ความเหลื่อมล้ำ “ข้าราชการ-ประชาชน”

ผมเคยบ่นมาหลายครั้งหลายหนแล้วว่าตั้งแต่รัฐประหาร ประเทศนี้ก็เปรียบเป็นยุคทองของข้าราชการ เพราะตามทฤษฎีรัฐศาสตร์นั้นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของบ้านนี้เมืองนี้ ก็คือ “พรรคข้าราชการ” นั่นเอง

ในช่วงรัฐบาลประชาธิปไตยเบ่งบาน ย่อมเป็นช่วงที่พรรคการเมือง นักการเมืองมาค่อยถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งพรรคการเมืองนั่นถือว่ายึดโยงกับประชาชน
ดังนั้นการจัดสรรทรัพยากร สวัสดิการและงบประมาณต่างๆ ก็ต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นเรื่องหลัก

ถ้าพูดตามประสาการเมือง ถือเป็นนาทีทองของการสัมมนาคุณ ตอบแทนชาวบ้านที่เข้าคูหาเลือกพรรคเรา พวกเราเข้ามา การจัดสรรงบประมาณ สวัสดิการต่างๆย่อมเล็งเห็นคะแนนเสียงของเราเป็นที่ตั้ง และไม่ควรมาแปลกใจที่ผลประโยชน์ของข้าราชการนั้นก็ตกเป็นเรื่องรองไปเช่นกัน

แต่ถ้าเมื่อใดอยู่ในยุคข้าราชการครองเมือง เฉกเช่นยุคนี้ ก็อย่าแปลกใจที่รัฐบาลทหารก็จำเป็นต้องหาแนวร่วมเพื่อเป็นแบ็กอัพให้การทำงานเดินหน้า ดังนั้น งบประมาณ สวัสดิการต่างๆที่กระจายไปในช่วงนี้ ก็ต้องส่งต่อไปให้ข้าราชการอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากคนกันเองเช่นกัน

Advertisement

“ผู้นำมาจากคนกลุ่มใด ผลประโยชน์ย่อมตกอยู่กับบุคคลกลุ่มนั้น”

ที่ผ่านมา ผมพยายามหาข้อมูลมาประกอบการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ แต่ท้ายสุดก็ต้องขอบคุณ “อาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด” หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่สามารถรวบรวมข้อมูลงบประมาณด้านสวัสดิการระหว่างประชาชนและข้าราชการ

“อาจารย์เดชรัตน์” สืบค้นข้อมูลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 เพื่อดูภาระด้านงบประมาณของประเทศ ด้านสวัสดิการของฝั่งประชาชนและฝั่งข้าราชการ

ภาพที่ปรากฎนั้น “แท้จริงแล้วประเทศเราไม่ได้มีความเหลื่อมล้ำเฉพาะคนจนกับคนรวยเท่านั้น เพราะความเหลื่อมล้ำยังแผ่กระจายไประหว่างข้าราชการกับประชาชนด้วย”
“อาจารย์เดชรัตน์” ตีแผ่ข้อมูลความเหลื่อมล้ำระหว่างข้าราชการกับประชาชนได้อย่างชัดเจน โดยเปรียบเทียบสวัสดิการของฝั่งประชาชนและฝั่งข้าราชการ
งบประมาณฝั่งประชาชน

1.กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนประมาณ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณ 134,269 ล้านบาท
2.กองทุนประกันสังคม คิดเฉพาะส่วนที่รัฐบาลสมทบเข้ากองทุนทั้งในส่วนของสุขภาพและชราภาพ มีผู้ได้รับประโยชน์ ซึ่งก็คือผู้ประกันตน 14.5 ล้านคน ใช้งบประมาณ 47,011 ล้านบาท

3.เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีผู้ได้รับเบี้ยยังชีพประมาณ 9 ล้านคนใช้งบประมาณ 72,469 ล้านบาท
รวมฝั่งประชาชนจำนวน 53.5 ล้านคน (ผู้ใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกองทุนประกันสังคม) ใช้งบประมาณรวมกัน 249,359 ล้านบาท
งบประมาณฝั่งข้าราชการ

1.งบประมาณค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ (จากกรมบัญชีกลาง) มีผู้ได้รับประโยชน์คือข้าราชการและครอบครัวประมาณ 6 ล้านคน ใช้งบประมาณ 70,000 ล้านบาท
2.งบประมาณสมทบเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) รวมถึงเงินชดเชย สำหรับสมาชิก กบข. มีผู้ได้รับประโยชน์ 1 ล้านคน ใช้งบประมาณ 54,845 ล้านบา
3.งบประมาณเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญข้าราชการ ที่เป็นข้าราชการบำนาญจำนวน 7 แสนคน ใช้งบประมาณ 223,762 ล้านบาท

รวมฝั่งข้าราชการ ซึ่งมีผู้ได้รับประโยชน์รวมครอบครัวด้วยประมาณ 6 ล้านคน ใช้ประมาณ 348,607 ล้านบาท มากกว่าฝั่งประชาชนเกือบหนึ่งแสนล้านบาท
ถ้ารวมงบประมาณสวัสดิการทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกัน จะเท่ากับ 597,966 ล้านบาท หรือตัวเลขกลมๆ คือ 6 แสนล้านบาท

ซึ่งงบประมาณสวัสดิการของข้าราชการจะเท่ากับ ร้อยละ 58 ของงบประมาณสวัสดิการทั้งหมด (จากจำนวนผู้ได้รับประโยชน์ ไม่ถึงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ)
ส่วนงบประมาณสวัสดิการของประชาชนคิดเป็นร้อยละ 42 ของประมาณสวัสดิการทั้งหมด เท่านั้น ทั้งที่มีจำนวนผู้ที่ใช้บริการมากกว่าถึงเกือบ 9 เท่า
อาจารย์สรุปตัวเลขว่า “เราอยู่ในประเทศที่คนส่วนใหญ่ใช้งบสวัสดิการส่วนน้อยของประเทศ”

บ่อยครั้งผมเห็นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ออกอาการหงุดหงิดเวลาถูกถามเรื่องงบประมาณช่วยเหลือชาวบ้าน มักอ้างเสมอว่า ไม่มีเงิน จะเอาเงินมาจากไหน จะขึ้นภาษีก็ทำไม่ได้

ผมเห็นข้อมูลนี้แล้วตกใจ เพราะผมก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในฝั่งคนส่วนใหญ่ในประเทศ 53.3 ล้านคน ที่ได้รับสวัสดิการด้อยกว่าคนส่วนน้อย 6 ล้านคนที่ได้รับการดูแลอย่างเต็มที่
หากคำพูดที่บอกว่า “ผู้นำมาจากคนกลุ่มใด ผลประโยชน์ย่อมตกอยู่กับบุคคลกลุ่มนั้น”

สงสัยกุมภาพันธ์ปีหน้าประชาชนต้องออกไปเรียกร้องคืนความเป็นธรรมให้ตัวเองกันบ้างแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image