4 ข้อสรุปแก้หนี้ครู-ทวงคืนหมื่นล. ‘ตอบโจทย์-โดนใจ’ ครูไทย??

บรรลุข้อตกลงในที่สุด สำหรับโครงการแก้ “หนี้สินครู” และปัญหาความ “ขัดแย้ง” ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และธนาคารออมสิน เกี่ยวกับการตีความเอ็มโอยู เรื่องวิธีการ และขั้นตอนการหักเงินจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) เพื่อชำระหนี้แทนผู้กู้ที่ค้างชำระเกิน 3 งวดขึ้นไป

ซึ่ง “ยืดเยื้อ” มายาวนานหลายปี

ขณะที่ ศธ.เดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ก็ได้พยายามเจรจากับผู้บริหารธนาคารออมสิน เพื่อ “ทวงคืน” เงินที่หักจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ไปอย่างไม่ถูกต้อง

โดย ศธ.ตีความว่าธนาคารออมสิน ไม่มีสิทธิหักเงินจากกองทุนดังกล่าวเพื่อมาชดใช้แทนครูที่ค้างชำระหนี้เกิน 3 งวด

Advertisement

แต่ฝ่ายธนาคารออมสินยืนยันว่าทำได้ และเดินหน้าหักเงินจากกองทุนดังกล่าวเพื่อใช้หนี้แทนครูที่ค้างชำระไปแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท

แม้จะมีการเจรจาระหว่างผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และธนาคารออมสิน หลายครั้งหลายครา จนท้ายที่สุดได้ “ฉีก” เอ็มโอยูฉบับเจ้าปัญหาทิ้ง และร่างเอ็มโอยูฉบับใหม่ขึ้นมาแทน

แต่รายละเอียดของเอ็มโอยูฉบับใหม่ ก็ยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดของการแก้ข้อขัดแย้งต่างๆ ทั้งการแก้ปัญหาหนี้สินครู การใช้หนี้แทนครูที่ค้างชำระ และการปล่อยกู้ให้กับครู

Advertisement

ล่าสุด การหารือร่วมกันระหว่าง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.และ นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน โดยได้ข้อสรุปร่วมกันใน 4 ประเด็น ดังนี้

1.ธนาคารออมสินจะคืนเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท ที่หักจากเงินกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ให้ สกสค.เนื่องจาก สกสค.ร้องเรียนถึงความไม่เป็นธรรม และมีหลักฐานชัดเจน

2.ครูประมาณ 4,000 คนที่เป็นหนี้วิกฤต มียอดหนี้รวม 380 ล้านบาท ที่เข้าข่ายอาจถูกยกเลิกสัญญา และถูกธนาคารฟ้องคดี ให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้

3.เงินกองทุน ช.พ.ค.ที่ธนาคารออมสินนำเงินส่วนนี้มาค้ำประกันเงินกู้ของครู สรุปว่าธนาคารพร้อมเปลี่ยนหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน หากครูนำหลักทรัพย์อื่นมาค้ำประกันแทนเงิน ช.พ.ค.

และ 4.การทำประกันสินเชื่อ ได้ข้อสรุปว่าธนาคารออมสินยินยอมให้ สกสค.เป็นตัวกลางหาบริษัทประกันใหม่มากกว่า 1 บริษัท โดยยึดหลักว่าผู้กู้เลือกบริษัทที่ทำประกันเองได้

หากดูข้อตกลงร่วมกันในครั้งแล้ว น่าจะ “ตอบโจทย์” ในการแก้ปัญหาหนี้สินครูได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะครูที่เข้าข่าย “หนี้วิกฤต” และธนาคารจ่อฟ้องร้อง ที่ขณะนี้ยื่นขอปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 1,553 คน

แต่ยังเหลือครูที่หนี้วิกฤตอีกกว่า 2,500 คน ที่ยังไม่ติดต่อมา

ส่วนการกู้เงินจากธนาคารออมสิน ที่มีเสียงคร่ำครวญจากคุณครูทั้งหลายว่า “เงื่อนไข” เยอะ โดยขอให้ยกเลิกการเอาเงินกองทุน ช.พ.ค.ค้ำประกัน เพราะอยากให้ทายาทให้รับเงินก้อนเมื่อเสียชีวิตในอนาคต ซึ่งธนาคารก็ยินยอมให้เอาหลักทรัพย์อื่นมาค้ำประกันแทนได้ เช่น บ้าน รถ ที่ดิน เป็นต้น โดยให้ครูปรับเปลี่ยนหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

หรือการทำ “ประกันสินเชื่อ” ซึ่งเดิมผูกขาดกับบริษัททิพยประกันภัยเพียงบริษัทเดียว ทางธนาคารออมสินก็ยินยอมให้ สกสค.หาบริษัทประกันอื่นๆ ที่ดี และถูกที่สุด มาทำประกันให้ผู้กู้ได้

ขณะที่ สกสค.เอง จะได้รับเงินที่ธนาคารหักจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ คืนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งธนาคารได้ทยอยคืนเงินล็อตแรกมาแล้ว 2,000 ล้านบาท และจะทยอยคืนในส่วนที่เหลือ ถ้าพบว่าการหักเงินไม่ถูกต้อง โดย สกสค.จะนำไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตครูต่อไป

แต่ดูเหมือนข้อตกลงระหว่าง สกสค.และธนาคารออมสิน จะยังไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย ที่ประกาศ “ปฏิญญามหาสารคาม” หรือ “ปฏิญญาเบี้ยวหนี้”

เพราะมองว่าเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ

โดยอยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อครูยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้แต่งตั้งกรรมการร่วมกันระหว่างภาครัฐ และองค์กรครู เพื่อแก้ไขหนี้สินครู

ซึ่งผู้บริหาร สกสค.ยืนยันว่า ได้หาแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินครูแล้ว

แต่ถ้าครูกลุ่มไหนมี “ข้อเสนอ” ที่ดีกว่านี้ สกสค.ก็ยินดีรับ

ต้องรอดูกันว่า กลุ่มเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย จะมีข้อเสนออะไรมาสร้างความฮือฮา เหมือนตอนประกาศปฏิญญาเบี้ยวหนี้..หรือไม่??

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image