“จีที 200 = พระเครื่อง” คุณค่าทางความเชื่อ มูลค่ากว่า 1.1 พันล้าน

ผมติดตามข่าวตรวจสอบทุจริตการจัดซื้อ “เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม” หรือที่คนไทยคุ้นชื่อ “จีที 200” มานานจนหลงลืมไปว่าขั้นตอนการสอบสวนดำเนินการไปถึงไหนแล้ว
เท่าที่นั่งนึกดู ข่าวนี้กลับมาคึกโครมอีกครั้ง เป็นช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2559 เมื่อศาลอาญากลางของอังกฤษและเวลส์ ได้ตัดสินให้ยึดทรัพย์ “นายเจมส์ แม็คคอร์มิค”นักธุรกิจชาวอังกฤษ เป็นเงิน 7.94 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 397 ล้านบาท เพื่อให้นำมาใช้คืนลูกค้าที่ตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกง

โดยทรัพย์สินของนายแม็คคอร์มิคที่ถูกยึด ทั้งหมดจะถูกนำมาขายทอดตลาดเพื่อนำ “เงินชดเชย”แก่ผู้เสียหายต่อไป ซึ่งเป็นลูกค้า 5 รายที่สั่งซื้อ จีที 200 ไปใช้ ประกอบด้วย อิรัก, บาห์เรน, ไนเจอร์, จอร์เจีย และกองกำลังสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในเลบานอน

คดีของนายแม็คคอร์มิค จุดพลุให้การตรวจสอบการจัดซื้อ GT200 ของไทยกลับมาเป็นข่าวในหน้าสื่ออีกครั้ง

ซึ่งมีรายงานสรุปผลการตรวจสอบการจัดซื้อ GT200 ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า หน่วยงานแรกของไทยที่จัดซื้อเครื่อง GT200 มาใช้คือกองทัพอากาศ เมื่อปี 2548 โดยจัดซื้อเครื่องละ 9.66 แสนบาท

Advertisement

ต่อมาในปี 2550-2552 หน่วยงานรัฐต่างๆ ได้จัดซื้อมาใช้งาน เนื่องจาก ทอ. นำมาใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถตรวจพบอาวุธ กระสุน และวัตถุระเบิดหลายครั้ง จนเป็นที่เชื่อมั่นของผู้ใช้งาน

หน่วยงานรัฐที่จัดซื้อ GT200 ทุกหน่วยจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษจาก บริษัทโกลบอลฯ โดยตรง หรือผ่านบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ที่เป็นนายหน้าให้กับบริษัทโกลบอลฯ ในประเทศไทย

ระหว่างปี 2548-2553 หน่วยงานของรัฐไทย 15 หน่วยงาน ซื้อ GT200 หรือเรียกอีกชื่อ Alpha 6 มาใช้รวมกันถึง 1,398 เครื่อง รวมเป็นเงินกว่า 1,134 ล้านบาท ในราคาตั้งแต่เครื่องละ 4.26 แสนบาท – 1.38 ล้านบาท

Advertisement

หน่วยงานที่จัดซื้อมากที่สุด คือ “กองทัพบก” รวม 12 สัญญา จำนวน 757 เครื่อง รวมเป็นเงินกว่า 682 ล้านบาท

โดยมีถึง 11 สัญญาที่จัดซื้อในช่วงระหว่างที่ “พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย โดยขณะนั้นดำรงตำแหน่งผบ.ทบ. (ระหว่างตุลาคม 2550 – กันยายน 2553) มีเพียงสัญญาแรก สัญญาเดียวเท่านั้น ที่จัดซื้อขณะที่ “พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน”เป็น ผบ.ทบ. (ระหว่างตุลาคม 2548-กันยายน 2550)

ทั้งหมดจัดซื้อจาก”บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด”ที่เป็นนายหน้าของบริษัทโกลบอลฯ ซึ่งปัจจุบันนายโบลตันเจ้าของบริษัท อยู่ระหว่างชดใช้โทษอยู่ในเรือนจำของอังกฤษ หลังศาลตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 7 ปีในคดีฉ้อโกงตั้งแต่ปี 2556

มีการตั้งข้อสังเกตว่าทุกสัญญาที่ทบ.จัดซื้อจะใช้ “วิธีพิเศษ”ทั้งหมด โดยอ้างเหตุผล 2 ข้อ คือกรณีจำเป็นเร่งด่วน และกรณีข้อจำกัดทางเทคนิคต้องระบุยี่ห้อเป็นการเฉพาะ
ขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)มีผู้ยื่นคำร้องให้ตรวจสอบเอาผิดกับผู้จัดซื้อรวม 12 คดี ตั้งแต่ปี 2555
ส่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้รับคดีนี้ไว้เป็นคดีพิเศษ โดยแบ่งคดีเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือการทุจริตการจัดซื้อ และกลุ่มที่สอง คือเอาผิดกับเอกชนฐานฉ้อโกงหรือลวงขาย ซึ่งคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตการจัดซื้อทั้งหมด ดีเอสไอได้ส่งไปให้กับ ป.ป.ช. ตั้งแต่ปลายปี 2558

ประเด็นนี้เงียบหายไปตั้งแต่ปี 2558 หลังป.ป.ช.ชุดที่มีพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ นั่งเป็นประธานป.ป.ช.รับไปตรวจสอบ

ล่าสุด ถือเป็นเรื่องน่าชื่นชมที่ป.ป.ช.ชุดนี้ทำงานค้นหาความจริงอย่างขะมักเขม้นใช้เวลาเกือบ 3 ปี จนล่าสุด “สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร” กรรมการป.ป.ช. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ว่า “การจะวินิจฉัยว่าถูกหรือผิด เป็นเรื่องที่ยากเพราะบางครั้งไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของเครื่อง แต่เป็นเหมือนความเชื่อ เหมือนพระเครื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่นำไปใช้ แล้วเขารู้สึกว่าคุ้มค่า แต่บางส่วนก็มองว่าราคาเครื่องไม่น่าจะแพงขนาดนั้น”

ถือเป็นเรื่องน่าชื่นชมอย่างยิ่งที่ประเทศไทยสามารถหาคุณประโยชน์จาก “ไม้ล้างป่าช้า”อันนี้ จำนวน 1,398 เครื่อง มูลค่ากว่า 1,134 ล้านบาท ที่เปรียบเหมือน”พระเครื่อง”ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่นำไปใช้ แล้วรู้สึกว่าคุ้มค่า

นับเป็นสิ่งที่อังกฤษได้มองข้ามคุณค่าด้านนี้ มีก็แต่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้นที่เห็นคุณค่าและคุณประโยชน์ไม้ล้างป่าช้าอันนี้จริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image