นายจ้างคุม ‘ต่างด้าว’ ขายหน้าร้าน ระวัง! เจ้าหน้าที่รับผลประโยชน์

ขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า “อาชีพ” ที่สงวนไว้สำหรับคนไทย มีอะไรบ้าง

หลังจากที่มีการปลดล็อก 39 อาชีพ ตาม “พระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าว

ทำ พ.ศ.2522” เหลือรอเพียงกระทรวงแรงงานออกประกาศกฎกระทรวง และประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาตามลำดับ

เป็นความชัดเจนหลังจากที่ ”คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว” มีมติเห็นชอบกำหนดอาชีพสงวนใหม่ให้แรงงานต่างด้าวทำได้ 12 อาชีพ ใน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย

Advertisement

แบบไม่มีเงื่อนไข มีเพียง 1 อาชีพ คือ อาชีพกรรมกร ทั้งงานก่อสร้าง งานก่อปูน

แบบมีเงื่อนไข คือ แรงงานต่างด้าวต้องเป็นลูกจ้างเท่านั้น และ เป็นงานที่ขาดแคลนแรงงาน อนุญาตให้ทำได้เฉพาะเท่าที่จำเป็น ไม่กระทบโอกาสการมีงานทำของคนไทย 8 อาชีพ

คือ 1.กสิกรรม เลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรือประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญงานเฉพาะสาขา ควบคุมดูแลฟาร์ม 2.งานก่ออิฐ ช่างไม้ หรือก่อสร้างอื่น 3. ทำที่นอนหรือผ้าห่มนวม 4. ทำมีด 5. ทำรองเท้า 6. ทำหมวก 7. ประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย และ 8. ปั้นหรือทำเครื่องปั้นดินเผา

Advertisement

แบบมีเงื่อนไขตามข้อตกลงระหว่างประเทศอาเซียน แต่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามกฎหมายไทย 3 อาชีพ

คือ 1. บัญชี ควบคุม ตรวจสอบ ปฏิบัติงานหรือให้บริการทางบัญชี ยกเว้น ตรวจสอบภายในเป็นครั้งคราว งานตามข้อตกลงหรือพันธกรณี ที่ประเทศไทยมีความผูกพัน

โดยที่สภาวิชาชีพบัญชีเป็นผู้ให้การรับรองคุณสมบัติของผู้ที่จะทำงาน 2.วิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา ที่เกี่ยวกับงานออกแบบและคำนวณ จัดระบบ วิจัย วางโครงการทดสอบ ควบคุมการก่อสร้างหรือให้คำแนะนำ

ยกเว้นผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม และวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียน (MRAs)

รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นที่เกี่ยวกับการให้บริการวิศวกรรมข้ามแดน หรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธาตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

และ 3.งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับงานออกแบบ เขียนแบบ ประมาณราคา อำนวยการก่อสร้าง หรือให้คำแนะนำ ยกเว้นผู้ประกอบวิชาชีพตามข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียน

สำหรับงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาดมี 28 งาน คือ1. แกะสลักไม้ 2.ทอผ้าด้วยมือ 3.ทอเสื่อ 4.ทำกระดาษสาด้วยมือ 5.ทำเครื่องเงิน6.ทำเครื่องดนตรีไทย 7.ทำเครื่องถม 8.ทำเครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องนาก9.ทำเครื่องลงหิน 10.ทำตุ๊กตาไทย

11.ทำบาตร 12.ทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมด้วยมือ13.ทำพระพุทธรูป 14.ทำร่มกระดาษหรือผ้า 15.เรียงตัวพิมพ์อักษรไทยด้วยมือ 16.สาวหรือบิดเกลียวไหมด้วยมือ 17.ขับรถ 18.ขายของหน้าร้าน 19.ขายทอดตลาด
20.เจียระไนเพชรหรือพลอย

21.ตัดผม ดัดผม หรืองานเสริมสวย 22.นายหน้า หรืองานตัวแทน ยกเว้นงานนายหน้าหรืองานตัวแทนในธุรกิจการค้าหรือการลงทุนระหว่างประเทศ 23.มวนบุหรี่ด้วยมือ 24.มัคคุเทศก์ หรืองานจัดนำเที่ยว 25.เร่ขายสินค้า 26.เสมียนพนักงานหรือเลขานุการ 27.ให้บริการทางกฎหมายหรืออรรถคดี

ยกเว้นงานปฏิบัติหน้าที่อนุญาโต หรืองานให้ความช่วยเหลือหรือทำการแทนในการดำเนินกระบวนการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ 28.นวดไทย ซึงเป็นงานที่เพิ่มขึ้นมาใหม่

ก่อนหน้านี้ในการเปิดสอบถามความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ยังเกิดข้อท้วงติงจากกลุ่มนายจ้างว่า ในบางงานมีการห้ามที่เคร่งครัดเกินไป เช่น การขายของหน้าร้าน ที่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวทำได้แค่ช่วยขาย ห้ามรับหรือทอนเงิน

ขณะที่ร้านตัดผม ร้านทำเล็บ นั้น ทำได้แค่เก็บกวาด เช็ดถู ล้างเท้า-มือ ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงงานเหล่านี้ แทบไม่มีคนไทยสนใจทำ ล่าสุด เหตุผลและความจำเป็นข้างต้น ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางออก โดยงานขายหน้าร้านให้แรงงานต่างด้าวจับเงิน ทอนเงินให้ลูกค้าได้

แต่ต้องเป็นการทำงานโดยมีนายจ้าง หรือเจ้าของร้านควบคุมกำกับ ขณะที่งานทำเล็บอนุญาตให้ทำ ยกเว้นงานศิลปะทาสี เพ้นท์เล็บ ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีการออกข้อความแนบท้ายประกาศกฎกระทรวงที่กำลังจะออกมาในเร็วๆ นี้

พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เคยประกาศว่า หลังจากประกาศกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ผ่านไป 1 เดือน จะเร่งตรวจจับให้เป็นไปตามกฎหมาย และแรงงานต่างด้าวจะต้องทำเฉพาะงานที่อนุญาตให้ทำเท่านั้น

น่าห่วงและกังวลว่า มาตรการนี้ หากทำอย่างไม่รัดกุม อาจจะเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่อาศัยช่องทางของกฎหมายไปเรียกรับผลประโยชน์จากนายจ้าง และแรงงานต่างด้าวหรือไม่

ยกตัวอย่างเช่น กรณีงานขายของหน้าร้าน ที่จะต้องมีนายจ้างหรือเจ้าของร้านกำกับดูแล ในทางปฏิบัติเห็นว่าค่อนข้างล่อแหลม เพราะในช่วงที่มีการเปิดร้านค้า เป็นไปไม่ได้ที่นายจ้างหรือเจ้าของร้านจะอยู่ประจำหน้าร้านได้ตลอดเวลา หากเจ้าหน้าที่อาศัยจังหวะนี้เข้าไปจับกุมแรงงานต่างด้าว ก็ไม่พ้นต้องถูกดำเนินคดีความ

อย่ามองข้ามปัญหานี้ ไหนๆ ก็คิดแล้ว หาทางออกเรื่องนี้ต่ออีกนิดน่าจะดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image