่นว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายเรื่องนี้ เป็นเพียงการหารือกัน

ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ปิดตายแนวทางนี้เสียทีเดียว เพราะมองว่าสถานศึกษาที่มีหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำ ต้องให้สิทธิทุกกลุ่ม ทั้งคนเรียนดี คนในพื้นที่ ฯลฯ

แต่หลังกระแสคัดค้านยังคงมีต่อเนื่อง

แนวคิดนี้ จึงถูกสั่ง “ชะลอ” ไปไม่มีกำหนด

ต้องจับตาว่า การ “ยอมถอย” ในครั้งนี้ เป็นแบบถาวร หรือถอยเพื่อหาจังหวะ “เดินหน้า” ต่อในอนาคต!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image