โจทย์ท้าท้ายรัฐ! ทำยังไงหนีวิกฤต ‘ยิ่งแก่ยิ่งจน’ เพิ่มเงินสงเคราะห์ แค่ช่วยเฉพาะหน้า

เริ่มคิกออฟแล้ว สำหรับ “การเพิ่มเงินสงเคราะห์” ให้กับ “ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย” ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

งานนี้ ผู้สูงอายุ 4 ล้านคน ได้อานิสงส์ จากที่มีทั้งหมด 11.8 ล้านคน

สำหรับเกณฑ์สำหรับผู้สูงอายุที่ได้เงินเพิ่ม 50-100 บาท

1.ผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ได้รับเงินเพิ่มเดือนละ 100 บาท จากเดิมได้รับ 300 บาท รวมเป็น 400 บาท ซึ่งมีจำนวน 3 แสนกว่าคน

Advertisement

2.ผู้สูงอายุที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินเพิ่มเดือนละ 50 บาท จากเดิมได้รับ 200 บาท รวมเป็น 250 บาท โดยมีจำนวน 6-7 แสนคน

มาตรการครั้งนี้ จะให้เป็น “เงินสด” ที่ผู้สูงอายุจะต้องนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไปติดต่อที่ธนาคารกรุงไทยเพื่อลงทะเบียน “กดเงินสด” ที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย

ซึ่งเงินส่วนนี้จะแตกต่างจากการให้เงินในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เดิมเพียงรูดซื้อสินค้า และบริการที่กำหนดเท่านั้น เรียกว่า เป็น “เงินแห้ง” ที่ไม่สามารถกดเป็นเงินสดได้ ซึ่งหากไม่ใช้ภายในเดือนนั้นวงเงินที่มีจะถูกตัดไป

Advertisement

แต่สำหรับ “เงินเพิ่มเติม” นี้ สามารถกดเป็น “เงินสด” ออกมาใช้ซื้ออย่างอื่นได้ หรือใช้รูดซื้อสินค้าในร้านธงฟ้าหรือร้านค้าอื่นๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด

และถ้าไม่ได้ใช้ก็จะ “ทบเดือน” เก็บสะสมเงินในบัตรสำหรับใช้ในเดือนต่อไปได้อีกด้วย

ซึ่งเหตุผลที่ “รัฐ” จ่ายตรงให้ผู้สูงอายุผ่านบัญชีธนาคาร ไม่จ่ายเป็นเงินสดนั้น เพื่อป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นที่อาจเกิดขึ้นได้

ก็ถือว่า เป็นการป้องกันอีกทางหนึ่ง โดยดีเดย์จ่ายไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา และจะไปสิ้นสุดโครงการวันที่ 15 มีนาคม 2562

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ว่า เงินที่เพิ่มให้ “ไม่ใช่” เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่เป็น “เงินสงเคราะห์” ที่ให้เฉพาะผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยเท่านั้น

นับได้ว่า โครงการนี้ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่รัฐทำขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่อย่างไรก็ตาม การช่วยในลักษณะนี้ เป็นเพียงการช่วยเฉพาะหน้าที่ไม่ยั่งยืน ทั้งที่ทุกวันนี้ ผู้สูงอายุไทยกำลังประสบภาวะ “ยิ่งแก่ยิ่งจน”

ดังนั้น รัฐควรจะมีมาตรการที่ช่วยให้ผู้สูงอายุ รวมถึงเตรียมพร้อมผู้ที่กำลังเข้าสู่วัยสูงอายุในอนาคต เริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไปได้ยิ่งดี ให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด พึ่งตนเองได้มากที่สุด เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระของรัฐในอนาคต

ก็เป็นโจทย์ที่ท้าทาย ก่อนที่ไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2564

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image