จากรัฐประหารสู่”กบฎ” ปฏิวัติ 9 ก.ย.2528 ตำนาน”ไม่มาตามนัด”

(แฟ้มภาพ-1991) ทหารไทยพร้อมอาวุธหนักประจำการบริเวณหน้าสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ในกรุงเทพฯ (AFP PHOTO / KRAIPIT PHANVUT)

03 น.เศษของวันที่ 9 กันยายน 2528 ได้เกิดรัฐประหาร เมื่อกลุ่มทหารนอกราชการ นำกำลังทหารเข้าคุมตัวนายทหารคนสำคัญ ยึดพื้นที่สำคัญ

โดยเฉพาะที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในขณะนั้น มีรถถังของกรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ จอดคุมอาคาร กองบัญชาการทหารสูงสุด ที่ขณะนั้นตั้งที่สนามเสือป่า ใช้เป็นกองบัญชาการคณะรัฐประหาร

เช่นเดียวกับทำเนียบรัฐบาล ลานพระบรมรูปทรงม้า สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.)

คีย์แมนของงานนี้คือพันเอกมนูญ รูปขจร (ปัจจุบัน พลตรีมนูญกฤต รูปขจร) ที่ถูกให้ออกจากราชการเนื่องจากก่อกบฏเมษา เมื่อ 1 เม.ย. 2524 บินกลับจากเยอรมันแหล่งพักพิงในตอนนั้นกลับมาปฏิบัติการ

Advertisement

พร้อมด้วยน้องชายที่เป็นนายทหารอากาศ

ลูกน้องเก่าของพันเอกมนูญในม.พัน 4 เคลื่อนรถถังออกมาคุมพื้นที่ต่างๆ

นอกจากนี้ยังมีมีกระแสข่าวระบุว่า นายทหารนอกราชการชั้นผู้ใหญ่อย่าง พลเอกเสริม ณ นคร, พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์, พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้นำแรงงาน เช่น นายสวัสดิ์ ลูกโดด, นายประทิน ธำมรงค์จ้อย นายเอกยุทธ อัญชันบุตร เสี่ยแชร์ชาร์เตอร์ ที่ถูกปราบปรามเงินนอกระบบและทรัสต์เถื่อนของรัฐบาลในขณะนั้นเป็นผู้ร่วมก่อการ สนับสนุนด้านเงินทุน

Advertisement

เป็นช่องว่างของอำนาจ เพราะนายกฯ ขณะนั้น คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เดินทางเยือนประเทศอินโดนีเซีย ส่วนพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2525 และ 2526 ตามลำดับไปราชการต่างประเทศ

ก่อนหน้านั้น ในปี 2527 นายสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีคลังในรัฐบาลพลเอกเปรม ได้ลดค่าเงินบาท 14.8% จาก 23 บาท เป็น 27 บาท ต่อ ดอลลาร์สหรัฐ

“บิ๊กซัน” หรือพลเอกอาทิตย์ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรงในคืนวันลอยกระทง เดือนพฤศจิกายน 2527

จนเกิดความบาดหมางขึ้นภายใน และมีข่าววิพากษ์วิจารณ์ว่าพลเอกอาทิตย์ ซึ่งจะได้รับการต่ออายุ อาจจะมีปัญหา

ข้ออ้างในการยึดอำนาจ 9กันยาฯ จึงมีทั้งมุมเศรษฐกิจและความมั่นคง คือ ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ การว่างงาน อาชญากรรม และความมั่นคง

สัญญาณล้มเหลวเริ่มขึ้นตั้งแต่สายถึงเที่ยง เกิดการปะทะระหว่างฝ่ายกบฏและฝ่ายรัฐบาลเกิดขึ้นบริเวณใกล้ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อหน่วยทหารบางส่วนไม่ยอมรับอำนาจฝายรัฐประหาร

ฝ่ายกบฏใช้รถถังยิงเสาอากาศวิทยุและอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ทำให้ นีล เดวิส (Neil Davis) และวิลเลียม หรือ บิล แลตช์ (William Latch) สองนักข่าวชาวต่างชาติแห่งสำนักข่าววิสนิวส์เสียชีวิต ทหารบาดเจ็บหลายนาย

ปืนจากรถถังที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ที่ยิงผ่านหน้ากองพล 1 ทะลุไปปลายถนนเทเวศร์ ยังไปถูกรถเมล์ประจำทาง ทำให้ประชาชนเสียชีวิต

ประมาณ 15 นาฬิกา หลังจากมีข่าวสะพัดว่า กำลังหลักที่จะต้องออกมา เกิดเบี้ยว เรียกว่า “นัดแล้วไม่มา”

กองกำลังฝ่ายกบฏยอมแพ้ วางอาวุธ แกนนำหลบหนีอีกครั้ง ความสูญเสีย นอกจากสองนักข่าวต่างประเทศแล้วยังมีทหาร 2 นาย และประชาชนอีก 1 ราย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 60 ราย

พลเอกเสริม ณ นคร อดีตผบ.ทบ.ที่กบฎระบุว่าเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ยืนยันว่าตนรวมถึง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตผบ.สส.และอดีตนายกฯ รวมถึง และพลเอกยศ เทพหัสดินทร ถูกบีบบังคับให้เข้าร่วม

ต่อมา ปี 2531 รัฐบาลก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ต้องคดีกบฏในครั้งนี้

ผลกระทบจากกรณี 9 กันยาฯ 2528 เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง พลเอกเปรม ยุบสภา เมื่อ 1 พฤษภาคม 2529 เนื่องจากเกิดการล้มพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกโดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 27 กรกฎาคม

วันที่ 27 พฤษภาคม 2529 พลเอกอาทิตย์ถูกปลดจากผบ.ทบ.แบบฟ้าผ่า เหลือเฉพาะตำแหน่งผบ.สส.

พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ลูกรักของ”ป๋าเปรม”ในเวลานั้นผงาด เป็นผบ.ทบ.แทน

หลังเลือกตั้ง 2529 พรรคต่างๆ สนับสนุนพลเอกเปรมเป็นนายกฯอีกสมัย แต่ไม่ราบรื่น เผชิญคลื่นใต้น้ำในเป็นระยะจากนั้น เกิดกลุ่ม 10 มกราฯในพรรคประชาธิปัตย์ เกิดการคัดค้านกฎหมายรัฐบาลจากส.ส.รัฐบาลด้วยกันเอง ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลมีปัญหา

วันที่ 29 เมษายน 2531 พลเอกเปรมยุบสภา กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กรกฎาคม ปีเดียวกัน

พรรคชาติไทยเข้ามาอันดับหนึ่ง พลเอกเปรมประกาศ”พอแล้ว” กับแกนนำที่ไปเชิญเป็นนายกฯอีกสมัย

ส่งผลให้พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทยได้รับช่วงเป็นนายกฯ

รวมแล้วำพลเอกเปรม ดำรงตำแหน่งมาถึง 8 ปีเศษ ( 2523 -2531 )

ส่วนพลเอกอาทิตย์ เกษียณอายุจากตำแหน่งผบ.สส.ในเดือนก.ย. 2529 ไปตั้งพรรคปวงชนชาวไทย ลงเลือกตั้งในปี 2531 ได้เข้าสภาถึง 17 คน และได้รับเลือกเป็นส.ส.เลย

ในตอนท้ายรัฐบาลพลเอกชาติชาย ได้เชิญพลเอกอาทิตย์ร่วมรัฐบาล เป็นรมช.กลาโหม ก่อนที่รัฐบาลพลเอกชาติชายจะโดนคณะทหารที่มีจปร. 5 เป็นแกนนำ ทำรัฐประหารในเดือนก.พ. 2534

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image