บัลลังก์อำนาจ ‘มาร์ค อภิสิทธิ์’ ชี้ทิศการเมืองหลังเลือกตั้ง 62

แฟ้มภาพ

แม้การเลือกตั้งเหมือนจะยังอยู่ห่างไกล แต่สำหรับพรรคการเมืองที่ปิดเทอมการเมืองมา 5 ปี ศึกนี้ประมาทไม่ได้

โดยเฉพาะประชาธิปัตย์ ที่แม้จะมีภูมิคุ้มกัน ทำให้คลาดแคล้วคดีความการเมืองมาตลอด แต่ผลสำเร็จทางการเมืองเป็นอีกเรื่อง

หลังจากพรรคไทยรักไทยถือกำเนิดและชนะเลือกตั้งทันทีในปี 2544 ปชป.ก็ผูกปีแพ้พรรคนี้มาตลอด

หลังจากแพ้พรรคไทยรักไทย นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง นายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองหัวหน้าพรรค ได้รับเลือกให้ขึ้นแทน

Advertisement

แต่ในการเลือกตั้งปี 2548 พรรคไทยรักไทยชนะอย่างท่วมท้นอีก นายบัญญัติ แสดงสปิริตลาออก

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคปชป.คนที่ 7 ในวันที่ 5 มี.ค. 2548

นายอภิสิทธิ์ เกิด 3 สิงหาคม 2507 เข้าสู่การเมืองจากการเป็นส.ส.กรุงเทพ ฯ ในปี 2535 อายุเพียง 27 ปี ใช้เวลาในพรรคเพียง 13 ปี ก็ขึ้นถึงเก้าอี้ผู้นำพรรค หลังจากนายอภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค การเมืองเข้าสู่ช่วงวิกฤตรุนแรงขึ่นเรื่อยๆ และพรรคประชาธิปัตย์มีบทบาทอย่างสูงในวิกฤตที่เกิดขึ้น

Advertisement

หลังจากชนะเลือกตั้ง 2548 อย่างถล่มทลาย รัฐบาลไทยรักไทยเผชิญปัญหาการเมืองหลายระลอกถาโถมเข้ามา เหตุการณ์ต่างๆในช่วงนี้ มีรายละเอียดมากมาย สะท้อนความขัดแย้งในการเมืองที่ลึกซึ้ง เกี่ยวพันหลายฝ่าย

กระทั่ง 24 ก.พ. 2549 นายทักษิณ ชินวัตร นายกฯขณะนั้น ประกาศยุบสภาฯ จัดเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เม.ย.2549

ฝ่ายค้าน ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายอภิสิทธิ์ พรรคชาติไทยและพรรคมหาชน คว่ำบาตรการเลือกตั้ง

ผลเลือกตั้งในครั้งนั้น ไทยรักไทยได้ที่นั่งในสภา 460 ที่นั่ง ด้วยคะแนนเสียง 56% อย่างไรก็ตาม ผู้ลงสมัครไทยรักไทยใน 38 จว.ภาคใต้ ได้คะแนนเสียงไม่ถึง 20% ของผู้มีสิทธิ์

ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งชะลอผลเลือกตั้ง และจัดเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 23 เม.ย.

วันที่ 8 พ.ค. 2549 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 8-6 เสียง ให้เพิกถอนการเลือกตั้งและจัดการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ ในเดือนต.ค. 2549

เหตุการณ์ลุกลาม ไปหลายแง่หลายมุม กลุุ่มสนับสนุนนายทักษิณออกมาเคลื่อนไหว กระทั่งเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549

ปี 2550 ตุลาการรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไทยรักไทย จากข้อหาจ้างพรรคเล็กลงสมัครเพื่อหนีเกณฑ์ต้องได้เสียงเกิน 20 % หากเขตนั้นไม่มีผู้สมัครแข่ง

และสั่งยกคำร้อง กรณีกล่าวหาพรรคปชป. จ้างคนลงสมัครส.ส.โดยอ้างว่าไทยรักไทยจ้างลงสมัคร

คณะรัฐประหาร 2549 ร่างรัฐธรรมนูญ และคืนอำนาจจัดเลือกตั้งปลายปี 2550 ผลคือพรรคพลังประชาชน นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช ได้ชัยชนะเหนือพรรคปชป.ที่มีนายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าอย่างท่วมท้น

นายสมัครได้เป็นนายกฯ แต่ต้องพ้นตำแหน่ง หลังจากเจอข้อหารับจ้างทำกับข้าว นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้เป็นนายกฯแทน

ท่ามกลางการชุมนุมประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ยึดทำเนียบและปิดสนามบิน

วันที่ 2 ธ.ค. 2551 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชนและพรรคอื่นอีก 2 พรรค สั่งถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค จากข้อหากรรมการบริหารทุจริตเลือกตั้ง

เกิดการพลิกขั้วการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดรัฐบาล นายอภิสิทธิ์เป็น นายกรัฐมนตรีคนที่ 27

ในตำแหน่งนายกฯ ระหว่างปี 2551-2554 นายอภิสิทธิเผชิญมรสุมการเมือง โดยเฉพาะจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯของนายอภิสิทธิ์ว่าไม่มีความชอบธรรม ซึ่งมีทั้งประชาชนทั่วไปและกลุ่มสนับสนุนพรรคพลังประชาชน

เกิดการชุมนุมประท้วงโดยกลุ่มที่ต่อมาคือ นปช.หรือคนเสื้อแดง ในปี 2552 และ 2553 ครั้งหลังมีผู้เสียชีวิต 99 -100 ศพ บาดเจ็บกว่าสองพันคน

ภายหลังเหตุการณ์ยุติ นายอภิสิทธิ์ยุบสภา ให้เลือกตั้งในเดือนก.ค.2554 และพ่ายแพ้ต่อพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกฯคนที่ 28 และนายกฯหญิงคนแรก

พรรคปชป.ในฐานะฝ่ายค้าน เปิดฉากวิพากษ์วิจารณ์บทบาทการทำงานของนายกฯหญิงอย่างดุเดือด ตั้งแต่วิกฤตแรกๆ คือกรณีน้ำท่วมใหญ่

เกิดการโต้แย้งปะทะในสภาฯ ระหว่างพรรครัฐบาลกับฝ่ายค้านในเรื่องต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

กระทั่งพรรคเพื่อไทยเสนอกม.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง พรรคปชป.ก็เข้าร่วมการชุมนุมของกปปส. ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำพรรคปชป.

เมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ยุบสภา พรรคปชป.ก็ไม่ส่งผู้สมัครในการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557

ก่อนจะเกิดรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 22 พ.ค. 2557

เวลาผ่านไป 4 ปีเศษ บัดนี้จะเข้าสู่การเลือกตั้ง ในเดือนก.พ.2562 สภาพของปชป. ถือว่าบอบช้ำพอสมควร

บทบาทของปชป.ในการชัตดาวน์ร่วมกับกปปส. ทำให้ปิดฉากระบอบประชาธิปไตย ก็เป็นประเด็นหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง นายอภิสิทธิ์ออกมาวิจารณ์ทหารมากขึ้น ประกาศไม่เอานายกฯคนนอก

ทำให้ถูกกลุ่มอำนาจที่เคยเห็นปชป.เป็นพันธมิตร เริ่มไม่พอใจ

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เคยสนับสนุนนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯและประกาศว่าจะไม่เล่นการเมือง ได้กลับมามีส่วนในตั้งพรรครวมพลังประชาชาติ มีแนวทางสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ

สมาชิกปชป.บางส่วนถูกดึงออกไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์

สถานะหัวหน้าพรรคของนายอภิสิทธิ์ถูกท้าทายอย่างแหลมคม

ก่อนที่เจ้าตัวออกมาประกาศว่า จะแก้ข้อบังคับพรรค จัดซาวเสียงสมาชิกพรรค เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคปชป.คนใหม่

ทันทีที่นายอภิสิทธิ์ประกาศ ก็มีเสียงขานรับ และมีข่าวว่ามีผู้สนใจเป็น “แคนดิเดต” อย่างน้อย 2 คน

คือ นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตส.ส.เพชรบุรี ที่ออกจากพรรคมาทำงานใกล้ชิดคสช.

และ น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ผู้ขุดคุ้ยคดีจำนำข้าว ซึ่งว่ากันว่าได้รับการสนับสนุนจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

**************

สำหรับข้อกฎหมาย พ.ร.บ. พรรคการเมือง กำหนดให้การเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค กระทำโดยที่ประชุมใหญ่ ประกอบด้วย อดีต สส.และสมาชิกพรรค ไม่น้อยกว่า 250 คน

แต่ปชป.จะแก้ไขระเบียบพรรค ให้สมาชิกพรรคทั้งหมด ทั้งสมาชิกที่มายืนยันความเป็นสมาชิกก่อนวันที่ 30 เม.ย. 2561 กลุ่มนี้มีประมาณ 8 หมื่นคน

กลุ่มต่อมาคืออดีตสมาชิกเกือบ 2 ล้านคน ที่ไม่ได้ยืนยันความเป็นสมาชิก แต่ประสงค์จะลงโหวต สามารถลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิ

ส่วนการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค จะใช้รูปแบบออกเสียงผ่านแอพพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือ หนึ่งคนมีสิทธิออกเสียงแค่หนึ่งครั้ง

ผลการหยั่งเสียงไม่ผูกมัดที่ประชุมใหญ่ ที่ประชุมใหญ่ 250 คน จะไม่เอาก็ได้ เพราะในกฎหมายบัญญัติชัดเจนว่าคนที่จะเลือกหัวหน้าพรรคได้คือที่ประชุมใหญ่เท่านั้น แต่จะมีขึ้น เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่เห็นภาพว่า เสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกต้องการใครเป็นหัวหน้าพรรค

ส่วนกรณีคนนอกมาสมัคร อย่างนายอลงกรณ์ หากไม่ใช่อดีตสมาชิกพรรค ต้องมีอดีต สส.รับรอง 40 คน และสมาชิกพรรคภาคละ 1,000 คน

แต่ถ้ายังเป็นสมาชิกพรรค ใช้อดีต สส.รับรอง 20 คน และสมาชิกภาคละ 500 คน

วันที่ 24 ก.ย.นี้ ปชป.จะประชุมใหญ่ วาระสำคัญคือ เห็นชอบการแก้ไขข้อบังคับพรรค จากนั้นจะเริ่มต้นกระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคต่อไป

************

ถือเป็นศึกใหญ่ของนายอภิสิทธิ์ แม้แคนดิเดตแต่ละคน จะมีชื่อชั้นห่างกันมาก แต่แบ็กอัพของแต่ละคนไม่ธรรมดา

แต่แนวโน้มยังเชื่อกันว่า นายอภิสิทธิ์ยังคงได้เปรียบแคนดิเดตอื่นๆอยู่ ด้วยฐานแกนนำพรรคที่มีบารมีเข้มข้น อาทิ นายชวน หลีกภัย ให้การสนับสนุนอยู่

หรือแม้แต่กลุ่มเพื่อนนร.อังกฤษ อย่างนายกรณ์ จาติกวนิช ก็ยังยืนยันจะผลักดันนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯอีกครั้ง

จึงน่าจะคัมแบ๊กกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคได้อีกครั้ง

แต่ในเกมช่วงชิงอำนาจระดับชาติที่ซับซ้อน ก็ยังประมาทไม่ได้อีกเหมือนกัน

ปัญหาเก้าอี้หัวหน้าพรรคปชป. จะบ่งบอกว่าการเมืองหลังเลือกตั้งปี 2562 จะเขยื้อนขยายไปในทิศทางใด

**********

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image